‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 2.6% แต่ยังมีความไม่แน่นอน เหตุ ‘การกระจายวัคซีนต้องใช้เวลา-บาทแข็งเร็ว-การเมืองในประเทศถ่วง’ ขณะที่ ‘SCB EIC’ จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจ ห่วงหนี้เสียเพิ่มกระทบการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคเอกชน คาดจีดีพีปีหน้าโต 3.8%
...............
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง ‘เศรษฐกิจไทยปี 2564 ฟื้นตัว…บนความไม่แน่นอน’ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก 2.6% โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจไทยดังกล่าวอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก รวมถึงการใช้เวลากว่าปัจจัยเรื่องวัคซีนจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
2.ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โดยมีโอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29.0-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2564 ตามแรงหนุนของปัจจัยพื้นฐานเงินบาทจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงทิศทางผ่อนคลายทางการเงินอย่างมากของเฟด และ3.ปัจจัยการเมืองในประเทศ
บทวิเคราะห์ย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 และแม้ว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดจะคืบหน้าไปมาก แต่มีประเด็นเรื่องความเพียงพอของการกระจายวัคซีน ผลข้างเคียงวัคซีน และระยะเวลาในสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่งผลให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยทยอยทำได้อย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยศูนย์ฯคาดว่าปี 2564 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.5-7.0 ล้านคน
“กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ในช่วง 0.0-4.5% โดยหากการเข้าถึงวัคซีนดำเนินการได้เร็วกว่าที่ประเมิน ก็จะส่งผลดีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ GDP โน้มเข้าหากรอบบนของประมาณการ ขณะที่หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสรุนแรง อีกทั้งการพัฒนาและการเข้าถึงวัคซีนทำได้น้อยและล่าช้าออกไปกว่าปลายปี 2564 จะส่งผลให้ GDP เอียงเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
@รัฐตุนกระสุน 5 แสนล้านดูแลเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ส่วนฝั่งนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงประเมินสถานการณ์เป็นระยะ โดยหากปรากฏสัญญาณลบของการฟื้นตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ที่มีประสิทธิผลตรงจุดกว่า อาทิ Soft Loans และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย.
นอกจากนี้ อีกโจทย์สำคัญในภาคการเงิน คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่ มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง
“ท่ามกลางสถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ไทยยังแข็งแกร่ง โดยมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญฯ สูงกว่าเอ็นพีแอลถึง 1.4-1.5 เท่า อีกทั้งมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 สูงถึง 16-17% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำและประเทศพัฒนาแล้ว” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
@อุตฯท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากโควิดถึงปีหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2564 โดยระบุว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวกได้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในแต่ละอุตสาหกรรมยังมีโจทย์ท้าทาย ซึ่งมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวในช่วงถัดๆไป
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากโจทย์เฉพาะหน้าเรื่อง COVID-19 ซึ่งศูนย์ฯประเมินว่า ธุรกิจโรงแรมและที่พักในหลายพื้นที่ จะยังไม่สามารถมีรายได้หล่อเลี้ยงที่เพียงพอ อย่างไรก็ดี ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจง แม้อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมจากจำนวนกิจการที่มีมาก แต่คาดว่าจะช่วยประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย จะยังเผชิญความตึงตัวด้านสภาพคล่องอยู่บ้าง จากที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมที่มีปริมาณมากทำให้ยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ แต่ผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวไประดับหนึ่งแล้วและมีการสร้างรายได้ทางอื่นเพิ่มเติม สถานการณ์จึงไม่น่ากังวลนัก อย่างไรก็ดี ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป คงจะเป็นโจทย์ระยะกลางและระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการ
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แม้คงต้องใช้เวลาสำหรับการกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 เพราะขึ้นอยู่กับกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ แต่คาดว่าจะผ่านไปได้ ขณะที่การยกระดับไปสู่การผลิตรถยนต์แห่งอนาคต จะเป็นโจทย์ท้าทายในระยะกลางยาว ที่ยังต้องขึ้นอยู่กับการลงทุนหรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
@อีไอซีคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต 3.8%
ด้าน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ (SCB EIC) โดยนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.8% จากฐานที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) จะยังกดดันการฟื้นตัวอุปสงค์ภาคเอกชน
สำหรับเม็ดเงินภาครัฐ คาดว่าจะมีมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 9.8% และยังมีวงเงินเหลือจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ อีก 5 แสนล้านบาท ที่รัฐสามารถใช้ได้ในปี 2564 อีกทั้งการออกมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2 และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการ รวมถึงขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นสัญญาณว่ารัฐพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน
ส่วนภาคส่งออกของไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนที่สูงขึ้นของตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปีหน้า
ขณะที่การค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากหลายค่าย รวมทั้งการที่ไทยเป็นผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี โดย EIC คาดว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มต้นได้รับวัคซีนที่จองซื้อไว้ในช่วงกลางปีและจะมีการฉีดอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังของปี
ดังนั้น จึงคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวและประเทศปลายทางอย่างไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว โดย EIC คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะอยู่ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2562 ที่เกือบ 40 ล้านคนอยู่มาก
@ชี้ ‘3 แผลเป็น’ กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม EIC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากแผลเป็นเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง 2.การเปิด-ปิดกิจการที่ยังซบเซาต่อเนื่อง และ3.ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
“แผลเป็นทั้ง 3 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ทำให้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า แต่ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก และระดับ GDP ทั้งปีในปีหน้าก็จะยังต่ำกว่าระดับในปี 2562” EIC ระบุ
ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 รวมทั้งใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ในระยะต่อไป EIC คาดว่า ในด้านดอกเบี้ย ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 0.9%
ขณะที่จะมีการปรับเงื่อนไขของมาตรการ Soft loan และการใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย. เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการเพิ่มเติมและปรับกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ
@ประเมินบาทสิ้นปี 64 อยู่ที่ 29.5-30.5 บาทต่อดอลล์ฯ
EIC ประเมินทิศทางค่าเงินบาท โดยคาดว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนความขัดแย้งทางการค้าที่แม้จะดำเนินต่อไปแต่น่าจะลดความผันผวนลง และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ย คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2564 (คาด 3.0% ของ GDP)
นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังแข็งแกร่งจนทำให้เงินบาทถูกมองเป็นสกุลเงินในภูมิภาคที่ปลอดภัย รวมถึงพฤติกรรม home bias ของนักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อย ทั้งนี้มาตรการของ ธปท. ในการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกอาจไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงในระยะสั้นนัก เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องอาศัยการปฏิรูปเพื่อลดข้อจำกัดในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษี กฎเกณฑ์ของหน่วยงานอื่น ๆ การให้ความรู้แก่นักลงทุนรายย่อย และการยกระดับความสามารถของสถาบันตัวกลาง
@จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจ
EIC ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในด้านต่ำ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย 2.แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน
3.ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 4.ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ5.เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่งซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในระยะปานกลาง ต้องจับตาจำนวน Zombie Firm (ธุรกิจที่ขาดความสามารถในการทำกำไรเพื่อชำระดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤตในรอบนี้ จากการปรับตัวของธุรกิจที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่สามารถอยู่รอดได้จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การกระจายทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตภาพในการผลิตและศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง
อ่านประกอบ :
‘แบงก์ชาติ’ ยันดูแลค่าเงินใกล้ชิด หลัง ‘ดอลลาร์อ่อน’ กดดัน ‘บาท' แข็งสุดในรอบปี
อันดับ 2 ในภูมิภาค! พ.ย.เดือนเดียว 'บาท' แข็งค่า 2.9%-ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยต.ค.ทยอยฟื้น
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ทั้งนี้ EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวที่ -6.5% ดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -7.8% เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ดีกว่าคาดในช่วงไตรมาส 3/2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตรม การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่เริ่มมีขึ้นอีกครั้งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศในระยะสั้นได้