“...ขอให้ระวังอย่าให้เกิดปัญหาจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น ซึ่งผมคำนวณดูแล้ว 4 แสนล้านบาท จะทำให้แต่ละจังหวัดมีงบประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและเสี่ยงมาก...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สามของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์จากเชื้อโควิด นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวลใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างคุ้มค่า และเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อช่วยตรวจสอบป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ
นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ามาตรการในการรับมือกับสถานการณ์เชื้อโควิด ทั้งล็อคดาวน์ และให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ถือว่เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และเข้าใจว่าการปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม การใช้เงินให้มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ต้องสัมพันธ์กับการผ่อนคลายกิจกรรม และต้องทำให้เกิดผลทันที แต่มีข้อสังเกตว่า การกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.ก.ไว้กว้างๆ และมีเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการไม่เกิน มิ.ย.อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
“การกำหนดให้จังหวัดเสนอโครงการเข้ามา ขอให้ระวังอย่าให้เกิดปัญหาจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น ซึ่งผมคำนวณดูแล้ว 4 แสนล้านบาท จะทำให้แต่ละจังหวัดมีงบประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและเสี่ยงมาก” นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า ดังนั้นเพื่อให้การตรวจสอบโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรเห็นด้วยและสนับสนุนให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเข้ามาตรวจสอบรายละเอียด และทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการกลั่นกรองของรัฐบาล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.ก.ที่กำหนดให้รัฐบาลรายงานต่อสภาภายใน 60 วันหลังสิ้นปีงบประมาณ หรือหมายถึงรายงานต่อสภาปีละ 1 ครั้ง ถือว่าน้อยมากและไม่เพียงพอ
นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าจำนวนการกู้เงินครั้งนี้ถือว่ามากเป็นประวัติศาสตร์ แม้ว่าตนจะเข้าใจในเหตุผลของการกู้เงิน แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยเสียทั้งหมด โดยเฉพาะการออก พ.ร.ก.ที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการมากกว่าประชาชนทั่วไป จะเห็นได้ว่า รัฐบาลประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งการดูแลตราสารหนี้ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปทำได้แต่รออย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านหลักเกณฑ์หลายขั้นตอน หรือคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับเข้าไทยก็ต้องรอเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานถือเป็นกลุ่มถูกละเลยมากที่สุด
ทั้งนี้ ในส่วนการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตนมองว่า ควรใช้วิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาส จึงเห็นควรให้สร้างความน่าเชื่อถือในตลาดแรงงาน ก่อนที่จะเดินทางออกไปต่างประเทศ ให้รัฐจัดให้มีการตรวจเชื้อโควิดฟรี หรือนำบุคคลเหล่านี้เข้าไปฝึกฝีมือแรงงานเป็นระยะเวลา 14 วัน จากนั้นให้ออกใบรับรองว่าเป็นแรงงานปลอดภัย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ตลาดแรงงานไทยได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต ทั้งนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเราต้องอยู่กับเชื้อโควิดไปอีกอย่างน้อย 1 ปี รัฐบาลก็ควรที่จะคิดถึงอนาคตและสำรองเงินไว้ใช้รับมือสถานการณ์หากมีการแพร่ระบาดในระยะต่อไป
“ถ้าเราคิดว่าวิกฤตินี้ไม่จบกันง่ายๆ ขอให้รัฐบาลอย่ากู้เงินมาทั้งหมด ช่วยทำให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่า เรายังมีเงินเหลือไว้ใช้รับมือสถานการณ์ในอนาคต เพราะถ้าวันนี้กู้มาหมด ในอนาคตมีการระบาดรอบสอง ผมเชื่อว่าเวลานี้เราอยู่จะกันอย่างยากลำบาก” นายศราวุธ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/