"...เมื่อลองค้นหาในเว็บไซต์ ThaiME ด้วยคำว่า ‘โควิด’ พบว่ามีการเสนอขอโครงการด้วยคำนี้ 121 โครงการ มีวงเงินตั้งแต่ 61,800 บาท ถึง 1,700 ล้านบาท และเมื่อค้นคำว่า ‘ปกติใหม่’ มีผู้เสนอขอโครงการด้วยคำนี้เพียง 33 โครงการ วงเงินตั้งแต่ 296,060 บาท ถึง 3,800 ล้านบาท..."
ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเอกฉันท์ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด ภายใต้ พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
กมธ.ชุดนี้มีทั้งหมด 49 คน มาจากสัดส่วนทั้งคณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ประกอบด้วย สัดส่วนของรัฐบาล 12 คน พรรคการเมือง 37 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คน , พรรคพลังประชารัฐ 9 คน , พรรคภูมิใจไทย 5 คน , พรรคก้าวไกล 4 คน , พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน , พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน , พรรคเสรีรวมไทย 1 คน , พรรคประชาชาติ 1 คน , พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคท้องถิ่นไท ได้สัดส่วน 1 คน
จากนี้มีเวลา 120 วันในการดำเนินการพิจารณา และต้องทำงานควบคู่กับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าโครงการแรกที่จะได้ใช้เงินก้อนนี้จะเกิดขึ้นในช่วง 2-7 ก.ค.เป็นต้นไป
(ปฏิทินการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้)
ในการพิจารณาของสภาที่ผ่านมา ไม่มีการลงมติ เพราะทุกฝ่ายมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องมี กมธ.ตรวจสอบการใช้เงินที่มีมูลค่ามหาศาล เพื่อป้องกันปัญหารั่วไหล-ไม่คุ้มค่ากับความเป็นหนี้ของประเทศไทย
เกือบทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
ยกตัวอย่าง ส.ส.ซีกรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าไม่ตรวจสอบ อาจเจอโครงการเก่าถูกนำมาปัดฝุ่น และเติมคำว่า ‘โควิด’ เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจ (ข่าวประกอบ : 'สาทิตย์'ย้ำตั้ง กมธ.ช่วยกรองเงินกู้ หลังพบ 3 หมื่นโครงการมีทั้งขอซื้อทีวี-ทำป้ายพีอาร์)
ขณะที่ ‘รังสิมา รอดรัศมี’ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ค้นเจอโครงการที่เสนอขอกันมาแบบเป็น ‘แพคเกจ’ ซ้ำกันแม้กระทั่งชื่อ จึงเห็นว่าน่าจะมีเค้าลางทุจริตมาตั้งแต่ต้น
“โครงการอะไรใส่ตัวเลขเหมือนกันหมด ตั้งไว้ 5 แสนบาทเหมือนกันหมดหลายร้อยโครงการ เสนอโครงการแบบนี้จึงเห็นว่าส่อทุจริตตั้งแต่ยังไม่ได้อนุมัติ” นางสาวรังสิมา กล่าว
(น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.ปชป. และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล)
เช่นเดียวกับฝ่ายค้านอย่าง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.ก้าวไกล พบความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ต้องการขอใช้เงินกู้มากเกินไป โดยเฉพาะการเติมคำยอดฮิตอย่าง ‘โควิด’ หรือ ‘ปกติใหม่’
“ผมพบทั้งโครงการปลูกผักสวนครัวต้านภัยโควิด , เลี้ยงสัตว์ปีกสู้ภัยโควิด , ปรับปรุงตลาด กู้ภัยวิกฤติไวรัสโคโรนา และหลายโครงการก็ขอเงินมาจัดฝึกอบรม โดยเติมชื่อให้เก๋ด้วยคำว่า วิถีความปกติใหม่” นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งหมดเป็นความเห็นบางส่วนจากการอภิปรายของ ส.ส. ที่สุดท้ายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กมธ.วิสามัญชุดนี้ มีความสำคัญต่อการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพียงใด
เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ ThaiME ที่ สศช. จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อเสนอโครงการเบื้องต้นของแต่ละหน่วยงาน พบข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. มีการเสนอขอโครงการมาแล้ว 34,263 โครงการ วงเงินรวม 841,269 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่ทะลุเพดานกรอบ 400,000 ล้านบาทไปแล้ว แบ่งเป็นรายแผนงาน ดังนี้
(ข้อมูลเว็บไซต์ ThaiMe ณ วันที่ 12 มิ.ย.)
1.แผนงานลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เสนอมา 164 โครงการ วงเงินรวม 284,302 ล้านบาท
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เสนอมา 33,798 โครงการ วงเงินรวม 465,023 ล้านบาท
3.แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ยังไม่มีการเสนอขอโครงการแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘ทศพร ศิริสัมพันธ์’ เลขาฯ สศช. เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
4.แผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต เสนอมา 301 โครงการ วงเงินรวม 91,942 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทดลองค้นหาชื่อโครงการต่างๆ โดยใช้คำค้นที่ได้รับกระแสนิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ‘โควิด’ หรือ 'ปกติใหม่’ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
เมื่อลองค้นหาด้วยคำว่า ‘โควิด’ พบว่ามีการเสนอขอโครงการด้วยคำนี้ 121 โครงการ วงเงินตั้งแต่ 61,800 บาท ถึง 1,700 ล้านบาท
ในกลุ่มนี้มีโครงการที่หลากหลาย ตั้งแต่ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทำฟาร์มโค พัฒนาผลิตภัณฑ์ อบรมเกษตรกร จัดทำฐานข้อมูลภาคการเกษตร ตลอดจนจัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด
โครงการที่มีราคาสูงที่สุดในกลุ่มนี้มีวงเงิน 1,700 ล้านบาท คือ โครงการซ่อมสร้างบ้านพอเพียงผู้มีรายได้น้อยสู่การสร้างงานในภาวะวิกฤตโควิด ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตำบล 40,000 ครัวเรือน เสนอขอโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนไม่น้อยกว่า 60,000 คน แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ย 5,000 – 13,000 บาท และจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่เสนอโครงการในวงเงินต่ำสุด คือ โครงการเสริมสร้างความรู้-สู้ภัยโควิด เพื่อการประกอบธุรกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน วงเงิน 61,800 บาท เสนอมาโดยจังหวัดสงขลา แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดโครงการไว้แต่อย่างใด
(ตัวอย่างทดลองการค้นหาในเว็บไซต์ ThaiME ด้วยคำว่า 'โควิด')
เมื่อทดลองค้นคำว่า ‘ปกติใหม่’ มีผู้เสนอขอโครงการด้วยคำนี้เพียง 33 โครงการ วงเงินตั้งแต่ 296,060 บาท ถึง 3,800 ล้านบาท
โครงการที่ของบประมาณสูงสุด ชื่อโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอี สู่วิถีความปกติใหม่ โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ฝึกอบรมผู้ประกอบการและบุคลากร
ทั้งนี้คาดว่าเอสเอ็มอีจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจหรือยกระดับศักยภาพการประกอบการ 9,150 กิจการ ผู้ประกอบการและบุคลากรได้รับการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ 404,500 คน รวมถึงเครือข่ายอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาและเชื่อมโยงให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ 300 เครือข่าย และคาดว่าจะเพิ่มหรือรักษาการจ้างงานได้ 30,000 ราย
ขณะที่การใส่คำค้นว่า 'ป้าย' ทำให้พบขอคำงบประมาณ 297 โครงการ โดยส่วนใหญ่คำนี้ ถูกรวมอยู่ในแผนการก่อสร้างและการปรับปรุงหลายโครงการอื่นๆ อาทิ ซ่อมพื้นผิวถนน ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ก็มีหลายโครงการที่เสนอขอมาเพื่อจัดทำป้ายเพียงอย่างเดียว อาทิ
โครงการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เพื่อติดตั้งหน้าศาลากลาง จ.สมุทรสาคร วงเงิน 6 ล้านบาท โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ป้ายขนาดใหญ่ ระบบจอแอลอีดี สูง 4 เมตร ยาว 8 เมตร จำนวน 1 ชุด และนักท่องเที่ยว นักลงทุนเข้ามาพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังคาดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ 100,000 ราย
ส่วนสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.น่าน เสนอขอใช้เงิน 924,000 บาท เพื่อจัดทำป้ายหลายประเภท รวม 60 ชุด เพื่อใช้ในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
ขณะที่แขวงทางหลวงชนบท จ.ภูเก็ต เสนอโครงการป้ายจราจรอัจฉริยะ วงเงิน 30 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัด ระบุด้วยว่าจะเป็น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร สามารถแสดงค่าความหนาแน่นของรถที่ผ่านจุดบันทึกได้ ตรวจจับป้ายทะเบียนรถเพื่อประโยชน์ของทางราชการได้อีกด้วย พร้อมระบุกลุ่มเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์ คือประชาชนผู้ตกงาน 1,000 ราย และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 1,500 ราย
(ตัวอย่างทดลองการค้นหาในเว็บไซต์ ThaiME ด้วยคำว่า 'อบรม')
เมื่อค้นหาด้วยคำว่า ‘อบรม’ พบว่ามีการเสนอขอโครงการด้วยคำนี้ 134 โครงการ ซึ่งเป็นคำที่ปะปนอยู่คำขอก่อสร้างหรือปรับปรุงศูนย์ฝึกอบรม แต่ก็มีกว่า 100 โครงการ ที่เป็นคำขอเพื่อจัดฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว ดังนี้
แต่มีอย่างน้อย 3 โครงการ ที่มีขอคำงบประมาณเกินกว่า 10 ล้านบาท และเป็นการจัดฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว ดังนี้
โครงการฝึกอบรมวิชาชีพเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ (ไลฟ์การ์ด) เสนอโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อจัดฝึกอบรมเฉพาะด้น ครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดเส้นทางน้ำหรือทะเล วงเงิน 17.98 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายการฝึกอบรมจะทำให้มีประชาชน 2,070 คน เกิดทักษะความรู้ในหลักสูตรและเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการช่วยชีวิตเบื้องต้น
โครงการฝึกอบรมการสร้างลายไม้จากเครื่องผลิตลายไม้กระแสไฟฟ้าสลับ ด้วยเทคนิค ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เสนอโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วงเงิน 12.47 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาผลผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้สัก อีกทั้ง จ.แพร่ยังเป็นเมืองค้าไม้อันดับต้นๆ ของประเทศ คาดว่าผู้ประกอบการ 200 รายจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้
โครงการยกระดับคุณภาพการฝึกอบรมผ่านรูปแบบออนไลน์ จ.เลย เพื่อเข้าสู่แนวทางการความเป็นปกติใหม่ (New Normal) เสนอขอ 16.85 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ทั้งหมดเป็นตัวอย่างข้างต้นของโครงการที่ถูกเสนอมาเพื่อขอใช้เงินกู้ในส่วนแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ สศช. เน้นย้ำว่า รายชื่อโครงการและไฟล์เอกสารที่ปรากฎ เป็นเพียง 'ข้อเสนอเบื้องต้น' โดยหน่วยงานจะต้องกรอกข้อมูลเข้าในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เมื่อโครงการได้รับการกลั่นกรองในชั้นแรก เพื่อนำไปสู่กระบวนการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
อ่านประกอบ :
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage