ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำขอพิจารณาคดีพิพาท ‘โฮปเวลล์’ ใหม่ หลัง ‘ก.คมนาคม-รฟท.’ ยื่นอุทธรณ์ พร้อมระบุแม้มีหลักฐานว่า บ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทต่างด้าว ไช่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา (คดีโฮปเวลล์) กรณีสืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดและมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับคดีนี้ผู้ร้องทั้งสอง คือ กระทรวงคมนาคม และรฟท. อ้างในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า ศาลปกครองสูงสุดฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาท และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนั้น
ศาลปกครองสูงสุดกำหนดปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 68/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำ 119/2547 ต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 เป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว
ส่วนประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ โดยกำหนดปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทที่จะมีการชี้ขาด ซึ่งรวมถึงประเด็นขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยความเห็นชอบของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายแล้ว
คือ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านเสนอข้อเรียกร้องกำหนดประเด็นจำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) ผู้ร้องเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ (2) สิทธิเสนอข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ (3) สัญญาสัมปทานเลิกกันโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมาย (4) ผู้ร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด นั้น
เห็นว่า การกำหนดประเด็นแห่งคดีและปัญหาทั้งหลายที่ต้องวินิจฉัยอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดี ตลอดจนการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดประเด็นแห่งคดีและวินิจฉัยปัญหาตามรูปเรื่องข้อเท็จจริงแห่งคดี
ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แม้จะเป็นการแตกต่างไปจากความเห็นของผู้ร้องทั้งสอง แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้น กลายเป็นการดำเนินกระบวนพิจรณาที่มีข้อบกพร่องสำคัญอันทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ข้ออ้างข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดี ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม นั้น
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินการในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงและได้ชี้แจงโต้แย้งแล้ว คดีจึงมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีต่อไปได้
เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดี ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ดุลพินิจเห็นว่า ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะส่งสำนวนคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีต่อไปได้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองแล้ว
ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ส่งสำนวนคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี จึงมิใช่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาอันจะถือว่าเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรมตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด ข้ออ้างข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ตามทะเบียนเลขที่ 3165/2533 ทำให้ผู้ร้องทั้งสองเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้คัดค้านมีความสามารถที่จะดำเนินงานและประกอบกิจการภายได้สัญญาสัมปทานได้
แต่กลับพบว่ามีพยานหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องความสามารถของผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญาว่า เป็นการดำเนินการของบุคคลต่างด้าวที่ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 เนื่องจากการจดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าวของผู้คัดค้านเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง โดยคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีมติให้ผู้คัดค้านได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281
และแม้ผู้คัดค้านจะได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกบธุรกิจประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชี ค.ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 แต่ผู้คัดค้านก็ได้เข้าประกอบกิจการก่อนที่จะได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (ในขณะนั้น) จึงเป็นความผิดตามข้อ 26 ประกอบข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 โดยผู้ร้องทั้งสองเพิ่งทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ภายหลังจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ‘กรณีโฮปเวลล์’ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2562 นั้น
เห็นว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถของผู้คัดค้านตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลหรือการเข้าประกอบกิจการก่อนที่จะได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (ในขณะนั้น) จะเป็นจริงดั่งที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม
แต่โดยที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถของผู้คัดค้านทั้งสองกรณีดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ตั้งแต่ในขณะเข้าทำสัญญา โดยหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้คัดค้านเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งทุกคนสามารถขอเข้าตรวจสอบจากทางราชการได้ และหนังสือรับรองดังกล่าวก็จะต้องยื่นประกอบการลงนามในสัญญา
ประกอบกับผู้ร้องทั้งสองเองได้บรรยายคำฟ้องว่า คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้ผู้ร้องที่ 2 มีอำนาจลงนามในสัญญาร่วมกับผู้ร้องที่ 1 และให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เข้าดำเนินการก่อสร้างตลอดจนให้พัฒนาที่ดินของผู้ร้องที่ 2 ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ความดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองทราบดีว่า ผู้คัดค้านมีบริษัทเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองเกี่ยวกับความสามารถของผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 นั้น
เห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้ร้องที่ 1 เป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในคณะรัฐมนตรี ย่อมต้องรู้ว่าผู้คัดค้านได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะรัฐมนตรี ประกอบกับผู้ร้องทั้งสองเอง ก็ได้ยอมรับในคำขอพิจารณาคดีใหม่ว่า ผู้คัดค้านได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกอบธุรกิจประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชี ค. ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 และกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบกิจการตามที่ลงนามในสัญญาจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อน อันเป็นบทบัญญัติข้อกฎหมาย
ซึ่งผู้ร้องทั้งสองมิอาจปฏิเสธการไม่รู้ได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงควรต้องตรวจสอบเรื่องความสามารถของคู่สัญญาก่อนลงนามในสัญญา อีกทั้งร่างสัญญานี้จะต้องผ่านการตรวจจากกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุด) ก่อนลงนาม ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้ลงนามในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ย่อมจะต้องตรวจสอบและต้องรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง
การที่ผู้ร้องทั้งสองไม่ตรวจสอบถึงความมีอยู่ของข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งไม่เคยยกข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ขึ้นต่อสู้มาก่อนทั้งในชั้นสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครอง ไม่ว่าชั้นศาลปกครองชั้นต้นและหรือศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นความบกพร่องของผู้ร้องทั้งสองเอง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้ร้องทั้งสอง
ดังนั้น เอกสารตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างจึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ‘กรณีโฮปเวลล์’ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป นั้น
เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองรับในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ข้ออ้างนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
สำหรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่อ้างว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาหรือมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากเหตุตามกฎหมายที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างเป็นเรื่องในชั้นของศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองชั้นต้นชอบที่จะส่งคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ประกอบกับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้พิจารณาในเนื้อหาของคำขอแล้ว จึงต้องสั่งยกคำขอ การที่ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงเป็นการสั่งโดยไม่ชอบ นั้น
เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า คำฟ้อง หมายความว่า การเสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
มาตรา 10 บัญญัติว่า ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มาตรา 11 บัญญัติว่า ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้ (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด (4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 5 กำหนดว่า วิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นวิธีพาจรณาโดยใช้ระบบไต่สวนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองและระเบียบนี้ วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่กฎหมายหรือระเบียบตามวรรคหนึ่ง มิได้กำหนดเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ให้ดำเนินการตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง
และข้อ 37 วรรคสอง กำหนดให้ตุลาการหัวหน้าคณะแต่งตั้งตุลาการในองค์คณะคนหนึ่ง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน แล้วให้ตุลาการเจ้าของสำนวนตรวจคำฟ้อง...ให้ตุลาการเจ้าของสำนวนเสนอองค์คณะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ความจากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถือเป็นคำฟ้องตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยการขอพิจารณาคดีใหม่ มิได้บัญญัติว่าการยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งขาตคดีปกครองใหม่ต้องยื่นต่อศาลปกครองได้
กรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองตามนัยข้อ 5 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในตาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 คือ หลักการฟ้องคดีปกครองต้องเริ่มต้นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เว้นแต่เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
เมื่อบทบัญญัติมาตรา 11 ไม่ได้กำหนดให้การยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ในคดีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีนั้น ในชั้นต้น เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่าคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณได้ ศาลปกครองชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณาตามนัยข้อ 37 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 และมิใช่เป็นกรณีที่ต้องสั่งยกคำขอแต่อย่างใด คำร้องอุทธรณ์คำสั่งข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองไม่อาจรับฟังได้
อาศัยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งดังกล่าว ทำให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ปี ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/