"...ความเสี่ยงของเราอยู่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าในประเทศ สถานการณ์จะค่อนข้างดีมาก แต่สถานการณ์ในต่างประเทศ มีความกังวลว่าจะมีการระบาดในรอบที่ 2 ในยุโรป สหรัฐ ถ้ามีการระบาดรอบ 2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกจะถูกเลื่อนออกไป ก็จะกระทบกับไทย..."
กำลังงวดเข้าสู่ห้วงเดือนสุดท้ายของโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ในอีกไม่กี่สิบวันข้างหน้า
สำหรับปฏิบัติการแจกเงินเยียวยา ‘ลูกจ้างชั่วคราว-อาชีพอิสระ’ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-เม.ย.63) เป้าหมาย 16 ล้านคน กรอบวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท
ขณะที่โครงการ ‘เยียวยาเกษตรกร’ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.63) เป้าหมาย 10 ล้านคน กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ได้ทยอยโอนเงินงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังเหลือเวลาจ่ายเยียวยาอีก 2 เดือน
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพิ่มเติมอีก
โดยเตรียมจ่ายเงิน ‘เยียวยากลุ่มเปราะบาง’ ซึ่งได้แก่ ‘เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ-กลุ่มคนพิการ’ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.63) เป้าหมาย 13.14 ล้านคน กรอบวงเงิน 3.94 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มโอนเงินในเดือนมิ.ย. รวดเดียว 2,000 บาท และโอนในเดือนก.ค.อีก 1,000 บาท
แต่ทว่าเม็ดเงินเยียวยาผลกระทบโควิดระยะ ‘เร่งด่วน’ วงเงินรวม 4.29 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลทยอยอัดฉีดเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เป็นได้เพียง ‘ยาแก้ปวด’
เพราะตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงต่อเนื่อง ลงสู่ระดับติดลบมากกว่า 5%
ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5-6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบเกิน 5.3%
เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 5% ขณะที่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจีพีดีของไทยจะติดลบ 6.7% (อ่านประกอบ : หวังรัฐประคองเศรษฐกิจ! ‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ คาดจีดีพี 63 ลบ 5%-CIMBT มองหดตัว 8.9%)
ดังนั้น ทันทีที่การเยียวยาผลกระทบจากโควิดระยะ ‘เร่งด่วน’ ทยอยสิ้นสุดลง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องยิงกระสุน ‘ก๊อกสอง’ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด แม้ว่าจะทำได้เพียง ‘ประคอง’ เศรษฐกิจไม่แย่ลงก็ตาม
“ลำพังงบประมาณแผ่นดินคงไม่พอ จำเป็นต้องมีพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทมาใช้ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนสู่เศรษฐกิจฐานราก 4 แสนล้านบาทจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.นี้” ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสศช. กล่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา
ในขณะที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีเลขาสศช. เป็นประธาน เตรียมเสนอครม.อนุมัติโครงการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก 4 แสนล้านบาท ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ และจัดสรรเงินลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป (อ่านประกอบ : 'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ)
จึงเท่ากับว่าขณะนี้รัฐบาลได้ใช้กรอบวงเงินในการ 'เยียวยา' และ 'ฟื้นฟูเศรษฐกิจ' ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ไปแล้วกว่า 8.29 แสนล้านบาท
แบ่งเป็น 1.การเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 7.59 ล้านบาท 2.การใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2563 จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท และ3.การใช้เงินจาก งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติม ปีงบ 2563 (พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563) จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท
ทำให้รัฐบาลยังเหลือเงินกู้ ‘ก้อนสุดท้าย’ อีก 1.95 แสนบาท จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท สำหรับใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงต่อไป (ไม่รวมวงเงินกู้สำหรับใช้ในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท)
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงรายละเอียดพ.ร.ก. 3 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 ขอบคุณภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา)
แต่ ‘กระสุน’ ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจหลังโควิด ในมือของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะในเร็วๆนี้ รัฐลาลจะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2 ฉบับ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ ประกอบด้วย
1.ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ... วงเงิน 88,45 ล้านบาท โดยงบส่วนนี้ถูกตั้งเป็น งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็นทั้งหมด และหากหักลบกับเงินที่นำไปจ่ายเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ จะเหลือกรอบวงเงินที่ยังไม่มีภาระผูกพัน 6.34 หมื่นล้านบาท
2.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท
ในจำนวนเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น 99,000 ล้านบาท และงบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีก 40,325 ล้านบาท
ดังนั้น นับตั้งแต่ห้วงเดือน มิ.ย.63 ไปจนถึง ก.ย.64 หรืออีกประมาณ 1 ปี 5 เดือนจากนี้
พล.อ.ประยุทธ์ และครม.จะเหลือ ‘คลังกระสุน’ ที่ไม่มีภาระผูกพัน ทั้งจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ และงบกลาง 'ฉุกเฉิน' ปี 63-64 เป็นเงินอีก 3.97 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว
เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ว่า หากมองไปข้างหน้าอีก 6 เดือน มีแนวโน้มว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมา และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง ในหลายประเทศทั่วโลก
“ความเสี่ยงของเราอยู่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าในประเทศ สถานการณ์จะค่อนข้างดีมาก แต่สถานการณ์ในต่างประเทศ มีความกังวลว่าจะมีการระบาดในรอบที่ 2 ในยุโรป สหรัฐ ถ้ามีการระบาดรอบ 2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกจะถูกเลื่อนออกไป ก็จะกระทบกับไทย” เชาว์กล่าว
เชาว์ ย้ำว่า “ถ้าโควิดในต่างประเทศไม่หาย โอกาสที่คนจะเดินทางท่องเที่ยวก็ยาก เพราะเดินทางไปแล้วไม่รู้ว่าจะติดโควิดมาหรือเปล่า
ส่วนการส่งออกนั้น แม้ว่าหลายประเทศจะยกเลิกการชัตดาวน์ไปแล้ว แต่เราไม่รู้ว่ารอบที่สองจะมาหรือไม่ และแม้ว่าความต้องการสินค้าจะมีการขยายตัว แต่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง หรือหดตัวลงด้วยซ้ำ สินค้าที่คนต้องการจึงเปลี่ยนไปสินค้าเพื่อความจำเป็นมากกว่า เพราะการดำเนินชีวิตไม่ปกติ จึงมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ”
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกนง.กังวลว่า หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นเวลา 3-6 เดือน ให้กับลูกหนี้รายย่อย ‘บ้าน-รถยนต์-บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล’ และลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SME รวมแล้วกว่า 26 ล้านราย มูลหนี้ 19.5 ล้านล้านบาท
จะกลายเป็น ‘พายุหนี้’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่ลงอีก
“ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน หลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง” ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงผลประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์และครม.จะเตรียม ‘แผนสอง’ ไว้รับมือกับ 'วิกฤตการณ์โควิด' ที่มีแนวโน้มว่าจะลากยาวไปอีกอย่างน้อย 1 ปีนับจากนี้ อย่างไร
อ่านประกอบ :
สภาถก 3 พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิด'บิ๊กตู่'ยันเรื่องฉุกเฉิน-ทางเลือกสุดท้ายฟื้นเศรษฐกิจติดลบ
สศช.ลดเป้าจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 5-6% ชี้เงินกู้ 1 ล้านล.แค่ประคองเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจชะลอตัว-สงครามราคาน้ำมันไตรมาส1/2563ส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง
เสียงแตกลดดอกเบี้ย 0.25%! กนง.ประเมินศก.ไทยหดตัวเกินคาด-กังวลบาทแข็งค่า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/