รัฐสู้ไม่ถอยคดีจ่ายค่าเสียหายให้ ‘บ.โฮปเวลล์’ 2.4 หมื่นล้าน ยกประเด็นการเซ็นสัญญาเป็น ‘โมฆะ’-มีการทุจริตหรือไม่ ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ มั่นใจมีข้อเท็จจริงใหม่ที่ยกขึ้นมาต่อสู้ได้
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้ากรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ชอบด้วยกฎหมาย ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ แต่อย่างใด และยังไม่มีข้อยุติ
อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ ดังกล่าว จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
“เมื่อศาลปกครองสูงสุดกลับคำตัดสินเป็นว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการใช้ได้ หลายคนอาจเข้าใจว่าคำตัดสินใจของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด และเป็นคำพิพากษาที่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่ใช่ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้น เป็นเพียงการบอกว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการใช้ได้เท่านั้น ดังนั้น การบังคับคดีในส่วนของการชดใช้ค่าเสียหายจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ” นายนิรุฒกล่าว
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคณะทำงานฯที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน กำลังพยายามทุกวิถีทาง โดยเฉพาะล่าสุดมีรายงานผลศึกษากรณีโฮปเวลล์ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งพบว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่เคยปรากฏ และไม่เคยได้รับการวินิจฉัยในหลายประเด็น โดยคณะทำงานฯตั้งไปชั่งน้ำหนักว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ในขณะที่ดอกเบี้ยเดินทุกวัน
“คณะทำงานฯที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมกำลังทำงานกันอยู่ โดยพยายามหาทางทุกวิถีทาง เช่น เดินทางไปที่ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษว่า กระบวนการไม่ชอบกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ประเด็นที่บอกว่าทีโออาร์กำหนดให้คนที่มาทำงานมีคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วโฮปเวลล์ฮ่องกงมีคุณสมบัติที่เข้ามาแล้วได้งาน แต่วันเซ็นสัญญาจริงๆ ก็เอาเด็กเกิดใหม่คนหนึ่ง คือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เข้ามารับงาน
จึงเป็นประเด็นว่า ทำได้ด้วยเหรอ ในตอนนั้นอนุมัติกันไปได้อย่างไร และจริงๆแล้วนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ทุจริตหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือเปล่า ถ้าประเด็นเหล่านี้ถูกตัดสินว่า ผิดกฎหมาย สัญญาเป็นก็เป็นโมฆะ เมื่อเป็นโมฆะตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องพูดเรื่องตอนปลายที่กำลังคุยกันอยู่ อย่างนี้เป็นต้น” นายนิรุฒกล่าว
นายนิรุฒ ยังระบุว่า การดำเนินการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีโฮปเวลล์ ซึ่งทำให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหาย 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น คงไม่สามารถยื่นเรื่องไปให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว
(นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย)
ก่อนหน้านี้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงกรณีการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคณะทำงานของนายพีระพันธุ์ กล่าวหาว่าเป็น ‘โมฆะ’ เนื่องจากครม.มีมติอนุมัติให้ลงนามสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0207/7365 ลงวันที่ 31 พ.ค.2533
และครม.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533 มีมติ “เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ตามผลการเจรจากับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) ...” ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีอำนาจลงนามสัญญาสัมปทาน
ด้านผู้แทนจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับสำนักข่าวอิศราเมื่อเร็วๆนี้ ว่า บริษัทฯได้มีการจ้างทีมทนายที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลฯเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะที่บริษัทฯ ได้เจรจากับคณะทำงานฯของกระทรวงคมนาคมมาแล้ว 2 ครั้ง โดยบริษัทฯยินยอมลดค่าเสียหายเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหาย 2.4 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กำหนดไว้ใน มาตรา 42 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าวให้รีบทำการไต่สวน และมีคำพิพากษาโดยพลัน”
อย่างไรก็ตาม มาตรา 43 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า
(1) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น…”
ขณะที่มาตรา 44 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 ได้ ถ้าปรากฎต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
นอกจากนี้ ในมาตรา 45 ได้บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
(1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน…”
อ่านประกอบ :
บทบาท ‘คนไทยปริศนา' ในรายงานค่าโง่โฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์'
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/