"...เงินชดเชยค่าเสียหายที่บริษัทฯคาดว่าจะได้รับ 1.8 หมื่นล้านบาทนั้น จะเหลืออยู่กับบริษัทฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เพราะต้องนำไปจ่ายใน 2 ส่วน คือ 1.จ่ายหนี้คืนซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ สั่งซื้อวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาลงทุนโครงการโฮปเวลล์ แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท 2.เงินที่บริษัทฯต้องจ่ายให้กับภาครัฐ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างกับกรมสรรพากร เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าที่ดินให้การรถไฟฯอีก 1,000 ล้านบาท..."
เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลศึกษา เรื่อง ‘การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(โฮปเวลล์)’ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษาการกฎหมายกรรมาธิการ การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน
เมื่อรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่ามี ‘คนไทยคนหนึ่ง’ ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงาน โครงการโฮปเวลล์มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนกระทั่งมีข้อพิพาทที่นำไปสู่การฟ้องร้องกันในศาลฯ และต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ภาครัฐจ่ายค่าเสียหายให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท
สำหรับเนื้อหารายงานที่เกี่ยวกับ ‘ตัวละครลับ’ ซึ่งปรากฏในรายงานบทสรุป ‘ข้อเท็จจริงและข้อพิรุธ’ 1 ใน 14 ข้อ มีดังนี้
“…ประเด็นที่ 14 ข้อพิพาทกรณีโฮปเวลล์อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบข้อเท็จจริงและข้อพิรุธ
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเดิม บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้นที่เป็น ‘คนไทยผู้หนึ่ง’ ที่มีข้อมูลเบื้องต้นว่า เป็นผู้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ‘ฝ่ายการเมือง’ และเป็น ‘ผู้ติดต่อประสานงาน’ ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ในโครงการโฮปเวลล์มาแต่ต้น
แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเหตุในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากเหตุที่ว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญา มาเป็นเหตุตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ทำ ให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อันนำไปสู่การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการและศาลปกครองในเวลาต่อมาแล้ว
บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ประกาศขายหุ้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถืออยู่ทั้งหมด เป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยชี้ชวนว่าผู้ที่จะซื้อหุ้นไปนั้น จะได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
ต่อมาปรากฏว่ามีนิติบุคคลต่างด้าว 2 รายมาซื้อหุ้นไปจาก บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง)…โดย 1 ใน 2 นิติบุคคลต่างด้าวดังกล่าวนั้น จดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศมอริเชียส (Mauritius) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นแหล่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลเพื่อหลบเลี่ยงภาษี และมีการกระทำในลักษณะหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการเงินในลักษณะต่างๆ
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่จากบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่ประเทศมอริเชียส เมื่อ พ.ศ.2548
ก็ปรากฏว่า ชื่อผู้ถือหุ้นที่เป็น ‘คนไทยดังกล่าว’ ได้หายไปจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อันเป็นการผิดปกติวิสัยที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่คาดว่าจะมีรายได้เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จะขายหุ้นหรือโอนหุ้นของตนให้บุคคลอื่น หรือให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับประโยชน์แทน
และยังปรากฏข้อมูลเบื้องต้นที่สมควรได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปด้วยว่า ปัจจุบันผู้ถือหุ้นที่เป็น ‘คนไทยดังกล่าว’ ยังคงเป็นผู้มีบทบาท ‘ติดต่อประสานงาน’ ในเรื่องต่างๆ ให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมายกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย
จึงน่าเชื่อว่าผู้ถือหุ้นที่เป็น ‘คนไทยดังกล่าว’ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศมอริเชียสด้วย ยิ่งทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่า เหตุใดผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวจะต้องมีพฤติกรรมหรือการกระทำเช่นว่านั้น
นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ จาก บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่ประเทศมอริเชียส เมื่อ พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน กลับไม่ปรากฏว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกอบธุรกิจใดๆ และไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากธุรกิจใดเลย…
และมีข้อน่าสงสัยเพิ่มเติมว่า บุคคลใดเป็นผู้จัดหาและชำระเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน รวมทั้งค่าทนายความที่ดำเนินการทางกฎหมายให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลเบื้องต้นที่น่าเชื่อได้ว่า ผู้ถือหุ้นที่เป็น ‘คนไทยดังกล่าว’ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมืองผู้ใหญ่ที่เคยเป็นผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมในอดีตหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงมติครม.เกี่ยวกับเหตุการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ จากเหตุที่ว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญา มาเป็นเหตุตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
ดังนั้น จากข้อเท็จจริง ข้อมูลเบื้องต้น และข้อพิรุธที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ เป็นขั้นตอนดังกล่าว จนนำไปสู่การพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระเงินให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นเงินรวมกันทั้งหมดกว่า 24,000 ล้านบาท ทำให้น่าเชื่อว่า ‘น่าจะเป็นแผนการฉ้อฉลที่มีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังมาแต่ต้น’
โดยมีการดำเนินการต่างๆ ต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตลอดมา อันเป็นแผนการฉ้อฉลรัฐที่มีการวางแผนเตรียมการมาเพื่อจะนำไปสู่การที่จะทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางการเงินตามกฎหมายจากภาครัฐ ซึ่งแผนการนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อมีการชำระเงินจากภาครัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
แต่ปัจจุบันแผนการนี้ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นลง เพราะยังไม่มีการชำระเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด การกระทำต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงยังไม่ขาดอายุความ สมควรที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นต้น จะพึงประสานการทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริงและความชัดเจนในกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาโดยเร่งด่วน”
(พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะที่ปรึกษาการกฎหมายกรรมาธิการ การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการติดต่อจากตัวแทนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโครงการโฮปเวลล์ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ภาครัฐจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
แหล่งข่าวจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รายนี้ เกริ่นว่า “โครงการฯนี้ (โฮปเวลล์) มีการกลั่นแกล้งมาตั้งแต่ต้น มีการกล่าวหานายกอร์ดอน วู (ประธานบริษัท โฮปเวลล์ฯ) ว่าเป็นโจร ทำให้นายกอร์ดอน วู ช้ำใจมาก เพราะเขาเองมีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยทำให้การจราจรในกรุงเทพฯมีประสิทธิภาพ”
แหล่งข่าว เล่าถึงที่มาที่ไปการลงทุนของบริษัท โฮปเวลล์ ว่า เดิมทีนายกอร์ดอน วู สนใจเข้ามาลงทุนกิจการโรงไฟฟ้าในไทย เพราะนายกอร์ดอน วู ลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศแถบนี้อยู่แล้ว เช่น ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากกฎหมายไทยในขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดโรงไฟฟ้าเอกชน นายกอร์ดอน วู จึงมองหาโครงการลงทุนอื่นๆแทน
“ถ้าที่ไหนมีปัญหา แล้วเราแก้ปัญหาให้เขาได้ เราก็ทำเงินได้” แหล่งข่าวระบุว่าเป็นคำพูดของนายกอร์ดอน วู
เมื่อนายกอร์ดอน วู เห็นว่ากรุงเทพฯมีปัญหารถติด โดยเฉพาะจากสนามบินดอนเมือง (สนามบินสุวรรณภูมิยังไม่เกิด) เข้ามาในเมือง ประกอบกับรัฐบาลในสมัยนั้น มีโครงการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ โดยการสร้างทางรถไฟและถนนยกระดับ นายกอร์ดอน วู มีความสนใจโครงการนี้มาก แม้ว่าโครงการนี้เคยมีการประมูลมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ
“นายกฯในขณะนั้น เคยเรียกผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าพบ และสอบถามว่าโครงการนี้ (โฮปเวลล์) การรถไฟฯ ทำเองได้หรือไม่ ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯ บอกว่า ‘ทำได้’ แต่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าการรถไฟฯจะเอาเงินมาจากที่ไหน จึงให้เอกชนเข้ามาลงทุน” แหล่งข่าวระบุ
ต่อมาครม. มีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2532 อนุมัติโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) และเปิดประมูลโครงการฯในเดือนต.ค.2532 โดยบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ชนะการประมูล เพราะยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 4 ราย จากนั้น รฟท.ได้ลงนามสัญญาโครงการโฮปเวลล์กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเดือน พ.ย.2533
“ในความคิดของนายกอร์ดอน วู ไม่ได้ต้องการทำแค่ทางรถไฟและถนนยกระดับเท่านั้น แต่มีความคิดว่าจะสร้างทางรถไฟยกระดับเชื่อม 4 มุมเมืองของกรุงเทพฯ และคิดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนายกอร์ดอน วู มีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ และต้องเดินทางบ่อย จึงขอให้ ‘คนไทยคนหนึ่ง’ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ ทั้งนี้ นายกอร์ดอน วู รู้จักคนไทยรายนี้ ผ่านเพื่อนของเพื่อนอีกทีหนึ่ง และนายกอร์ดอน วู เชื่อใจคนไทยคนนี้มาก
“นายกอร์ดอน วู บอกว่า ถ้าโครงการสำเร็จ เขาจะขายหุ้นให้คนไทยคนนั้นในราคาพาร์ และต่อมาได้มีการติดต่อประสานงานกับเรื่อยมา ตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการ เช่น หากนายกอร์ดอน วู ต้องการข้อมูลอะไร เขาจะติดต่อกับคนไทยคนนี้ เพราะเขาไว้ใจมาก” แหล่งข่าวระบุ
เมื่อโครงการโฮปเวลล์เดินหน้าไปได้ระยะหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) วันที่ 23 ก.พ.2534 และทำให้โครงการมาถึงจุดเปลี่ยน
“โครงการก็ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังมีการยึดอำนาจฯได้ไม่นาน บีโอไอ (สิทธิประโยชน์ทางภาษี) ที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะให้สูงสุด ก็ไม่ได้ตามที่ตกลงไว้ โดยรัฐบาลบอกว่าจะให้เท่าที่ ‘ทำได้’ ซึ่งทำให้โครงการไม่ Feasibility (ไม่คุ้มค่า) เพราะหากไม่ได้บีโอไอสูงสุดแล้ว โครงการนี้จะไม่มีทางเป็นไปได้ (ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย)” แหล่งข่าวกล่าว
ต่อมารัฐบาลในสมัยนั้น (รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน) เชิญนายกอร์ดอน วู เข้าพบ แล้วถามว่าจะทำโครงการฯต่อหรือไม่ ซึ่งนายกอร์ดอน วู บอกว่า จะทำต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน นายกฯได้มีการถามกับผู้ว่าการรถไฟฯ ว่า การรถไฟฯจะทำโครงการนี้เองได้หรือไม่ ซึ่งตอนนั้นมีกระแสแอนตี้ต่างชาติอยู่ รัฐบาลจึงอยากสร้างเอง
“มีการพูดคุยในครม.สมัยนั้น ในทำนองว่า ‘โฮปเวลล์’ เป็นโครงการขายชาติ แม้กระทั่งคนในวงการทูตมีการพูดถึงโครงการโฮปเวลล์ว่า ‘ต้องล้มให้ได้’ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหตุผลอะไร แต่ตอนนั้นไม่มีใครไปพูดให้นายกอร์ดอน วู ฟัง เพราะกลัวว่าเขาจะถอดใจ” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า “จุดหนึ่งที่ทำให้โครงการโฮปเวลล์ถูกแอนตี้จากรัฐบาลขณะนั้น เป็นเพราะโครงการฯไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯ ( สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เพราะที่ผ่านมาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯทั้งนั้น
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า แม้ว่ารัฐบาลอานันท์จะมีทางเลือกอื่นๆ ในการเดินหน้าโครงการโฮปเวลล์ แต่แล้วบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ต่อไป จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลต่อมา (รัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1) รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลงานจราจรในกรุงเทพฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เชิญนายกอร์ดอน วู ให้เข้ามาหารือกันอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อพูดคุยกันว่าจะเดินหน้าโครงการโฮปเวลล์ต่อไปอย่างไร
แต่กลับทิ้งปม ‘ความขัดแย้ง’ ไว้เบื้องหลัง และทำให้เกิดปัญหาในเวลาต่อมา
“มีการเชิญประธานบอร์ดการรถไฟฯในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง เข้าร่วมประชุม 3 ครั้ง แต่ประธานบอร์ดรถไฟฯคนนั้น ไม่เข้าร่วมประชุม โดยไม่ได้บอกเหตุผล และในท้ายที่สุดมีการปลดประธานบอร์ดการรถไฟฯคนดังกล่าวออกไป ทำให้ประธานบอร์ดการรถไฟฯคนนั้นโกรธ” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ หลังจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าโครงการต่อก็พบอุปสรรคมากมาย เช่น เวลาส่งแบบก่อสร้างไปให้การรถไฟฯอนุมัติ ซึ่งปกติจะมีเวลาตรวจแบบ 45 วัน แต่กลายเป็นว่า การรถไฟฯแจ้งผลการตรวจสอบให้บริษัทฯทราบเมื่อครบ 45 วันพอดี โดยแจ้งว่าแบบไม่ผ่าน โดยไม่ได้บอกเหตุผลด้วย
“เราเลยไม่รู้ว่าจะแก้แบบอย่างไร ทำให้โครงการชะงัก อีกทั้งการรถไฟฯ มีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้โครงการมีปัญหาล่าช้าอย่างมาก” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวรายนี้ ยังกล่าวถึงบางสาเหตุที่ทำให้โครงการโฮปเวลล์ล่าช้าว่า “เมื่อมีรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา จะหยิบยกโครงการโฮปเวลล์ขึ้นมาพูดทุกครั้งไป โดยเฉพาะการ ‘ทบทวนโครงการฯ’ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันในหมู่นักลงทุนต่างประเทศว่า ‘ต้องมีค่าใช้จ่าย’ โดยนักลงทุนเขาไม่มีทางเลือกมากนัก และไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร เมื่อมีรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา”
เมื่อการก่อสร้างโฮปเวลล์มีความล่าช้ามาก รมว.คมนาคมในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 จึงเสนอครม.ให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวล์ ต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2540 เห็นชอบการยกเลิกสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และการบอกเลิกสัญญามีผลอย่างเป็นทางในวันที่ 27 ม.ค.2541
ก่อนที่ในเวลาต่อมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทคดีโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จากนั้น 4 ปีต่อมา หรือในเดือนก.ย.-ต.ค.2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ภาครัฐจ่ายค่าเสียหายให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 9,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า ผลกระทบจากคดีฟ้องร้องกันระหว่างภาครัฐและบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯฮ่องกง ต้องแยกบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกไปในปี 2548 เพื่อไม่ให้กระทบกับหุ้นของบริษัทแม่ที่ฮ่องกง
“เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาหุ้น บริษัท โฮปเวลล์ฯ (ฮ่องกง) และได้มีการโอนหุ้นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บางส่วนให้กับคนไทยรายดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการโฮปเวลล์ เพราะนายกอร์ดอน วู ไว้ใจเขา แต่ไม่มากนัก โดยหุ้นใหญ่เป็นของคนอื่น” แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนที่มีการระบุว่า ‘คนไทยคนหนึ่ง’ ที่ถูกอ้างถึงในรายงานของนายพีระพันธุ์ ว่า มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่รายหนึ่ง และรมช.คมนาคมที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ทำให้รัฐเสียเปรียบและต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดนั้น
แหล่งข่าว ยืนยันว่า “คนไทยรายนี้ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ในสมัยนั้นจริง โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาบางเรื่อง แต่กับรมช.คมนาคมที่เกี่ยวข้องกับกรณีโฮปเวลล์นั้น เขาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย และรมช.คนนั้นอาจเกลียดคนไทยรายนี้ด้วยซ้ำ เพราะเคยมีเรื่องเกี่ยวกับทางเข้าออกที่ดิน ทำให้นักการเมืองใหญ่คนดังกล่าว โทรศัพท์ไปตำหนิ รมช.คมนาคมคนนั้น”
แหล่งข่าว บอกด้วยว่า ในช่วงที่คดีข้อพิพาทโฮปเวลล์เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นั้น มีทีมทนายความจากเมืองไทย 3 ทีม บินไปพบนายกอร์ดอน วู เพื่อขอทำคดีนี้ เพราะรู้ว่ามีโอกาสชนะสูงมาก
“ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และเป็นช่วงที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีแนวโน้มว่าจะชนะคดีข้อพิพาทโฮปเวลล์ ได้มีทีมทนายอย่างน้อย 3 ทีม ติดต่อและบินไทยเจรจากับนายกอร์ดอน วู ว่า ขอทำคดีให้ แต่นายกอร์ดอน วู ได้ปฏิเสธไป” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ระบุว่า หากเป็นไปได้ บริษัทฯ อยากให้โครงการโฮปเวลล์สำเร็จ แต่เมื่อบริษัทฯ มีการลงทุนไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และมีผลขาดทุนมาตลอด ก็จำเป็นต้องเรียกค่าชดเชย ซึ่งหากตอนนั้นโครงการสำเร็จ รัฐบาลก็ได้ประโยชน์ เพราะหลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน 30 ปีแล้ว โครงการฯจะตกเป็นของรัฐ
“กอร์ดอน วู ลงเงินไปหลายครั้ง โดยมีการเพิ่มทุนในบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมแล้วเป็นเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งมาจากที่นายกอร์ดอน วู การขายโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพราะกู้เงินจากแบงก์ไม่ได้ เนื่องจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะล้มโครงการนี้” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า “รัฐมนตรีบางคนที่มีส่วนร่วมผลักดันโครงการโฮปเวลล์ เคยบ่นว่าเสียดายที่โครงการโฮปเวลล์ไม่เกิด และตัวเขาเองยังถูกกล่าวหาว่ากินเงินโฮปเวลล์ ทำให้เขาหมดกำลังใจไปเลย”
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ เจรจากับคณะทำงานฝ่ายรัฐที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานแล้ว 2 ครั้ง โดยบริษัทฯยินยอมลดค่าเสียหายเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท จากเงินต้นและดอกเบี้ยที่อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และ ณ ตอนนี้ดอกเบี้ยได้เพิ่มมาอีก 1,000 ล้านบาท ทำให้ค่าชดเชยเพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม เงินชดเชยค่าเสียหายที่บริษัทฯคาดว่าจะได้รับ 1.8 หมื่นล้านบาทนั้น จะเหลืออยู่กับบริษัทฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เพราะต้องนำไปจ่ายใน 2 ส่วน คือ
1.จ่ายหนี้คืนซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ สั่งซื้อวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาลงทุนโครงการโฮปเวลล์ แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท
2.เงินที่บริษัทฯต้องจ่ายให้กับภาครัฐ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างกับกรมสรรพากร เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าที่ดินให้การรถไฟฯอีก 1,000 ล้านบาท
“หลังจากศาลฯตัดสิน ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ภาครัฐยังไม่ดำเนินการอะไร ทำให้ตอนนี้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอีก 1,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทางเจ้าของเอง (กอร์ดอน วู) ก็อยากให้มันจบ แต่เมื่อภาครัฐไม่ทำอะไร เราก็จำเป็นต้องจ้างทนายเข้ามาดำเนินการต่อไป เพราะนายกอร์ดอน วู ลงทุนไปกับโครงการนี้มาก จนเกือบจะล้มในคราวนั้น” แหล่งข่าวกล่าว
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย เกี่ยวกับโครงการโฮปเวลล์ และบทบาท ‘คนไทยปริศนา’ ที่เป็นมือประสานโครงการโฮปเวลล์มาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งศาลฯมีคำสั่งในคดีข้อพิพาทโฮปเวลล์ ในรายงานผลการพิจารณากรณีโฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์' อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่า 'คนไทยรายนี้' มีการกระทำผิดกฎหมายไทยแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/