"...จากรายงานของ กมธ. มีความเห็นว่า กมธ.มีแนวโน้มที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐที่มีส่วนกระทำผิด เพราะเมื่อรัฐต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษา รัฐจะต้องไปไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ส่วนที่มีการอ้างว่ากระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาตินั้น เห็นว่าเป็นการเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาอ้างเพื่อปกป้องพวกพ้อง โดยหากมีการศึกษาเอกสารข้อมูลทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว จะพบผู้มีส่วนในการกระทำความผิด และถูกไล่เบี้ยได้อย่างชัดเจนมีบุคคลใดบ้าง แต่ในรายงานของ กมธ.กลับไม่มีข้อเสนอลงโทษผู้กระทำความผิด..."
จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รายงานผลการตรวจกรณี ‘โฮปเวลล์’ ของคณะทำงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ‘การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)’ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ เป็นประธาน ให้สภาฯ รับทราบเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2563
โดยคณะทำงานฯ ตรวจสอบพบข้อพิรุธ และพบการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ซึ่งอาจส่งผลให้การทำนิติธรรมสัญญาโครงการโฮปเวลล์ ระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลฯ ตกเป็น ‘โมฆะ’ ส่งผลให้ บริษัท โฮปเวลล์ ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐเป็นเงินทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาทได้
เช่น ครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลลงนามในสัญญาโครงการโฮปเวลล์ กับ บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) แต่คณะทำงานฯตรวจสอบพบว่า รฟท.ได้ลงนามสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขัดมติครม.ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ลงนาม อีกทั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการจดทะเบียนตั้งบริษัทฯ เป็นโมฆะ ทำให้กระบวนการทั้งหมด รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่สั่งรัฐบาลไทยจ่ายค่าชดใช้ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงเป็นโมฆะไปด้วย เพราะผู้ยื่นฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถชำระเงินได้ เพราะคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย” รายงานการศึกษาระบุ
(รายงานผลการตรวจสอบกรณี ‘โฮปเวลล์’ ของคณะทำงานฯ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมายฯ เป็นประธาน)
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ขอให้ตรวจสอบและทบทวนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจาก รฟท.ได้ทำการตรวจสอบพบว่า จำนวนเงินตามใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องมีเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท ต่างจากหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้อ้างอิงและนำมาประกอบคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
อ่านประกอบ : รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) (ฉบับเต็ม)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำเอกสารชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาของคณะทำงานฯ รวม 10 ประเด็น โดยบริษัท โฮปเวลล์ฯ ระบุว่า การดำเนินโครงการโฮปเวลล์ เป็นไปตามมติครม. เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2532 และ 20 มิ.ย.2533 พร้อมระบุว่า โครงการโฮปเวลล์เป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเป็น ‘กิจการตามสัญญาสัมปทาน’ จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281
บริษัท โฮปเวลล์ ยังยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการโฮปเวลล์อยู่ที่ 14,700 ล้านบาท โดยอย่างอิงจากหลักฐานการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กรมสรรพากร จำนวน 347 ล้านบาท ซึ่งคำนวณกลับเป็นค่าใช้จ่ายเท่ากับ 4,961 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดคำชี้แจงของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 1 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า การเริ่มต้นโครงการโฮปเวลล์ ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
คำชี้แจง : เป็นข้อกล่าวที่ปราศจากมูลความจริง ทั้งนี้ เนื่องจากครม.ได้มีมติถึง 2 ครั้ง ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นที่จะให้โฮปเวลล์ดำเนินการต่อไปได้ตามโครงการ ประกอบด้วย
มติครม.ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2532 มีมติให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการให้มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
มติครม. ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533 ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการอีกครั้งหนึ่ง โดยมติครม.ระบุว่า “เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ตามผลการเจรจากับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) ..."
ภายหลังการลงนามสัญญาสัมปทาน ได้มีการรายงานครม. เพื่อทราบแล้ว และในระหว่างการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานได้มีการรายงานครม.เป็นระยะๆ
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 2 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโฮปเวลล์ โดยไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 เนื่องจากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ต้องเสนอยกเลิกการประกวดราคาโครงการ
คำชี้แจง : ปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีผู้มาซื้อซองเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์จำนวน 4 ราย แต่โฮปเวลล์เป็นผู้สนอราคาเพียงรายเดียว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นความรับผิดชอบและการตัดสินใจของภาครัฐ มิใช่ความรับผิดชอบของภาคอกชน การที่มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวมิใช่เป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐจะปฏิเสธความรับผิดและโยนความรับผิดมาให้เอกชนไม่ได้ (คำพิพากษาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด)
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 3 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า ครม.ไม่เคยมีมติอนุมัติให้บริษัท โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) และ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน โดยการยกเว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจ ‘ขนส่งทางบก’ ตามบัญชีของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515
คำชี้แจง : บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนสูงสุดภายใต้ พ.ร.บ.ส่งสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และสิทธิประโยชน์ตามมติครม. เมื่อคราวประชุมวันที่ 20 มิ.ย.2533 (อ่านเอกสารประกอบ)
(ที่มา : เอกสารมติครม.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533)
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 4 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า การรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก นายกอร์ดอน วู กล่าวอ้างต่อ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ตามมติครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยมีสภาพเป็นนิติบุคคล สัญญาสัมปทานที่ลงนามไว้จึงเป็น 'โมฆะ'
คำชี้แจง : บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอยืนยันว่าบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมติครม.เมื่อคราวประชุมวันที่ 20 มิ.ย.2533 บริษัทฯ ซึ่งเป็นกิจการตามสัญญาสัมปทาน จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยละเอียดแล้ว และได้มีหนังสือยืนยันไปยังครม.ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหนังสือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ พณ 0805/2904 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 ยืนยันถึงการรถไฟฯ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือ ที่ พณ. 0803/4364 ลงวันที่ 5 ต.ค.2562 ถึงครม. ยืนยันว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 5 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า การลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลเป็นโมฆะ มาตั้งแต่วันลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 เนื่องจากมติครม.วันที่ 20 มิ.ย.2533 อนุมัติให้ลงนามกับ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง)
คำชี้แจง : บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0207/7365 ลงวันที่ 31 พ.ค.2533 และครม. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533 มีมติ “เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ตามผลการเจรจากับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) ...” บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีอำนาจลงนามสัญญาสัมปทาน
อีกทั้งก่อนการลงนามสัญญาสัมปทาน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบความชอบด้วยข้อกฎหมายของกระบวนการจัดทำสัญญา สถานะและความสามารถของคู่สัญญา ตามข้อกำหนดของภาครัฐ และครม.รับทราบการลงนามและการปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 6 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า บริษัท โฮปเวลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำผิดสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เพราะก่อสร้างล่าช้า
คำชี้แจง : ข้อเท็จจริงปรากฎโดยแจ้งชัดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่สัญญาภาครัฐ บิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน โดยจงใจไม่ส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน จึงเป็นผลทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปโดยปริยาย การกล่าวหาของคณะทำงานฯ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 7 คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า การบอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2540 แต่กลับไปมีมติใหม่ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2541 ส่งผลให้บริษัทใช้เป็นเหตุตามกฎหมายในการเรียกร้องเงินจากภาครัฐเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ
คำชี้แจง : ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้เหตุผล ทั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่ใช้ดุลยพินิจบอกเลิกสัญญา ย่อมมีความเป็นอิสระในอำนาจหน้าที่ของตนอย่างแท้จริง ประกอบกับก่อนใช้ดุลยพินิจในหน้าที่ราชการย่อมต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาอย่างรอบคอบแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการนำเสนอให้ครม.ได้พิจารณาในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2541
ดังนั้น เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จึงมีสิทธิโดยชอบที่จะเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งเงินลงทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ใช้จ่ายไปแล้วกลับคืนสู่บริษัทฯ ตามที่กฎหมายกำหนด
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 8 : คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า การยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2543 ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทศ) เป็นการยื่นข้อพิพาทที่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่การรถไฟฯ บอกเลิกสัญญา (บอกเลิกสัญญาวันที่ 23 ม.ค.2541) ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในโครงการโฮปเวลล์ที่เรียกร้องมาจำนวนประมาณ 14,700 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานมาแสดงและโต้แย้ง
คำชี้แจง : ประเด็นที่กล่าวหาเรื่องอายุความนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นข้อสิ้นสุดแล้ว อนึ่ง ในประเด็นในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเด็นของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ข้อกล่าวหาในส่วนนี้เป็นเท็จทั้งสิ้น เหตุเพราะคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการกำหนดประเด็นเอาไว้แล้วตามคำชี้ขาดปรากฏความในหน้าที่ 6 กล่าวคือ “…ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด”
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 9 คณะทำงานฯ กล่าวหาว่า กรณีที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคืนจากกระทรวงคมนาคม และรฟท. เป็นจำนวนประมาณ 14,700 ล้านบาท และต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ชำระคืนเป็นจำนวน 9,000 ล้านบาทนั้น ในความจริงแล้ว จำนวนเงินที่ต้องชำระคืนบริษัทฯ ต้องเป็นไปตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องหรือเพียง 1,732 ล้านบาทเท่านั้น
คำชี้แจง : ในระหว่างการก่อสร้างบริษัทยังไม่มีรายได้ แต่อยู่ในระบบภาษีมูลกาเพิ่ม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจำนวนมาก ทำให้ต้องขอคืนภาษีซื้อที่เกิดขึ้น ก่อนที่กรมสรรพากรจะคืนเงินค่าภาษีที่ขอคืน ซึ่งกรมสรรพากรต้องตรวจสอบความถูกต้องของค่าใช้จ่ายของบริษัทแล้ว และในที่สุดกรมสรรพากรคืนเงินค่าภาษีซื้อให้บริษัทรวมเป็นเงิน 347 ล้านบาท ซึ่งคำนวณกลับเป็นค่าใช้จ่ายเท่ากับ 4,961 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก เช่น ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น ซึ่งก็มีจำนวนมีอีกมาก รวมเป็นมูลค่า 14,000 ล้านบาท ตามที่บริษัทได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากรัฐ ซึ่งบริษัทได้นำส่งเอกสารประกอบจำนวนประมาณ 200 แฟ้มต่อคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว
ต่อมากรมสรรพกรได้ฟ้องเรียกเงินคืนภาษีที่กรมสรรพากรได้คืนเงินแก่บริษัทฯ ด้วยเหตุที่บริษัทฯไม่มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อ (VAT) ที่เกิดจากค่าก่อสร้าง โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้บริษัทคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแด 3983/2553 ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า มีใบเสร็จรับเงินค่าก่อสร้างที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างน้อยเท่ากับ 4,961 ล้านบาท
ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่า ใบเสร็จรับเงิน 1,732 ล้านบาทเท่านั้น ที่ยอมรับได้ จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นเท็จ
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ 10 : ข้อพิพาทกรณีโฮปเวลล์อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ
คำชี้แจง : ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ขาดความรับผิดชอบ เพราะกระบวนการบอกเลิกสัญญาของฝ่ายรัฐมีระเบียบปฏิบัติหลายขั้นตอน โดยท้ายสุดต้องมีมติครม.ให้ความเห็นชอบจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการวางแผนเพื่อฉ้อฉลตามที่กล่าวอ้าง ในกรณีนี้ ผู้ที่กระทำผิดเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทฯ จะต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐทั้งหมด
และข้อพิพาทนี้ได้ผ่านการพิสูจน์และตรวจสอบโดยคณะอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ดังที่ทราบกันดีแล้ว บริษัทฯ จึงขอสงวนสิทธิ์ทางกฎหมายและทางศาลต่อไป
นอกจากนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด เงินทุนจดทะเบียนที่ชำระมูลค่าแล้ว 15,000 ล้านบาท ล้านบาท เงินกู้จากบริษัทในกลุ่มอีกประมาณ 1,738 ล้านบาท และยังมีเจ้าหนี้การค้าอีกประมาณ 1,469 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 18,207 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) แต่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ชคใช้ให้กับบริษัทฯ เพียง 11,850 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริษัทฯ ได้รับความเสียหายมากกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ฝ่ายรัฐชำระแก่บริษัท
ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้งินจากภากรัฐ โดยมิชอบนั้น จึงเป็นการใส่ความที่ย้อนแย้งกับความจริงดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีข้อสังเกตต่อรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ‘การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)’ ใน 5 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1.รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับและถนนยกระดับในขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)’ ของ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (‘รายงานของ กมธ.’) ไม่มีการสอบถามข้อมูลจากฝ่ายเอกชน เป็นรายงานที่ไม่เป็นกลาง ลำเอียง ไม่ครบถ้วน เสมือนเป็นการร่างฟ้องจากฝ่ายรัฐ
2.รายงานของ กมธ. มีการบิดเบือนประเด็นโดยนำเรื่องของผู้ถือหุ้นของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นประเด็นโจมตีบริษัทฯ เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของฝ่ายรัฐทั้งในเรื่องการไม่ส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาและการเลิกสัญญาโดยมิชอบ ซึ่งเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐแพ้คดี
3.จากรายงานของ กมธ. มีความเห็นว่า กมธ.มีแนวโน้มที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐที่มีส่วนกระทำผิด เพราะเมื่อรัฐต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษา รัฐจะต้องไปไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ส่วนที่มีการอ้างว่ากระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาตินั้น เห็นว่าเป็นการเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาอ้างเพื่อปกป้องพวกพ้อง โดยหากมีการศึกษาเอกสารข้อมูลทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว จะพบผู้มีส่วนในการกระทำความผิด และถูกไล่เบี้ยได้อย่างชัดเจนมีบุคคลใดบ้าง แต่ในรายงานของ กมธ.กลับไม่มีข้อเสนอลงโทษผู้กระทำความผิด
4.ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความผิดบางข้อหาได้ขาดอายุความแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบว่า เป็นการประวิงเวลาที่จะดำเนินคดีกับผู้มีส่วนในการกระทำความผิด อันเป็นการช่วยเหลือพวกพ้อง นอกจากนั้น ยังมีการร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษหลายครั้งหลายคราว ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนก่อน ได้ปฏิเสธไม่รับเป็นคดีพิศษมาแล้ว แต่ยังมีพฤติการณ์เช่นนั้นอีก ซึ่งทั้งสองกรณีที่กล่าวมาข้างต้น มีลักษณะคล้ายกับกระบวนการช่วยหลือผู้กระทำความผิดในคดีอื่น
5.การที่รายงานของ กมธ. เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มีความเห็นว่าควรตรวจสอบในเรื่องที่สมควรได้รับการตรวจสอบ เช่น
5.1 การใช้ดุลพินิจในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ ซึ่งทั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาและวินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานใหม่ที่อ้างนั้น มีอยู่แล้วในสำนวนไม่เป็นหลักฐานใหม่ เป็นผลให้รัฐมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว
5.2 การที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้าศาลปกครองกลาง ซึ่งปรากฎชัดเจนว่าเป็นการผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจรณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ.2561 ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วว่าในกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาทระหว่างกัน ต้องเสนอข้อพิพาทให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี แต่กรณีนี้กลับไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐเพิ่มขึ้นวันละ 2.4 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นข้อโต้แย้งของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อข้อกล่าวหาของคณะทำงานพิจารณาศึกษาโครงการโฮปเวลล์ฯ ของกมธ.การกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร
ขอบคุณภาพปก : ไทยโพสต์
อ่านประกอบ :
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/