สศช.เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% จากผลกระทบ ‘โควิด-มาตรการปิดเมือง-สงครามการค้า-ภัยแล้ง’ แต่เป็นระดับการหดตัวน้อยกว่า 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' พร้อมหั่นจีดีพีทั้งปี 63 เป็นติดลบ 7.5% ขณะที่หนี้เสียภาคอุปโภคบริโภคพุ่ง 23% แตะระดับ 1.56 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 และแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี 63 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่เศรษฐกิจหดตัว 2% โดยมีสาเหตุจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก สงครามการค้า และสถานการณ์ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ที่หดตัว 12.2% นั้น เป็นระดับการหดตัวที่น้อยกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งในไตรมาส 2/41 เศรษฐกิจไทยหดตัวหนักสุดที่ 12.5% และเป็นระดับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ติดลบในระดับมากกว่า 10% จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ผลกระทบของโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง มีเพียงจีนที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัว 0.4%
“ถ้าเรามองย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40-41 เศรษฐกิจไทยติดลบหนักสุดในไตรมาส 2/41 โดยติดลบ 12.5% ส่วนซับไพร์มวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ติดลบ 4% กว่าๆ และวิกฤติน้ำท่วมก็ติดลบ 4% กว่าๆ จนกระทั่งมาถึงครั้งนี้เจอโควิด-19 เราติดลบ 12.2% ซึ่งยังน้อยกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง” นายทศพรกล่าว
นายทศพร ระบุด้วยว่า การอุปโภคบริโภคภาครัฐ และลงทุนภาครัฐ ยังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 และในช่วงที่ผ่านมาไม่ให้ทรุดตัวลงมากกว่านี้ ในขณะที่การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกพบว่าติดลบทุกตัว เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงทุกเซ็กเตอร์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อาหาร เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 สศช.คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.8% ถึงติดลบ 7.3% โดยมีค่ากลางที่ติดลบ 7.5% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบ 6% ถึงติดลบ 5% แต่ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายปัจจัย คือ ต้องไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองเพิ่มเติม สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต้องไม่นำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม และวิกฤตการณ์ในภาคผลิตต้องไม่ลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน เป็นต้น
นายทศพร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ เร่งรัดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายและเป็นไปตามปฏิทินเวลาที่กำหนดไว้ การดูแลปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ในภาคการผลิตบางเซ็กเตอร์ไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาคสถาบันเงิน การดูแลภาคธุรกิจที่ยังมีปัญหาในการฟื้นตัว เช่น ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงเร่งรัดการจ้างงาน
การขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยใช้จุดแข็งด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในการเอื้อประโยชน์ต่อภาคการส่งออก การดูแลสถานการณ์ภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนและงบรายจ่ายประจำของภาครัฐ และเบิกจ่ายงบเงินกู้ให้เป็นตามเป้าหมาย การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้มีการระบาดรอบ 2 และการดูแลรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพราะหากเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีกจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนี้
นายทศพร ยังแถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/63 ว่า จำนวนผู้มีงานทำในช่วงไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 37.1 ล้านคน ลดลง 7 แสนคน เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 ส่วนจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.95% ทั้งนี้ มีแรงงานในระบบตกงานแล้ว 4.2 แสนคน และอีก 1.76 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็นแรงงานในสถานประกอบการอยู่ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างในอนาคต หากธุรกิจไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ
“แรงงานในระบบตอนนี้ มีคนตกงานจริงๆอยู่ที่ 4.2 แสนคน และมีแรงงานที่ได้รับการเยียวยาจากเหตุสุดวิสัย เพราะสถานประกอบการไม่สามารถประกอบกิจการได้อีก 1.76 ล้านคน ซึ่งถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น มีการเปิดเมือง สถานประกอบการเปิดตัวได้ จำนวนก็จะลดลง แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น สถานประกอบการปิดตัว คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่างงานเพิ่มเติม” นายทศพรกล่าว
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1/63 พบว่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 80.1% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/59 ส่วนคุณภาพสินเชื่อพบว่ายอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 1/63 มีมูลค่า 1.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.23% เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 2.9% ในไตรมาสก่อน
“แนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนในไตรมาส 2/63 ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รวมถึงต้องเฝ้าระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดของโควิด”นายทศพรกล่าว
อ่านประกอบ :
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/