"...เม็ดเงิน 101,482.29 ล้านบาท ที่นับเป็นเงินกู้ ‘ล็อตแรก’ กำลังไหลเข้าสู่ระบบ ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจะได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการทำงานของ สศช. ต้องท่องตำรา ‘การ์ดอย่าตก’ เพราะยังมีอีก 300,000 ล้านบาท รอให้กลั่นกรอง-ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกหลายรอบ..."
สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงความคืบหน้าการคัดกรองโครงการตามคำขอใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
ล่าสุด เตรียมสรุปโครงการ ‘ล็อตแรก’ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 8 ก.ค.นี้
โดยเป็นการคัดกรองเหลือ 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาท จากต้นเรื่องที่ทุกหน่วยงานเสนอมา 46,411 โครงการ วงเงิน 1,448,474 ล้านบาท
แบ่งเป็นรายละเอียด 3 แผนงาน ประกอบด้วย
1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 58,069.71 ล้านบาท จำนวน 129 โครงการ
2.แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 20,989.81 ล้านบาท จำนวน 77 โครงการ
และ 3.แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,422.77 ล้านบาท จำนวน 7 โครงการ (ข่าวประกอบ : คัดกรองใช้เงินกู้รอบแรก 1 แสนล้านชง ครม.8 ก.ค.ทำถนน-จัดอีเวนต์-จ้างที่ปรึกษาถูกตัดเรียบ)
ทั้งหมดเป็นแผนงานที่ ‘ทศพร ศิริสัมพันธ์’ เลขาธิการ สศช. ย้ำว่า ต้องการใช้เงินเพื่อ ‘จ้างงาน’ และ ‘พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก’ เพื่อให้เงินไหลเข้าสู่ระบบโดยเร็ว ส่วนแผนงานประเภท ทำถนน จัดอีเวนต์ จ้างที่ปรึกษา จัดหาผู้รับเหมา ‘ถูกตัดทิ้ง’ ทั้งหมด
นับเป็นการคัดกรองโครงการอย่างเข้มข้น เพราะ ‘ล็อตแรก’ ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา เป็นเพียง 1 ใน 10 จากภาพรวมโครงการที่เสนอมาเท่านั้น
(โครงการที่ สศช.เตรียมนำเข้าคณะกรรมารกลั่นกรองเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป)
เป็นการ ‘ตั้งการ์ดสูง’ รับมือข้อครหาจากฝ่ายการเมือง หลังจากช่วงอภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท รัฐบาลถูกถล่มอย่างหนัก
อาทิ ‘สุทิน คลังแสง’ ส.ส.เพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แสดงความกังวลว่า การใช้เงินเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยวยังไม่มีความจำเป็น และควรทุ่มงบประมาณไปงานด้านสาธารณสุขจะดีที่สุด
“ผมกลัวว่างานด้านการเกษตรจะมีแต่จัดอบรม ส่วนการท่องเที่ยวก็จะไม่มีใครอยากออกมาใช้เงิน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าอยากจะพัฒนากันจริงๆ ตอนนี้ควรเน้นเรื่องสาธารณสุขทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์จะดีที่สุด” นายสุทิน กล่าว (ข่าวประกอบ : ‘สุทิน’จี้เกลี่ยงบฯปี 63 ลดกู้เงิน 1 ล้านล้าน เห็นแก่ชาวบ้านยกมือผ่าน พ.ร.ก.อย่างขมขื่น)
รวมถึงข้อกังวลจาก ‘ส.ส.ก้าวไกล’ ที่ห่วงว่าเงินกู้ก้อนนี้จะ ‘ซ้ำรอย’ โครงการไทยเข้มแข็ง ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้งเป้าหวังผลไว้สูง แต่สุดท้ายก็ ‘พลาดเป้า’
“ไทยเข้มแข็งคาดว่าจีดีพีจะโต 1.5% เพิ่มการจ้างงาน 600,000 คน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจีดีพีโต 0.5% เพิ่มการจ้างงาน 102,400 คน ครั้งนั้นประเทศเราตั้งเป้าไว้ชัดเจน สุดท้ายก็ยังพลาดเป้า แต่รัฐบาลนี้ไม่มีแม้กระทั่งเป้าหมาย แล้วสุดท้ายเราจะประเมินกันอย่างไรว่าโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ก้าวไกล กล่าว (ข่าวประกอบ : 'ก้าวไกล' ห่วงกู้พลาดเป้าซ้ำรอย 'ไทยเข้มแข็ง' จี้พับแผนฟื้น ศก.ไปใส่ พ.ร.บ.ให้สภาร่วมถก)
แม้แต่ซีกพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็ยังออกแรงเตือนให้ระวัง ‘ปัดฝุ่นโครงการเก่า’ และ ‘ผู้รับเหมาฮั้วกับจังหวัด’
“การกำหนดให้จังหวัดเสนอโครงการเข้ามา ขอให้ระวังอย่าให้เกิดปัญหาจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น ซึ่งผมคำนวณดูแล้ว 4 แสนล้านบาท จะทำให้แต่ละจังหวัดมีงบประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและเสี่ยงมาก” นายสาทิตย์กล่าว (ข่าวประกอบ : 'สาธิต'ชี้ระวังจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา-ปัดฝุ่นโครงการเก่ามาขอเงินกู้)
(ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และ ประธาน กมธ.สอบงบโควิด)
ขณะที่คณะกรรมาธิการ 49 คนที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ ‘คู่ขนาน’ กับ สศช.โดยมี ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.พลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. โดยล่าสุดประชุมแล้ว 2 ครั้ง ที่ประชุมยังวนเวียนอยู่กับปัญหา ‘ไม่ไว้วางใจประธาน’ จึงทำให้การพิจารณายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
สศช.คาดการณ์ว่า เงินกู้ 1 แสนล้านบาที่จะขออนุมัติในรอบแรก ช่วยสร้างมูลค่าผลผลิตใหม่ 1.8-2 เท่าของมูลค่าโครงการ เกิดการจ้างงาน 410,415 ตำแหน่ง ผู้สูงอายุได้รับการดูแล 710,518 คน สร้างความเข้มแข็งให้ 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล ส่วนการท่องเที่ยวมีพื้นที่ต้นแบบไม่น้อยกว่า 7 แห่ง ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนา 11,000 ราย บริษัททัวร์ได้ประโยชน์ 13,000 ราย
ขณะที่ภาคการเกษตร คาดว่า เกษตรกรจะได้ประโยชน์กว่า 300,000 ราย ผ่านการเพิ่มพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ 240,000 ไร่ ทำเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง รวม 5 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 170,000 ไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเกือบ 8,000 ล้าน ลบ.ม.
เม็ดเงิน 101,482.29 ล้านบาท ที่นับเป็นเงินกู้ ‘ล็อตแรก’ กำลังไหลเข้าสู่ระบบ ที่ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจะได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการทำงานของ สศช. ต้องท่องตำรา ‘การ์ดอย่าตก’ เพราะยังมีอีก 300,000 ล้านบาท รอให้กลั่นกรอง-ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกหลายรอบ
อ่านประกอบ :
แห่ขอใช้เงินกู้ทะลุ 1.36 ล้านล้านบาท 'สภาพัฒน์'คาดกลั่นกรองเสนอ ครม.8 ก.ค.นี้
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage