‘อธิบดีกรมธนารักษ์’ ยืนยันเดินหน้าลงนามสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC กับ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ วันที่ 3 ส.ค.นี้ หลังผลสอบข้อเท็จจริงฯระบุ ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ขณะที่ ‘อีสท์วอเตอร์’ แจงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐกว่า 3 หมื่นล้าน
.....................................
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยยืนยันว่า ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ กรมธนารักษ์ จะลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการฯ และขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้กรมธนารักษ์ต้องเลื่อนหรือชะลอการลงนามสัญญาโครงการฯนี้ ออกไป
“ยังไม่มีคำสั่งให้เลื่อนอะไรออกมา และขณะนี้ก็ไม่มีเหตุอะไรให้เลื่อน” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ ยังกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่มีข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักฯ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุให้ความเห็นชอบแล้ว กรมธนารักษ์มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการลงนามในสัญญาฯ
“ถามว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้ชะลอได้ อันแรก คือ คำสั่งศาลฯ (ศาลปกครอง) แต่ที่ผ่านมาศาลฯมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวฯมา 3 ครั้งแล้ว อันที่สอง มีคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย อาจเป็นคำสั่งนายกฯ รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอ ซึ่งอันนั้นก็สุดแท้แต่ เหมือนการให้ชะลอในคราวที่แล้ว ซึ่งท่านมีอำนาจสั่งได้” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ ระบุด้วยว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกที่มี นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รับทราบแล้ว ซึ่งในประเด็นการตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คณะกรรมการตรวจสอบฯ ระบุว่า ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย
“คณะกรรมการฯตรวจสอบเสร็จแล้ว และรายงานให้ รมว.คลัง ทราบ ซึ่งพบว่าไม่มีอะไรผิด ผมจึงนัดให้เอกชนมาลงนาม แต่เกิดว่าคณะกรรมการฯเขาสรุปว่า มีอะไรที่ไม่ถูกต้องอยู่ แล้วเราไปลงนามสัญญา อันนั้นมีปัญหาแน่ แต่นี่ไม่มี ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการฯที่ไปสอบเพิ่มเติม เช่น ที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการลักลอบตัดท่อน้ำ ก็ต้องสอบสวนในคดีอาญาต่อไป หรือเรื่องนำส่งรายได้ว่าถูกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของอีสท์วอร์เตอร์ ไม่ได้เกี่ยวกับคู่สัญญารายใหม่” นายประภาศ ระบุ
นายประภาศ กล่าวถึงกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ว่า เรื่องนี้เคยมีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบมาแล้วในช่วงปลายปี 2564 และเมื่อมีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบอีก ตนก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน
“เรื่องการตรวจสอบโครงการท่อส่งน้ำฯ ของ ป.ป.ช. นั้น เคยมีการยื่นร้องมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตอนนั้นนายศรีสุวรรณ (จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย) ไปยื่นไว้ตั้งแต่ตอนที่ผมมารับตำแหน่งใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งขณะนี้ทาง ป.ป.ช. ก็กำลังไต่สวนฯและตรวจสอบอยู่ และก็ยังไม่มีอะไร ส่วนเรา (กรมธนารักษ์) เองก็ไปชี้แจง และส่งเอกสารชี้แจงต่างๆไปให้ ป.ป.ช.แล้ว” นายประภาศ ระบุ
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาอธิบดีกรมธนารักษ์ ทำหนังสือแจ้งให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้าลงมาลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 3 ส.ค.2565 เวลา 10.00 น. โดยในการลงนามสัญญาบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกดังกล่าว บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต้องชำระเงินตามเงื่อนไขของสัญญาในวันลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าว ดังนี้
1.ชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงินจำนวน 580,000,000 บาท (ห้าร้อยแปดสิบล้านบาทถ้วน)
2.ชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (Fixed Fee) ปีที่ 1 เป็นเงิน 44,644,356 บาท (สี่สิบสี่ล้านหกแสนสี่หมื่นสี่พันสามร้อยห้าสิบหกบาทถ้วน) มาชำระให้กรมธนารักษ์ในวันลงนามในสัญญาเช่าโครงการดังกล่าว
3.วางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นเงินจำนวน 118,479,500 บาท (หนึ่งร้อยสิบแปดล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน)
@‘อีสท์วอเตอร์’แจงปมท่อส่งน้ำ EEC-ยัน 30 ปีให้ผลตอบแทนรัฐ 3 หมื่นล.
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า วันเดียวกัน บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ชี้แจงผ่านสื่อหลายสำนัก กรณีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่มีการระบุว่า การดำเนินโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์ ได้ให้ผลตอบแทน 30 ปีกับรัฐบาล ไม่ถึง 600 ล้านบาท
โดยนายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์วอเตอร์ ระบุว่า อีสท์วอเตอร์ ได้จ่ายค่าตอบแทน (ค่าเช่าท่อ) ตามสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ให้กับกรมธนารักษ์ ตามสัญญาตั้งแต่ปี 2537-2564 ทั้งสิ้น 588.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2536 ที่ระบุอัตราค่าเช่าท่อไว้ที่ปีละ 2 ล้านบาท หรือปีใดหากมียอดขายน้ำดิบเกินกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ให้จ่ายเพิ่ม 1% ของยอดขายน้ำดิบ และตั้งแต่ปี 2558 บริษัท ได้มีการปรับอัตราชั่วคราวจาก 3% เป็น 7%
สำหรับผลตอบแทนที่อีสท์วอเตอร์ให้แก่ภาครัฐ นอกเหนือจากการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปี ให้แก่กรมธนารักษ์ มาตั้งแต่ปี 2537-2564 รวม 588 ล้านบาท แล้ว อีสท์ วอเตอร์ ยังมีการจัดสรรกำไรในแต่ละปี โดยได้จัดสรรเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ ซึ่งถือหุ้นอยู่ในอีสท์วอเตอร์ 45% เป็นเงินรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้ถือหุ้นภาครัฐ 3,060 ล้านบาท
และลงทุนแทนภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ครม. 22,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปหลังจากจัดสรรปันผลแล้ว จะสะสมเป็นกำไรสะสมในงบการเงิน ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 6,800 ล้านบาท
@แจงกำหนดค่าน้ำในพื้นที่อีอีซีไม่เกิน ‘ลบ.ม.’ ละ 11 บาท
ส่วนการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำดิบ เป็นการกำหนดที่สะท้อนต้นทุนและได้กำไรที่เหมาะสมต่อความสามารถในการนำไปใช้ในการลงทุนได้ต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีแรก อัตราค่าน้ำดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปีที่ 11-20 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 8.5 บาทต่อ ลบ.ม. และในปีที่ 21-30 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาทต่อลบ.ม. ดังนั้น ในส่วนของการเก็บค่าน้ำดิบชัดเจนว่าราคาสูงสุดเฉลี่ยไม่เกิน 11 บาทต่อ ลบ.ม. ไม่ใช่ ลบ.ม.ละ 12 บาท และสูงสุด ลบ.ม.ละ 26 บาท อย่างที่มีการกล่าวอ้างกันในสภาแต่อย่างใด
นายเชิดชาย ย้ำว่า ในส่วนของการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐ บริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยจ่ายค่าเช่าบริหารท่อในอัตราที่เป็นไปตามสัญญา ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด หรือกรณีเส้นท่อที่ไม่มีสัญญาก็ได้จ่ายในอัตราชั่วคราว ตามที่ตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย การชำระค่าเช่าบริหารท่อในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2537-2564 เป็นไปตามสัญญาและตามเงื่อนไขของกรมธนารักษ์ โดยรายได้ที่นำมาคำนวณผลตอบแทนนั้นถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ เป็นไปตามงบการเงินซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้บัญชีที่น่าเชื่อถือ
นายเชิดชาย ชี้แจงกรณีที่กรมธนารักษ์ แจ้งให้อีสท์วอเตอร์ อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ในการลงพื้นที่รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ในวันที่ 21-22 เม.ย.2565 ว่า อีสท์วอเตอร์ ไม่ได้ขัดขวางการเข้าพื้นที่แต่อย่างใด แต่เนื่องจากบริษัทได้รับหนังสือจากกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ในการมอบหมายพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการเตรียมข้อมูลและสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ แก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบริษัทต้องปฎิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตามแนวทางของราชการในพื้นที่ปฎิบัติการอย่างเคร่งครัด
ดังนั้น อีสท์วอเตอร์ จึงขอให้กรมธนารักษ์ เลื่อนวันที่จะลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ออกไปก่อน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายบริษัทก็จะจัดเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานที่ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์
@พร้อมให้ข้อมูล DSI สอบกรณีการเลี่ยงภาษี-ลักลอบเชื่อมท่อน้ำดิบ
นายเชิดชาย ระบุว่า ที่ผ่านมาอีสท์วอเตอร์ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เช่น กรณีที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอข้อมูลเอกสารการสืบสวนและส่งเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจพื้นที่ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนว่าบริษัทอาจมีการลักลอบเชื่อมต่อท่อส่งน้ำดิบ ระหว่างสายหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 1) เข้ากับท่อส่งน้ำดิบ สายหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อาจมีการเสียภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอให้บริษัทจัดส่งเจ้าหน้าที่และส่งมอบหลักฐานไปให้ เรื่องนี้บริษัทยินดีให้ความแก่เจ้าหน้าที่ โดยได้มอบผู้แทนเข้าให้ข้อมูลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอมานั้น ทางบริษัทได้ส่งเอกสารสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ได้จำหน่าย และรายได้จากการจำหน่ายน้ำดิบจากท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 1 และท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน และเอกสารทางการเงินของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี
ดังนั้น กรณีที่มีการกล่าวหาอีสท์วอเตอร์ ในเรื่องต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อการดำเนินงานของบริษัท ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดหาส่งน้ำให้พื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และจ.ฉะเชิงเทรา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสูบจ่ายน้ำให้ลูกค้าในแนวท่อ ที่บริษัทบริหารอยู่ทั้งหมด ดำเนินการในลักษณะองค์รวม Water Grid โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า
ทั้งในแง่ของเสถียรภาพการสูบจ่าย และปริมาณน้ำที่ต้องเพียงพอแก่ลูกค้าตลอดทั้งปี เป็นพันธกิจที่สอดคล้องกับมติครม. ที่จัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก เน้นการบริหารงานเพื่อสาธารณประโยชน์ของพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นสำคัญ
รวมถึงการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำให้กับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันที โดยบูรณาการภาพรวมการส่งการจ่าย ผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำ ขนาดใหญ่ มีการเชื่อมโยงเส้นท่อทั้งของกรมธนารักษ์ที่มีอยู่เดิม และที่บริษัทสร้างใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงคงด้านผู้ใช้น้ำให้กับผู้ใช้นำที่เป็นลูกค้าของบริษัทเป็นหลัก
อ่านประกอบ :
'ยุทธพงศ์' เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิด รมว.-รมช.คลัง ประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC ไม่เป็นธรรม
‘กรมธนารักษ์’แจ้ง‘วงษ์สยามฯ’เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้ พร้อมวางเงิน 743 ล.
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘ยุทธพงศ์’ อัดท่อส่งน้ำอีอีซี เอื้อเอกชน ‘สันติ’ โต้ทำตามผลศึกษา-คำสั่งศาล
‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ยื่นหนังสือร้อง‘บิ๊กตู่’ ขอให้สั่งการเร่งรัดเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
เปิดงบ ‘วงษ์สยามฯ’ พบปี 64 กำไร 289 ล้าน โตพุ่ง 517% ก่อนจี้รัฐเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
ผลสอบ'ท่อส่งน้ำอีอีซี'เบื้องต้นไม่พบผิดปกติ'สันติ'ย้ำไม่มีใครสั่ง'คลัง'ให้เซ็นสัญญาได้
งบประมาณ 2566 : 'สันติ'แจงไทม์ไลน์ประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี นายกฯสั่งสอบให้หายเคลือบแคลง
‘ธนารักษ์’ขีดเส้นตาย‘อีสท์วอเตอร์’ส่งแผนคืน‘ทรัพย์สิน’ท่อส่งน้ำ EEC ภายใน 15 มิ.ย.นี้
‘วงษ์สยามฯ’ จี้ ‘รมว.คลัง’ เร่งรัดเซ็นสัญญาท่อน้ำ EEC ล่าช้ารัฐเสียหาย 41 ล./เดือน
‘ธนารักษ์’ส่งเอกสารให้ DSI สอบ‘อีสท์วอเตอร์’ ส่อเลี่ยงภาษี-ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
‘รมว.คลัง’ เซ็นคำสั่งตั้ง ‘วิจักษณ์’ นั่งประธานสอบข้อเท็จจริงฯ ประมูลท่อส่งน้ำ EEC
DSI สอบ‘อีสท์วอเตอร์’ส่อเลี่ยงภาษีท่อส่งน้ำ-‘ธนารักษ์’แจ้งความขัดขวางตรวจทรัพย์สิน
เงินหล่นหาย! โครงการประมูลระบบท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล้าน