‘ธปท.’ เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 64 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อนปรับจีดีพี เผยเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ฟื้นต่อเนื่อง แต่ห่วงตลาดแรงงานเปราะบาง-ฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง
...................
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย.2563 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง และแม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะขยายตัวค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่อยากให้มองในแง่ดีเกินไป เพราะเป็นการขยายตัวจากฐานที่ต่ำ
ส่วนประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า และจะต้องติดตามต่อไปมี 3 ประเด็น ได้แก่
1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อ รวมแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จึงต้องติดตามดูลักษณะการกระจายของการติดเชื้อ ความรุนแรงของอาการ และการออกมาตรการของภาครัฐในการจำกัดการแพร่ระบาดว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูล google mobility data ของไทย พบว่าการเคลื่อนย้ายลดลงบ้าง แต่ไม่ลงไปลึกเท่ากับการระบาดรอบแรก
“หากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศรุนแรงมากขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค และกิจกรรมในภาคบริการ” น.ส.ชญาวดีกล่าว
2.การใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดในต่างประเทศ เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบว่าตั้งแต่เดือนธ.ค. เป็นต้นมา หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น จึงต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยหากผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า และการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า
3.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้ว่าตลาดแรงงานจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีเครื่องชี้หลายตัวที่สะท้อนว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีสัญญาณเปราะบางและไม่ทั่วถึง เห็นได้จากเดือนพ.ย.2563 ผู้ว่างงานลดลงเหลือ 7.8 แสนคน จากเดือนก่อน 8.1 แสนคน และผู้ขอรับสิทธิว่างงานลดลงเหลือ 4.9 แสนคน จากเดือนก่อน 4.7 แสนคน ซึ่งถือเป็นระดับการว่างงานที่ค่อนข้างสูงและลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เดือนพ.ย.2563 ยังอยู่ที่ 2.2 ล้านคน จาก 2.5 ล้านคนในเดือนก่อน โดยผู้เสมือนว่างงานในภาคเกษตรลดลง 3 แสนคน จากเดือนก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 1.6 ล้านคน แต่ผู้เสมือนว่างงานกลุ่มนอกภาคเกษตรยังอยู่ที่ 9 แสนคน ซึ่งเท่ากับเดือนก่อน และเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
น.ส.ชญาวดี ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในไทยระลอกใหม่ ต่อประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ว่า ธปท.ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประกอบกับมีปัจจัยติดตามหลายด้าน เช่น การพบผู้ป่วยใหม่ และมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาใช้ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่จบ จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
“ถามว่าประมาณการเดิมที่เราทำไว้ครอบคลุมหรือไม่ ก็พบว่าในแง่การระบาดตอนนี้ค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับวันที่เราประมาณการ คือ วันที่ 20 ธ.ค. ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงต้องดู โดยเฉพาะมาตรการภาครัฐที่จะออกมา ซึ่งในการประมาณการเศรษฐกิจปีหน้า เราใส่เข้าไปในระดับหนึ่งแล้ว และความเสี่ยงที่เราให้ก็อยู่ในด้านต่ำค่อนข้างเยอะ วันนี้เหตุการณ์ก็ยังไม่จบ เมื่อยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า หากภาครัฐมีมาตรการที่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และพฤติกรรมของประชาชนปรับเปลี่ยนได้ ทำให้การแพร่ระบาดไม่ได้ไปไกลนัก สถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ก็จะรุนแรงกว่าที่คาด แต่ในเบื้องต้นทุกอย่างยังอยู่ในกรอบที่ได้มีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกรอบตัวเลขที่ประเมินไว้นั้น ก็อยู่ในฐานที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิดรอบแรก เชื่อว่าน่าจะยังมีความทนทานและรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ได้ เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 11% ของจีดีพีนั้น ซึ่งตอนนี้นักท่องเที่ยวหายเป็นจำนวนมาก แต่เศรษฐกิจไทยหดตัวเพียง -6.6% สะท้อนถึงการทนทาน และการปรับตัวของตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ขณะที่ภาครัฐเองก็พยายามออกมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจ
“ผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ คงจะไม่เห็นผลในช่วงไตรมาส 4/2563 และในช่วงที่ผ่านมาเราทำได้ค่อนข้างดี ส่วนการประเมินความเสียหายคงต้องรอ พัฒนาการของการแพร่ระบาดก่อน จะได้ทราบทีเดียวเลย ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ” น.ส.ชญาวดีกล่าว
สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.2563 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในทุกหมวด สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทน
ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นมากจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวช้ากว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 2.3 โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน
สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการและฐานที่ต่ำในปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในเดือนนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 โดยเป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลงมากตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทย แต่ยังมีจำนวนไม่มาก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงานทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำในภาพรวมที่ทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง และยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น
อ่านประกอบ :
หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน! ธปท.รื้อนิยามคุณสมบัติ-ให้ยื่นกู้เพิ่มเป็น 2 ครั้ง
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/