"...ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่ไม่ยังรู้ว่ายืดเยื้อไปถึงเท่าใด แต่หากมองในด้านบวกจะพบว่ารัฐบาลยังมีเม็ดเงินที่ไม่มี ‘ภาระผูกพัน’ ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท สำหรับใช้พยุงเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2564..."
...............
เริ่มต้นปี 2564 ด้วยความระทึกและท้าทาย
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน พร้อมๆกับทยอยการประกาศมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น การสั่งปิดบางสถานที่ และปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ‘รุนแรง’ เหมือนเช่นไตรมาส 2/2563 ที่รัฐบาลประกาศมาตรการ ‘ปิดเมือง’ แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าโควิด-19 รอบนี้ จะสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท (อ่านประกอบ : จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%)
เริ่มจากปลายเดือนธ.ค.2563 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาศูนย์ฯ ประเมินว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ลดลง 33.6% หรือเงินสะพัดจะลดลงมาอยู่ที่ 91,467 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 137,809 ล้านบาท
พร้อมประเมินว่า การใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.เป็นต้นมา คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเสียหาย 3-6 หมื่นล้านบาทในช่วง 1 เดือน แต่หากควบคุมการระบาดไม่ได้ ความเสียหายจะทะยานเป็น 6 หมื่นถึง 1.21 แสนล้านบาท
เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่า สถานการณ์ COVID-19 รอบใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดกุ้งในสมุทรสาคร จนกระทั่งมีการล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร และพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ จะทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสีย 4.5 หมื่นล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน
ที่สำคัญการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3/2563 เป็นต้นมา เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลง ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อีกครั้งช่วงต้นปีนี้
“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงต้องดู โดยเฉพาะมาตรการภาครัฐที่จะออกมา ซึ่งในการประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เราใส่เข้าไปในระดับหนึ่งแล้ว และความเสี่ยงที่เราให้ก็อยู่ในด้านต่ำค่อนข้างเยอะ วันนี้เหตุการณ์ยังไม่จบ เมื่อยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ติดตามความเสี่ยงสำคัญอีก 2 ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2564 ได้แก่ การใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดในต่างประเทศ เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและการส่งออกไทยในอนาคต และตลาดแรงงานของไทยที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและไม่ทั่วถึง (อ่านประกอบ : รอชัดเจนก่อนทบทวนจีดีพี! ธปท.ห่วงคนติดโควิดรอบใหม่สูงกว่าคาด-หวังรัฐคุมอยู่)
ในขณะที่เมื่อไม่กี่วันก่อนนั้น ธปท. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 จาก 3.6% เหลือ 3.2% เนื่องจากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยธปท.ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากเดิม 9 ล้านคน (อ่านประกอบ : พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%)
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 23 ธ.ค.2563)
ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีเคลื่อนไหวใดๆออกมา จนกว่าจะมีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาสในช่วงกลางเดือนก.พ.2564 แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า สภาพัฒน์อาจมีการทบทวนจีดีพีปี 2564 ใหม่ โดยปรับ 'ลดลง' จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.5-4.5% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว -6%
เพราะมีปัจจัยตัวแปรที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.5-4.5% นั่นก็คือ “การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองภายในประเทศ” นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความยืดเยื้อของการระบาดในประเทศสำคัญๆ และการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
“รัฐบาลต้องเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญๆควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความยืดเยื้อของการระบาดในประเทศสำคัญๆ และการกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก” รายงานภาวะเศรษฐกิจ สศช.เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563 ระบุ
เช่นเดียวกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 3.8% จากฐานปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ แต่หากมีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง จะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในด้านต่ำ
EIC ระบุด้วยว่า มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของรัฐบาล และการใช้จ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.เงินกู้ฯที่เหลืออีก 5 แสนล้านบาท จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2564 ได้ ขณะที่การส่งออกจะเติบโต 4.7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (อ่านประกอบ : ‘กสิกรฯ-อีไอซี’ มองเศรษฐกิจปีหน้าพลิกบวก แต่ยังไม่แน่นอน ห่วง 'บาทแข็งเร็ว-หนี้เสียเพิ่ม')
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สำนักวิจัยฯ ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 เหลือ 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1% เนื่องจากมีปัจจัยลบ 3 ปัจจัย ได้แก่
1.การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบกับการบริโภค การเดินทางและการใช้จ่ายของคน
2.ปัจจัยทางการเมืองที่อาจกลับขึ้นมามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้บริโภค
3.นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากความล่าช้าของการได้รับวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ
“ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ ส่วนภาพเดิมที่เรามองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวจากปัจจัยต่างประเทศ ภาพก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากการส่งออกสินค้าเป็นหลัก โดยอุปสงค์จากจีนและสหรัฐน่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกไทยปีหน้าขยายตัวได้ดีที่ระดับ 6%” อมรเทพกล่าว
อมรเทพ ยังประเมินว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสภาคองเกรส สหรัฐ และสงครามการค้าที่จะไม่ทวีความรุนแรงมากเดิม คือ ภาษีต่างๆน่าจะไม่มีการขยับขึ้นในปีนี้
“ปีนี้เราประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นจากภาคต่างประเทศ ซึ่งวันนี้สงครามการค้าไม่น่าจะทวีความรุนแรง แต่ถ้ามันกลับมารุนแรงเมื่อไหร่ จะยิ่งมีผลกระทบกับภาพการฟื้นตัวของไทยค่อนข้างแรง หรือแม้กระทั่งเงินร้อนที่เข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะจะกระทบกับขีดความสามารถการแข่งขันของเรา” อมรเทพกล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การใช้มาตรการการคลัง เช่น มาตรการประคองกำลังซื้อของประชาชน และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดสถานบริการ ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือเป็นเงินแล้ว จะต้องมีมาตรการด้านการจ้างงาน
และ2.มาตรการของธปท. เช่น การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลน และให้กระทรวงการคลังรับความเสี่ยงมากขึ้น เพราะปี 2564 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อให้เอสเอ็มอี และอยากเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5%
อมรเทพ ย้ำว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะอยู่เป็นรูปตัว ‘K’ เนื่องจากการเติบโตที่ไม่ทั่วถึง โดยตัว K ขาบนหรือขาที่จะฟื้นตัว จะอยู่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้า เชื่อมโยงกับซัพพลายเชนตลาดโลก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร ส่วน K ขาล่างที่ไม่ฟื้น คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่ไม่ยังรู้ว่ายืดเยื้อไปถึงเท่าใด แต่หากมองในด้านบวกจะพบว่ารัฐบาลยังมีเม็ดเงินที่ไม่มี ‘ภาระผูกพัน’ ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท สำหรับใช้พยุงเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2564 ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลมีงบเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธ.ค.2563 พบว่าเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯเหลืออยู่ 5.09 แสนล้านบาท รวมถึงยังมีงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีก 4.03 หมื่นล้านบาท และงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท
(ที่มา : กระทรวงการคลัง ข้อมูลการใช้จ่ายเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ ณ วันที่ 1 ธ.ค.2563)
เหล่านี้เป็นภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564 และคงต้องติดตามต่อไปว่าการแพร่ระบาดของโควิดที่ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจะควบคุมได้ง่าย จะทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องงัดมาตรการ ‘ขั้นสูงสุด’ มาใช้หรือไม่ รวมทั้งจะใช้กระสุนที่มีอยู่จำกัดในการพยุงเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร
เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ ‘ติดหล่มลึก’ จนเป็นวิกฤติที่ยากจะกอบกู้
อ่านประกอบ :
ชำแหละแผนคลัง 4 ปี! ภาระผูกพันเพียบ-ดบ.พุ่ง ขยับ 'เก็บภาษีคนเดินทางไปนอก'
ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/