“...เราจะต้องเลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ และแม้ว่าเราจะอุทธรณ์ไม่ได้ แต่เราไปดูว่าจะมีอะไรคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐได้บ้าง เดี๋ยวเราจะไปหารือกับอัยการว่า เราจะคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐในช่วงเวลานี้ได้หรือไม่ อย่างไร...”
......................................
แจ้ง ‘เลื่อน’ การลงนามสัญญาฯเป็น ‘ครั้งที่สอง’ แล้ว
สำหรับโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ระหว่าง กรมธนารักษ์ และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด หลังจากเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ‘ทุเลาการบังคับ’ การดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564
ซึ่งมีผลเป็นการ ‘ระงับ’ การดำเนินการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (อ่านประกอบ : ยกเลิกรอบสอง! ‘ธนารักษ์’เลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC หลัง‘ศาลปค.’สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปคำร้องของคู่กรณีในคดีนี้ และคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ก่อนที่ศาลฯจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ย้อนที่มาคดี ‘อีสท์วอเตอร์’ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ‘บอร์ดคัดเลือกฯ’
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์) ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และมีหนังสือเชิญผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ
แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดหาให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก) ยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และยกเลิกกระบวนการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 9 ส.ค.2564 และออกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564
ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศเชิญชวนฯฉบับใหม่ (ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564) พบว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการสำคัญหลายประการ และมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติให้ด้อยลงกว่าเดิม
นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ได้เสนอผลการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 ที่ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) เป็นผู้ชนะการคัดเลือก ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ)
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมาก ให้ความเห็นชอบในการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) เคยมีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 ให้ชะลอโครงการที่พิพาทเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน
ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอร์เตอร์) จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ดังนี้
1.เพิกถอนมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
2.เพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 พร้อมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุน และการดำเนินการคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ตามประกาศดังกล่าว
3.ให้เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) ซึ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และที่ 2 (กรมธนารักษ์) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565
4.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 หยุดการกระทำละเมิด โดยให้งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
@เปิดคำร้อง‘อีสท์วอร์เตอร์’ ขอ‘ศาลปค.’ สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ
ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยังขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ดังนี้
1.ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) หยุดการดำเนินการลงนามในสัญญากับผู้ร้องสอดในวันที่ 3 ส.ค.2565 ทั้งนี้ เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อน
2.ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 หยุดการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 หรือประกาศเชิญชวนเอกชน ครั้งที่ 2 ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) อ้างว่า ได้ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงนามในหนังสือที่ กค 0310/9014 ลงวันที่ 26 ก.ค.2565 เรื่อง การลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก แจ้งให้ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) เข้ามาลงนามในสัญญาโครงการพิพาทฯ
โดยกำหนดให้ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาในวันลงนาม ดังนี้ 1.ชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงิน 580 ล้านบาท 2.ชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (Fixed Fee) ปีที่ 1 เป็นเงิน 44.64 ล้านบาท และ 3.วางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นเงิน 118.48 ล้านบาท
@อ้าง‘วงษ์สยามฯ’จ่าย‘ค่าแรกเข้า’ 580 ล้าน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ยินยอมและไม่ทักท้วงจนจะทำให้มีการลงนามในสัญญาระหว่าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) กับผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ในวันที่ 3 ส.ค.2565
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ยื่นข้อเสนอ ‘ค่าแรกเข้า’ เพื่อทำสัญญาเป็นเงิน 1,450 ล้านบาท มาตั้งแต่ต้น แต่ในการลงนามสัญญาวันที่ 3 ส.ค.2565 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) กลับกำหนดให้ผู้ร้องสอดจ่ายเงินค่าแรกเข้าทำสัญญา เป็นเงินจำนวนเพียง 580 ล้านบาท
ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 และยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น
เพราะการที่ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ได้รับการประเมินคะแนนสูงสุดจนได้รับคัดเลือก และมีการเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาฯ เป็นผลมาจากการที่ผู้ร้องสอดเสนอจะชำระเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาทั้งหมดในวันลงนามทำสัญญา เป็นเงิน 1,450 ล้านบาท มิใช่การแบ่งชำระเป็นงวด
อีกทั้งการที่ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ไม่ต้องชำระค่าแรกเข้าจำนวน 1,450 ล้านบาท ทั้งหมดเต็มจำนวนในวันลงนามสัญญาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 และข้อเสนอของผู้ร้องสอดตั้งแต่ต้นเอง
ย่อมเท่ากับว่า ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาซึ่งผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ต้องชำระในวันลงนามตามสัญญาตามเงื่อนไขที่เอกสารคัดเลือกครั้งใหม่กำหนดไว้ มีจำนวนเหลือเพียง 580 ล้านบาท เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อนำจำนวนค่าแรกเข้าดังกล่าวที่ผู้ร้องสอดชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ในวันทำสัญญา มาใช้เป็นฐานในการคิดคำนวณ ณ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของข้อเสนอค่าแรกเข้าและส่วนแบ่งรายได้สามสิบปีของผู้ร้องสอดแล้ว จะคิดคำนวณได้เพียงจำนวน 10,901.2 ล้านบาท เท่านั้น มิใช่ 11,771.2 ล้านบาท ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และที่ 2 (กรมธนารักษ์) ได้เคยประเมินและคิดคำนวณได้เดิม
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าจำนวนเงินที่คิดคำนวณ ณ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของข้อเสนอค่าแรกเข้าและส่วนแบ่งรายได้สามสิบปีของผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) จะน้อยกว่าของผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ที่คิดคำนวณ ณ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของข้อเสนอค่าแรกเข้าและส่วนแบ่งรายได้สามสิบปี จำนวน 11,106.66 ล้านบาท อีกด้วย
ดังนั้น กรณีจึงต้องมีการทบทวนการประเมินให้คะแนนใหม่ โดยบริษัทผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) จะได้คะแนนข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงิน 80 คะแนน ส่วนบริษัทผู้ร้องสอด (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) จะได้คะแนนในส่วนนี้จำนวน 78.52 คะแนน
เมื่อรวมกับคะแนนข้อเสนอราคาน้ำดิบต่อหน่วย โดยเฉลี่ยที่จะจำหน่ายตลอดอายุสัญญา (20 คะแนน) ซึ่งผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดได้ คะแนนเท่ากันที่ 20 คะแนนแล้ว นั้น ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) จะได้คะแนนรวมซองที่ 3 จำนวน 100 คะแนนส่วนผู้ร้องสอดได้คะแนนรวม 98.52 คะแนน ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เป็นผู้ชนะการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่
ดังนั้น กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 หยุดการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเข้าลงนามในสัญญาวันที่ 3 ส.ค.2565 นี้ ไว้ก่อน เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้
@‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ให้จ่าย ‘เงินค่าแรกเข้า’ 580 ล้าน ขัดทีโออาร์
ศาลฯได้ตรวจพิจารณาคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและคำขอให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการเร่งด่วน ลงวันที่ 1 ส.ค.2565 ตลอดจนพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนคดี รวมทั้งได้พิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญประกอบแล้ว
กรณีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า มีเหตุที่ศาลจำต้องมีคำสั่งทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564
ซึ่งมีผลเป็นการให้ระงับการดำเนินการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นการฉุกเฉินตามข้อ 72/1 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 หรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ครั้งที่ 2) ข้อ 5.3 ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนและข้อเสนอราคาจำหน่ายน้ำดิบต่อหน่วย
ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องยื่นข้อเสนอประกอบด้วยรายการเอกสารตามแบบในเอกสารแนบ 3 ดังต่อไปนี้
(1) ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา ที่จะต้องชำระในวันที่ลงนามในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตามแบบที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบ 3 ข้อ 1 โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 482.71 ล้านบาท
โดยกรณีนี้ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ได้จัดทำเอกสารแนบ 3 ลงวันที่ 28 ก.ย.2564 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนและข้อเสนอราคาจำหน่ายน้ำดิบต่อหน่วย โดยเสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาฯเป็นเงินจำนวน 1,450 ล้านบาท
จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศเชิญชวนฯ เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และข้อ 26 วรรคหนึ่ง (3) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564
ดังนั้น ในวันที่มีการลงนามในสัญญาผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) จะต้องชำระเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 1,450 ล้านบาท
และถึงแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) จะมีการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 ที่มีมติว่า เห็นชอบการเจรจาเงื่อนไขสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีวันลงนามในสัญญาและวันส่งมอบทรัพย์สินเป็นวันเดียวกัน บริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐ เป็นเงินจำนวน 1,450 ล้านบาท ในวันลงนามในสัญญา
2.กรณีวันส่งมอบทรัพย์สินเป็นวันภายหลังจากวันลงนามในสัญญา บริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐตามข้อ 1 เป็น 2 งวด คือ งวดที่ 1 บริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐร้อยละ 4 ของค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงิน 580 ล้านบาท ในวันลงนามในสัญญา และงวดที่ 2 บริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐร้อยละ 60 ของคำแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงิน 870 ล้านบาท ในวันส่งมอบทรัพย์สิน ก็ตาม
กรณีนี้ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญแตกต่างไปจากข้อกำหนดในประกาศเชิญชวนฯ ครั้งที่ 2 และไม่เป็นไปตามที่ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ได้จัดทำเอกสารแนบ 3 ลงวันที่ 28 ก.ย.2564 ซึ่งเสนอจ่ายค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาฯ เป็นเงินจำนวน 1,450 ล้านบาท
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) มีมติให้ผู้ร้องสอดชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวดดังกล่าว มีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้ฟ้องคดีและเอกชนรายอื่นซึ่งเป็นผู้เข้ายื่นข้อเสนอการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพิพาทอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากเอกสารสำหรับการคัดเลือกฯ ครั้งที่ 2 ข้อ 6.3.2 การพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงิน (80 คะแนน) ในซองที่ 3 (ข้อเสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น (100 คะแนน)
กำหนดว่า ในซองที่ 3 คณะกรรมการคัดเลือกฯจะพิจารณาจากผลตอบแทนทางการเงิน โดยนำข้อเสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาตามข้อ 5.3 (1) และส่วนแบ่งรายได้รายปีตามข้อ 5.3 (3) มารวมกันเพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาเป็นตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) โดยใช้อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 5
เพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาให้คะแนนโดยแปลงเป็นคะแนนร้อยละ (80 คะแนน) โดยแปลงมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ที่มีมูลค่าสูงสุดได้ 80 คะแนน และมูลค่าปัจจุบันลำดับรองลงมา จะได้คะแนนตามสัตส่วนโดยใช้หลักบัญญัติไตรยางค์
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) กำหนดให้ผู้ร้องสอด(วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ชำระเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาในวันที่ 3 ส.ค.2565 เป็นเงินจำนวน 580 ล้านบาท
จึงไม่เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศเชิญชวนฯ ครั้งที่ 2 และไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564
นอกจากนั้นแล้ว ยังทำให้การคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันของข้อเสนอค่าแรกเข้า และส่วนแบ่งรายได้สามสิบปีคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ได้คิดคำนวณไว้ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการที่จะพิจารณาว่าเอกชนรายใดเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคะแนนรวมสูงสุด เป็นผู้ใด้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าลงนามในสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
กรณีจึงเห็นได้ว่า มีความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564
หากยังคงให้มีการลงนามในสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีที่กับผู้ร้องสอดในวันที่ 3 ส.ค.2565 ต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขแก่ผู้ฟ้องคดีในภายหลัง
เนื่องจาก หากต่อมาภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 ก็จะมีผลกระทบไปถึงการบริหารจัดการโครงการพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบางส่วน อันได้แก่ระบบท่อน้ำ ซึ่งอาจต้องมีการโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคตามโครงการพิพาท
@คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ
นอกจากนั้นแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัจจุบันผู้ฟ้องคดียังคงดำเนินการกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ในโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งผู้ถูกพีองคดีที่ 2 ได้ส่งมอบทรัพย์สินและเข้าทำสัญญากับผู้ฟ้องคดี โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
และในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) บริหารในวันที่ 30 ต.ค.2540 และวันที่ 9 ต.ค.2541 ตามลำดับ
ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยังคงดำเนินการบริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อยู่เพื่อให้บริการสาธารณะต่อประชาชนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ก็ยังมีการเลื่อนการลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ร้องสอด (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) มาแล้ว
กรณีจึงเห็นได้ว่า หากศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ
และโดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือที่ กค 0310/9014 ลงวันที่ 26 ก.ค.2565 แจ้งผู้ร้องสอด (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) กำหนดให้มีการลงนามในสัญญาโครงการพิพาทในวันที่ 3 ส.ค.2565 เวลา 10.00 น.
ในชั้นนี้กรณีจึงมีเหตุที่ศาลจำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วนตามคำขอของผู้ฟ้องคดีตามข้อ 72/1 แห่งระเบียบของที่ประขุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
“จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งมีผลเป็นการให้ระงับการดำเนินการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565
เป็นการฉุกเฉินตามข้อ 72/1แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือมีคำสั่งขี้ขาดคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” คำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ลงวันที่ 2 ส.ค.2565 ระบุ
@‘ธนารักษ์’ เตรียมหารือ ‘อัยการ’ หาแนวทางคุ้มครองประโยชน์รัฐ
ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ในคำสั่งศาลฯมีหมายเหตุว่า ห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์ฯ จึงต้องมาพิจารณาในข้อกฎหมายว่า เราจะมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง เช่น อาจมีการไปยื่นคำร้องว่า เมื่อศาลฯมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯอีสท์วอเตอร์แล้ว เราก็อาจจะต้องขอให้ศาลฯมีคำสั่งคุ้มครองฯกรมธนารักษ์ด้วย โดยเฉพาะในประเด็นผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับจากการลงนามในสัญญา
“การลงนามล่าช้า ทำให้ผลประโยชน์ไม่เข้ารัฐ เราก็อาจจะขอ แต่คงต้องมาดูอีกว่าจะได้ทำหรือไม่” ประภาศ กล่าว และว่า “เราจะต้องเลื่อนการลงนามในสัญญาฯออกไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ และแม้ว่าเราจะอุทธรณ์ไม่ได้ แต่เราไปดูว่าจะมีอะไรคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐได้บ้าง เดี๋ยวเราจะไปหารือกับอัยการว่า เราจะคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐในช่วงเวลานี้ได้หรือไม่ อย่างไร”
(ประภาศ คงเอียด)
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า กรณีที่กรมธนารักษ์กำหนดให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ จ่ายเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา 580 ล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ นั้น ประภาศ ระบุว่า ในทีโออาร์กำหนดว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเสนอค่าแรกเข้าไม่น้อยกว่า 482 ล้านบาท เมื่อมีการกำหนดให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ จ่ายเงินค่าแรกเข้าฯงวดแรก 580 ล้านบาท จึงไม่ได้ขัดต่อทีโออาร์แต่อย่างใด
ประภาศ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติให้แบ่งจ่ายค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็น 2 งวด ว่า เนื่องจากว่า สัญญาฯจะมีผลบังคับในวันที่มีการส่งมอบทรัพย์สิน แต่เมื่อในวันที่มีการลงนามในสัญญาฯ กรมธนารักษ์ยังส่งมอบทรัพย์สินให้คู่สัญญาไม่ได้ และคู่สัญญายังเข้าบริหารโครงการฯไม่ได้ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงกำหนดให้แบ่งจ่ายค่าแรกเข้าเป็น 2 งวด
“ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เมื่อเขาจ่ายเต็มแล้ว แต่เราส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้ เขาก็เสียหาย เขาก็มีสิทธิ์ฟ้องเรา และเรื่องนี้เราได้หารือกับอัยการ ซึ่งอัยการมองว่า ถ้าเซ็นสัญญาไปแล้ว แต่ส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้ เราจะเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างนี้ และที่เราให้เขาจ่าย 580 ล้านบาท ก็ไม่ได้ขัดทีโออาร์ โดยเรามองเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และมองในแง่ที่ว่าไม่ให้เราถูกฟ้อง เพราะส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้” ประภาศ ระบุ
ประภาศ ระบุด้วยว่า การพิจารณาของศาลปกครองกลางในคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ ดังกล่าว ไม่มีการเรียกคู่ความอีกฝ่ายเข้าไปฟังหรือชี้แจง เพราะเป็นการไต่สวนฯฉุกเฉินฝ่ายเดียว และเป็นดุลพินิจของศาลฯที่ทำได้อยู่แล้ว
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยล่าสุดของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ในคดีพิพาทโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก และต้องติดตามกันต่อไปว่า การลงนามสัญญาโครงการฯกับ ‘เอกชนรายใหม่’ จะได้ข้อสรุปอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ยกเลิกรอบสอง! ‘ธนารักษ์’เลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC หลัง‘ศาลปค.’สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ
ผลสอบฯชี้ไม่มีอะไรผิดกม.! ‘ธนารักษ์’ยันเดินหน้าเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้
'ยุทธพงศ์' เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิด รมว.-รมช.คลัง ประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC ไม่เป็นธรรม
‘กรมธนารักษ์’แจ้ง‘วงษ์สยามฯ’เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้ พร้อมวางเงิน 743 ล.
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘ยุทธพงศ์’ อัดท่อส่งน้ำอีอีซี เอื้อเอกชน ‘สันติ’ โต้ทำตามผลศึกษา-คำสั่งศาล
‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ยื่นหนังสือร้อง‘บิ๊กตู่’ ขอให้สั่งการเร่งรัดเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
เปิดงบ ‘วงษ์สยามฯ’ พบปี 64 กำไร 289 ล้าน โตพุ่ง 517% ก่อนจี้รัฐเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
ผลสอบ'ท่อส่งน้ำอีอีซี'เบื้องต้นไม่พบผิดปกติ'สันติ'ย้ำไม่มีใครสั่ง'คลัง'ให้เซ็นสัญญาได้
งบประมาณ 2566 : 'สันติ'แจงไทม์ไลน์ประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี นายกฯสั่งสอบให้หายเคลือบแคลง
‘ธนารักษ์’ขีดเส้นตาย‘อีสท์วอเตอร์’ส่งแผนคืน‘ทรัพย์สิน’ท่อส่งน้ำ EEC ภายใน 15 มิ.ย.นี้
‘วงษ์สยามฯ’ จี้ ‘รมว.คลัง’ เร่งรัดเซ็นสัญญาท่อน้ำ EEC ล่าช้ารัฐเสียหาย 41 ล./เดือน
‘ธนารักษ์’ส่งเอกสารให้ DSI สอบ‘อีสท์วอเตอร์’ ส่อเลี่ยงภาษี-ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
‘รมว.คลัง’ เซ็นคำสั่งตั้ง ‘วิจักษณ์’ นั่งประธานสอบข้อเท็จจริงฯ ประมูลท่อส่งน้ำ EEC
DSI สอบ‘อีสท์วอเตอร์’ส่อเลี่ยงภาษีท่อส่งน้ำ-‘ธนารักษ์’แจ้งความขัดขวางตรวจทรัพย์สิน
เงินหล่นหาย! โครงการประมูลระบบท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล้าน