ธปท.เผยผลสำรวจฯ พบแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน มี.ค. ลดลง เหตุกำลังซื้ออ่อนแอ-ราคาสินค้าแพง ขณะที่ผลสำรวจ BSI เดือน มี.ค. ระบุธุรกิจโดยรวมดีขึ้น แต่มองกำลังซื้อที่อ่อนแอ-การแพร่ระบาด Omicron เป็นอุปสรรคการฟื้นตัว
...................................
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน มี.ค.2565 ว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 หลังโครงการ ‘ช้อปดีมีคืน’ หมดลง ขณะที่การแพร่ระบาดสายพันธุ์ Omicron ที่เร่งขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนก่อน แนวโน้มต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังซื้อที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นฯอีก 3 เดือนข้างหน้าให้ปรับลดลง
“ความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามความกังวลด้านราคาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าต่อจากโครงการช้อปดีมีคืน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้ำ ยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในระยะต่อไป” ผลสำรวจของ ธปท.ระบุ
นอกจากนี้ ธปท.ได้สำรวจในประเด็น ‘การประเมินกำลังซื้อและประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการค้า’ โดยพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่หมดลง และประเมินว่าสถานการณ์จะปรับแย่ลงอีก จากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าพื้นฐานหลายหมวดปรับแพงขึ้น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีโปรโมชั่นและเลือกสินค้าที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์เล็กลง
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังเผยแพร่ผลสำรวจ เรื่อง ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI) เดือน มี.ค.2565 โดยระบุว่า ในเดือน มี.ค. ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากภาคที่มิใช่การผลิต โดยเฉพาะภาคบริการ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของระดับการจ้างงาน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ส่วนการฟื้นตัวของภาคการผลิตปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะธุรกิจผลิตอาหาร เหล็ก เครื่องจักร และกระดาษ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกระทบต้นทุนการผลิต ประกอบกับปัญหาการขนส่งที่ยังไม่คลี่คลาย
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจมีมุมมองต่อการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ล่าช้ากว่าการสำรวจรอบก่อน โดยภาคการผลิตส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับสู่ระดับเดิมได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เร็วกว่าภาคที่มิใช่การผลิตที่คาดว่าจะกลับมาได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อย่างไรก็ดี กำลังซื้อที่อ่อนแอ และการแพร่ระบาดในประเทศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัว แต่ธุรกิจกว่าครึ่งเห็นว่าผลกระทบจากการระบาดสายพันธุ์ Omicron น้อยกว่าระลอก Delta
ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงไตรมาสก่อน แต่มีบางธุรกิจที่มีสัดส่วนสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนเพิ่มขึ้น อาทิ ผลิตเหล็ก ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และค้าปลีกยานยนต์ จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ขณะที่การสต็อกวัตถุดิบคงคลังเพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ จากสถานการณ์การปิดโรงงานของคู่ค้าที่ทยอยคลี่คลายจากไตรมาสก่อน และราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผลิตเครื่องจักร ผลิตเหล็ก และการค้า มีสัดส่วนของธุรกิจที่มีวัตถุดิบคงคลังสำรองน้อยกว่า 1 เดือนเพิ่มขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ
สำหรับจำนวนและรายได้เฉลี่ยของแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างไรก็ตาม ธุรกิจเริ่มมีการกลับมาใช้นโยบายให้สลับกันมาทำงาน ใช้วันลาประจำปี และลดชั่วโมงทำงาน คาดว่าเกิดจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์ Omicron ที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจบางส่วนมีการใช้ Leave without pay เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตยานยนต์ ที่การผลิตลดลงตามการขาดแคลนชิ้นส่วนในบางรุ่น และธุรกิจโรงแรมที่เริ่มเข้าสู่ Low season
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%