‘ยุทธพงศ์ เพื่อไทย’ อภิปราย ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ปมท่อส่งน้ำอีอีซี ซัดเลิกประมูลรอบแรก ไม่ชอบมาพากล หลังอีสวอเตอร์คว้างาน กังขาประมูลรอบ 2 แก้เกณฑ์เอื้อ ‘วงษ์สยาม’ ทั้งๆที่ประสบการณ์ความน่าเชื่อถือมีไม่เท่า ด้าน ‘สันติ’ ลุกแจงทำตามผลการศึกษา ยกศาลปกครองปัดตกคุ้มครองชั่วคราว ก่อนโต้กลับ อมอีสวอเตอร์มาอภิปรายหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565
เวลาประมาณ 12.00 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยกล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า เมื่อปี 2535 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดตั้ง บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสวอเตอร์) มาบริหารระบบท่อส่งน้ำหลักในภาคตะวันออก โดย กปภ.ถือหุ้น 40% และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถือหุ้นที่ 4.57% และกรมธนารักษ์ได้นำระบบท่อส่งน้ำจำนวน 3 โครงการมาให้บริหาร ประกอบด้วย
1.ท่อส่งน้ำดอกกราย
2.ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ
และ 3. ท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบังระยะที่ 2
โดยระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก จะต้องอาศัยเครือข่ายท่อส่งน้ำของอีสวอเตอร์ในการจ่ายน้ำให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพราะของกรมธนารักษ์มีเพียง 135.9 กม. แต่ของอีสวอเตอร์รวมๆกันมีทั้งสิ้น 355.9 กม. รวมทั้งหมดอยู่ที่ 492 กม.
ต่อมาการบริหารจัดการระบบหลังสัญญาเดิมสิ้นสุด โดยกรมธนารักษ์จ้างม.เกษตรศาสตร์ศึกษาความเหมาะสม ซึ่งผลการศึกษาระบุว่าให้รวมสัญญาการบริหารทุกท่อส่งน้ำเป็นโครงการเดียว ไม่ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะโครงการมูลค่าไม่ถึง 5,000 ล้านบาท และไม่ต้องเปิดประมูลทั่วไป ให้คัดเลือกแทน
กังขาล้มประมูลรอบแรก
นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 11 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการที่ราชพัสดุที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารโครงการท่อส่งน้ำทั้ง 3 สัญญาไม่เป็นสัญญาเดียว สัญญาไม่เป็นสัญญาเดียวและ สัญญาไม่เป็นสัญญาเดียวและให้คัดเลือกเอกชนโดยไม่ต้องเปิดประมูลทั่วไป โดยอ้างว่าเพื่อให้การบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกทำได้ต่อไป
การกระทำในลักษณะนี้เป็นการหนี พ.ร.บ. ร่วมทุนทำให้รัฐเสียหาย , มีการทุจริตเพื่อประโยชน์ให้เอกชน, ล้มเหลวทำให้ได้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพในการบริหารโครงการและสุดท้ายทำให้ประชาชนเดือดร้อนจ่ายค่าน้ำแพง และทำลาย EEC
ทั้งนี้ จุดบกพร่องในการศึกษาของ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นการคำนวณเฉพาะท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์ จึงได้มูลค่าโครงการเพียง 2800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้รวมท่อส่งน้ำของอีสท์วอเตอร์มาด้วย เป็นการหนีพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามกฎหมายพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 โครงการสาธารณูปโภคที่มีมูลค่าเกิน 5,000 บาทหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหากรวมท่อส่งน้ำของอีสวอเตอร์ มูลค่าของโครงการน่าจะเกิน 5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือก 2534 กำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีการเปิดประมูลทั่วไปก่อน หากทำไม่ได้จึงจะใช้วิธีคัดเลือก และหากคัดเลือกไม่ได้อีกถึงจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจง และตามกฎกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ 2564 ข้อ 24 ระบุว่า การคัดเลือกเอกชนต้องใช้วิธีประมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นสมควรให้ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามข้อ 33 ซึ่งนายสันติ ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นนี้
สำนักงานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน แต่นายอาคมมอบอำนาจให้นายสันติทำหน้าที่ประธานแทน กรรมการประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมโยธาธิการ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมธนารักษ์เป็นเลขาฯ และมีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการร่วม
ดังนั้น การคัดเลือกเอกชนจึงไม่โปร่งใส ไม่สุจริตมีการจัดฉากล้มการคัดเลือกเพื่อประโยชน์เอกชนบางราย โดยการคัดเลือกเอกชน กรมธนารักษ์ปกปิดไม่ให้ข้อมูลอย่างทั่วถึง เชิญเอกชนเพียง 5 รายมาฟัง Market Sounding คือ อีสวอเตอร์, บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น, บมจ.ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น และ การประปาส่วนภูมิภาค และที่สำคัญคือ การไม่ยอมเชิญเอกชนรายอื่นที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมาร่วมรับฟังความเห็นด้วย เช่น บจ.อควาไทย ของเครืออิตาเลี่ยนไทย หรือบมจ. ทีทีดับบิวของเครือ ช.การช่าง
ต่อมาเดือนก.ค. 2564 กรมธนารักษ์เชิญเอกชน 3 รายคือ อีสวอเตอร์, อมตะและ ดับบลิวเอชเอ มายื่นข้อเสนอ และเปิดให้ บจ.วงษ์สยามก่อสร้างและบจ.วิค เข้ามาร่วมยื่นข้อเสนอ ทั้งที่ไม่เคยร่วมรับฟังในรอบแรก โดยในการคัดเลือกรอบแรก มีเกณฑ์สำคัญคือการนำซองเทคนิค (ซองที่ 2) คะแนนเต็ม 100 คะแนน และซองราคา (ซองที่ 3) คะแนนเต็ม 100 คะแนน ใครได้คะแนนรวมมากที่สุดก็ชนะไป
ซึ่งผลการคัดเลือกรอบแรก วันที่ 9 ส.ค. 2564 มีเอกชน 3 รายยื่นซองคือ อีสวอเตอร์, วิค และวงษ์สยาม สุดท้ายวันที่ 13 ส.ค. 2564 คณะกรรมการตัดสินให้อีสวอเตอร์ชนะการคัดเลือกไปในคะแนน 173 คะแนน แต่ต่อมามีการยกเลิกผลการคัดเลือกในวันที่ 24 ส.ค. 2564 เพราะอ้างว่าเกณฑ์พิจารณาข้างต้นไม่ชัดเจน ทำให้อีสวอเตอร์ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งคดีความยังอยู่ในชั้นศาลปกครอง
ตั้งคำถามประมูลรอบ 2 แก้เกณฑ์เอื้อใคร
ถัดมาวันที่ 8 ก.ย. 2564 มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกใหม่ยกชุด เหลือนายยุทธนา หยิมการุณ เป็นประธานคนเดียว นอกนั้นเปลี่ยนใหม่หมด วันที่ 10 ก.ย. 2564 ออกประกาศเชิญชวนรอบ 2 พร้อมปรับเปลี่ยน TOR ในบางเงื่อนไข เช่น ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา, ปรับลดทุนจดทะเบียนผู้ยื่นข้อเสนอจาก 500 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาท, ปรับลดหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจาก 800 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาท, เปลี่ยนข้อกำหนดทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ จาก ‘นิติบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจและหรือบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ’ เป็น ‘นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ’
และพบว่ามีการปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาของข้อเสนอใหม่โดยจากเดิมเป็นระบบให้คะแนน ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ ‘ผ่านกับไม่ผ่าน’ แต่ให้ซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองเสนอราคา ยังคงใช้ระบบให้คะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกที่ต้องการผู้รับจ้างที่มีศักยภาพ เพราะตัดเรื่องของการนำข้อเสนอทางเทคนิคมาพิจารณาด้วย
28 ก.ย. 2564 เปิดให้ยื่นซองข้อเสนอ ซึ่งมีเอกชน 3 รายยื่นข้อเสนอคือ อีสวอเตอร์, วิค และวงษ์สยาม และวันที่ 30 ก.ย. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาให้ วงษ์สยามชนะในการคัดเลือกครั้งนี้ไปด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน เมื่อวงษ์สยามชนะโครงการ
นอกจากนั้น เมื่อมีการทำสัญญาก็เจรจากัน โดยผิดเงื่อนไข TOR อีก เพราะใน TOR ระบุว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องชำระค่าแรกเข้าทั้งหมดในวันลงนามในสัญญา แต่ค่าแรกเข้าที่วงษ์สยามเสนอมา 1,450 ล้านบาท กลับมีการแบ่งจ่าย 2 งวด งวดแรก 580 ล้านบาท และงวดที่ 2 860 ล้านบาท จะจ่ายเมื่อมีการส่งมอบท่อส่งน้ำทั้งหมดแล้ว ถือว่าเอื้อเอกชน
ประมูลยึดตามผลศึกษา ม.เกษตร
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ ชี้แจงการอภิปรายดังกล่าวว่า การเปิดประมูลทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา อีสวอเตอร์ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เป็นเอกชนโดยสมบูรณ์แล้ว ต้องแข่งขันตามปกติ ดังนั้น อีสวอเตอร์ที่มีสัญญากับกรมธนารักษ์ 3 ส่วน ส่วนแรกจะหมดอายุในปี 2567 อีก 2 ส่วนเป็นการเช่าไปพลางก่อน โดยจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเพียง 1-3% เท่านั้น
ดังนั้น ในส่วนของท่อที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2567 จึงเห็นว่าควรหาผู้เช่าบริหารไว้เลย หากทำกระชั้นชิดในปี 2566 เกรงว่าจะมีผลกระทบตามมามาก ประกอบกับกรมธนารักษ์ไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำ จึงได้จ้าง ม.เกษตรศาสตร์ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อทำ TOR ซึ่งได้ข้อสรุปผลการศึกษา 4 รูปแบบ โดยทางม.เกษตรศาสตร์แนะนำให้กรมธนารักษ์เลือกรูปแบบการหาเอกชนแบบยกเว้นการประมูล ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย 3 รายแล้วกำหนดเงื่อนไขในการเจรจาที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างเอกชน ซึ่งกรมธนารักษ์ก็เห็นชอบด้วย และขออนุมัติดำเนินการตามแนวทางนี้
ล้มรอบแรก เพราะปริมาณน้ำใน TOR ไม่ชัด
ส่วนการยื่นเสนอโครงการ มีผู้ให้ความสนใจ 3 ราย จากที่จัด Market Sounding มีเอกชนเข้ารับฟัง 5 ราย ตามที่นายยุทธพงศ์อ้าง ส่วนที่เอกชน 2 รายคือ วงษ์สยามและวิค ที่ไม่เคยเข้า Market Sounding แล้วเข้ามายื่นข้อเสนอนั้น ก็แสดงว่ากรมธนารักษ์และคณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้ปิดกั้นการแข่งขันเลย รวมแล้วมี 7 รายที่ให้ความสนใจ ส่วนเหตุที่กัลฟ์ไม่ผ่านก็เพราะไม่เคยมีประสบการณ์บริหารจัดการน้ำ ขณะที่กปภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ เข้ามาแข่งขันไม่ได้
สำหรับการเปิดประมูลครั้งแรก มี 3 บริษัท เสนอโครงการ ได้แก่ อีสวอเตอร์และวงษ์สยาม พบว่าวงษ์สยามเสนอส่วนแบ่งรายได้มากกว่า เมื่อคำนวณตามผลการศึกษาของ ม.เกษตรศาสตร์ แต่เนื่องจาก TOR ที่ระบุถึงปริมาณน้ำไม่สมบูรณ์ จึงไม่อาจตัดสินหาผู้ชนะในโครงการได้ ซึ่งตามผลการศึกษาระบุว่า แต่ต้องมีประสิทธิภาพในการส่งน้ำสูงสุด 150-160 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เมื่อ TOR ไม่ได้ระบุปริมาณน้ำชัดเจนตามผลการศึกษา คณะกรรมการคัดเลือกจึงชี้ขาดไม่ได้ เพราะหากให้ใครชนะไป ปริมาณน้ำไม่เท่ากัน อาจจะเกิดความไม่โปร่งใสได้ คณะกรรมการคัดเลือกจึงพิจารณายกเลิกการยื่นข้อเสนอรอบแรก และเชิญบริษัททั้ง 5 มายื่นข้อเสนออีกครั้ง
ยกศาลปัดตกคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนการที่อีสวอเตอร์ไปยื่นศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า TOR ระบุในข้อที่ 8.1 และ 8.2 กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกสงวนสิทธิ์ยกเลิกการประมูลได้ หากมีเหตุตามที่กำหนด ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป จึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนและการออกประกาศเชิญชวนครั้งใหม่เมื่อ 10 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นมูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ มีผลเพียงทำให้อีสวอเตอร์ยื่นข้อเสนอใหม่ ไม่ได้ตัดสิทธิ์อีสวอเตอร์ในฐานะผู้ฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี
คณะกรรมการคัดเลือกจึงได้ดำเนินการต่อ ไม่ได้ระงับการหาเอกชน และทั้ง 5 รายก็มีสิทธิ์ยื่นซองเสนอราคา อีสวอเตอร์เองก็เข้าแข่งขันด้วย โดยมีผู้ยื่นซองทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ อีสวอเตอร์, วงษ์สยาม และวิค โดยในครั้งนี้ได้ระบุตัวเลขปริมาณน้ำที่ 151-356.47 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งสุดท้ายผู้ชนะโครงการคือ วงษ์สยามก่อสร้าง เพราะเสนอผลตอบแทนสูงสุดที่ 27% หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท มากกว่าที่อีสวอเตอร์เสนอผลตอบแทนมาที่ประมาณ 24,000 ล้านบาท ดังนั้น ที่บอกว่ากรมธนารักษ์ ตน หรือคณะกรรมการคัดเลือกไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ จึงเป็นไปไม่ได้
หยันกลับอภิปรายเพื่ออีสวอเตอร์?
“ขอกราบเรียนไปถึงนายยุทธพงศ์ผ่านท่านประธาน (สุชาติ ตันเจริญ) ท่านบอกว่าผมหรือกระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐนั้น 30 ปี ที่ผ่านมาอีสวอเตอร์ให้ผลตอบแทน 30 ปี ยังไม่ถึง 600 ล้านบาทเลย แทนที่จะไปคิดไปพูดปราศรัยไม่ไว้วางใจตนว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ท่านลองไปคิดดูว่า ที่ท่านพูดโน้มเอียงไปยังอีสวอเตอร์ ท่านรักษาผลประโยชน์หรือไม่ 30 ปีที่ผ่านมา เขาจ่าย 600 ล้านเศษ แต่ 30 ปีจากนี้ไป เขาจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐถึง 25,000 ล้านบาท แล้วท่านพยายามกดดันให้มีการยกเลิกเพื่อประมูลใหม่ ผมถามว่าหากให้มีการประมูลใหม่ แล้วมีการยื่นข้อเสนอใหม่โดยได้ผลตอบแทนเพียง 9,000 ล้านบาทเหมือนประมูลรอบแรก ใครจะรับผิดชอบกับเงินของรัฐที่หายไป” นายสันติกล่าวในช่วงท้าย