"...ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ มาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมีเหตุผล ที่ สศช. ให้คำนิยามว่าเป็นรูปแบบเศรษฐกิจแบบ New Normal เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล โลจิสติกส์ รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวจากเชิงปริมาณให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ..."
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เชิญส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงแนวทางการเสนอโครงการภายใต้การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้กรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งสัดส่วนไว้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 400,000 แสนล้านบาท ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (ข่าวประกอบ : สศช.ผุดไอเดียใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน จัดแพคเกจ 'ไทยเที่ยวไทย' กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ)
โดยเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ สศช.ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นความเห็นชอบกรอบนโยบายเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง สศช.ได้ประเมินปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
1.ความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาด ที่คาดว่าเชื้อโควิด-19 จะอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ
2.แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการลงทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนภายในประเทศ
3.การจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง จะมีแรงงานกว่า 4 ล้านตำแหน่งได้รับผลกระทบ และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจะขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สศช. คาดการณ์ว่า ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ มาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมีเหตุผล ที่ สศช. ให้คำนิยามว่าเป็นรูปแบบเศรษฐกิจแบบ New Normal เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล โลจิสติกส์ รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวจากเชิงปริมาณให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
(แผนปรับภาพลักษณ์ประเทศเป็นสถานที่ปลอดภัยและปลอดโรค)
ในการประชุมชี้แจงต่อส่วนราชการวันที่ 25 พ.ค. สศช. ได้เสนอแผนพลิกวิกฤตจากโรคระบาดให้เป็นโอกาสของประเทศ โดยเสนอปรับภาพลักษณ์ประเทศให้เป็น ‘สถานที่ปลอดภัยและปลอดโรค’ โดยช่องทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ประเด็นสำคัญ 1.ผลผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัยจากประเทศไทย เน้นเรื่องเกษตรสมัยใหม่ เกษตรแปรรูป เศรษฐกิจฐานชีวภาพ 2.มาเที่ยว มาฟื้นฟูสุขภาพในประเทศไทย เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพประเภทต่างๆ อาทิ เชิงสุขภาพ และเชิงวัฒนธรรมอาหาร 3.มาทำงาน มาลงทุนในประเทศไทย เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ความน่าเชื่อถือในระบบสาธารณสุขของประเทศ ความเป็นคนไทยโอบอ้อมอารี แต่มีจุดอ่อนที่ความล่าช้าของระบบราชการ กฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรค และปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
สำหรับการเสนอโครงการ ต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบาย 4 ข้อ ดังนี้
1.แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการฟื้นฟูที่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
-ภาคเกษตรกรรม ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ปรับระบบการทำการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร
-ภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ต้องฟื้นฟูกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด สนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและทันสมัยในกระบวนการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจต่างๆ
-ภาคท่องเที่ยวและบริการ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อุตสาหกรรมการให้บริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการ และฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพในท้องถิ่นและชุมชนในระยะยาว โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับชุมชน
-พัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน โดยสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรรายย่อย และพัฒนาสินค้าโอทอป การท่องเที่ยวชุมชน หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องบนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
-พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่งเสริมพัฒนาการตลาดตามแนวทางความปกติใหม่ และส่งเสริมการเปิดตลาดสู่ภายนอกโดยใช้ระบบออนไลน์
-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมสาธารณประโยชน์ระดับชุมชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน
-ส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยให้หน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษาสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและชุมชน
-เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยดึงดูดคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการที่มีความรู้ และศักยภาพกลับคืนถิ่นเพื่อไปประกอบกิจการในท้องถิ่นตนเอง
(ความเชื่อมโยงแต่ละโครงการตามกรอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท)
3.แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านการจัดทำมาตรการด้านภาษีหรือไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อย การใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก และการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงหลังจากสถานการณ์การระบาดยุติแล้ว
4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
-การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน เพื่อช่วยภาคการเกษตรให้มีน้ำใช้ เพียงพอต่อการเพาะปลูก และรองรับกรณีภัยแล้งและอุทกภัยในอนาคต
-การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชนไปสู่ประตูการค้าหรือจุดต้นทางการเดินทางที่สำคัญของประเทศ
-การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศ
ซึ่งกรอบการดำเนินงาน กำหนดให้ทุกโครงการต้องทำเสร็จภายในปี 2564 โดยให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอโครงการภายในวันที่ 5 มิ.ย. และเมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้วคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.เป็นต้นไป
ทั้งหมดเป็นสูตรการเสนอโครงการ เพื่อขอใช้วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ สศช. และรัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่า เงินจำนวนนี้จะเป็น 'หัวเชื้อ' ในการกระชากเศรษฐกิจไทยให้ตื่นฟื้นจากสถานการณ์โควิด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage