‘ศาลปกครองกลาง’ มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี รฟท.ขอให้ 'นายทะเบียน' เพิกถอนการจดทะเบียน ‘บ.โฮปเวลล์’ ยกเหตุคดีพิพาทโฮปเวลล์ถึงที่สุดแล้ว และสามารถยกเป็น ‘ข้อต่อสู้’ ในชั้นการพิจารณาของ 'อนุญาโตตุลาการ' ได้อยู่ก่อนแล้ว พร้อมระบุหาก รฟท.เห็นว่าการจัดตั้งบริษัทฯเป็นไปโดยมิชอบ ควรปฏิเสธการเซ็นสัญญาตั้งแต่แรก
...............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 1721/2563 ไม่รับคำฟ้องของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไว้พิจารณา ในคดีฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนนิติบุคคลดังกล่าวภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า คำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ศาลรับไว้พิจารณาได้หรือไม่
ศาลพิเคราะห์ว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้มีหนังสือ ที่ รฟ 1/2604/2562 ลงวันที่ 19 พ.ย.2562 ถึงผู้ถูกฟ้องคดี (นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร) และหนังสือ ที่ รฟ 1/2605/2562 ลงวันที่ 19 พ.ย.2562 ถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันรับจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดี โดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีหนังสือ ที่ พณ 0805/2904 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 แจ้งปฏิเสธคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยระบุว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานเดินรถไฟชุมชนและทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ตามผลการเจรจากับบริษัท Hopewell holding Ltd. (Hong kong) เป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาล
ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงสามารถประกอบธุรกิจตามที่ได้รับสัมปทานในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ดังนั้น การพิจารณารับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2533 และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2533 จึงเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบและปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว
ต่อมาผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นั้น
ศาลเห็นว่า กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้ที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
แต่การที่จะพิจารณาว่า คำสั่งรับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประการใด ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อความเกี่ยวพันระหว่างบรรดาบุคคลผู้เป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นขอบริษัทดังกล่าว
แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนนั้นเอง อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่เนื่องจากการตั้งอยู่หรือการสิ้นไปของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ในฐานะบุคคลภายนอกผู้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เพราะหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสภาพบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจเข้าทำสัญญาสัมปทานกับผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะตรวจสอบเรื่องความสามารถของคู่สัญญาก่อนลงนามในสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือปฏิเสธการเข้าทำสัญญาดังกล่าวได้ตั้งแต่เริ่มแรก
หรือหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกห้ามตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 มิให้ประกอบกิจการรถไฟยกระดับอันเป็นโครงการที่ครม.มีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการ เพราะกิจการรถไฟยกระดับก็คือ “กิจการขนส่งทางบก” ที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการตามบัญชี ข. ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ก็เป็นเรื่องของบริษัทในการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท อันมิใช่เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยแต่อย่างใด
การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเหตไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จึงไม่มีผลเป็นแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีต้องเข้าทำสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีสามารถหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในข้อพิพาทที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการหรือศาลปกครองได้อยู่ก่อนแล้ว
ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างได้ว่าการรับจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามคำขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้ว
แม้ได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ที่ หนังสือ ที่ รฟ 1/2604/2562 ลงวันที่ 19 พ.ย.2562 ถึงผู้ถูกฟ้องคดี (นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร) และหนังสือ ที่ รฟ 1/2605/2562 ลงวันที่ 19 พ.ย.2562 ถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันรับจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี โดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีหนังสือ ที่ พณ 0805/2904 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 แจ้งปฏิเสธคำขอของผู้ฟ้องคดี
ก็ไม่มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดี เพื่อขอให้ศาลมีพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด
“จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ” คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1721/2563 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำหนังสือผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง โดยโต้แย้งกระทรวงคมนาคมและรฟท.ที่จงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ทั้งสองหน่วยงานปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในการชดเชยค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 2.4 หมื่นล้านบาท
หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย. และ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม และรฟท. มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง แจ้งความความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีโอปเวลล์ ว่า การเจรจาเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่ได้ข้อยุติ และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ ไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 จึงมีผลเป็นโมฆะ
อ่านประกอบ :
ศาลปค.ไม่รับคำฟ้องเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’! รัฐยื้อจ่ายชดเชยชี้การเจรจายังไม่ยุติ
สู้ต่อคดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์! ยกประเด็นสัญญา‘โมฆะ’-ผู้ว่าฯรฟท.มั่นใจมี ‘ข้อเท็จจริง’ ใหม่
บทบาท ‘คนไทยปริศนา' ในรายงานค่าโง่โฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์'
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/