“...ไม่ทันไรมีรายงานมาแล้วว่ามีการรุมทึ้งงบโควิดในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะจัดซื้อน้ำย่าฆ่าเชื้อ เครื่องแพ่นยูแอลวี เจลล้างมือ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือโดรนพ่นน้ำยา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เราต้องช่วยกันสอดส่องไม่ให้ปลิงมาดูดเลือด ไม่ให้เกิดการทุจริต ท่ามกลางความยากลำเค็ญในภาวะแบบนี้...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ก้าวไกล พูดเปิดอภิปราย ก่อนที่สภาจะปิดการประชุมเพื่อนำวาระไปพิจารณาต่อในวันพรุ่งนี้
นายพิธา กล่าวว่า จุดประสงค์ของการตั้งกรรมาธิการมีเรื่องเดียว คือรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน สถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญเวลานี้คือทวิวิกฤติ เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่เกิดจากวิกฤติด้านการสาธารณสุข และวิกฤติเศรษฐกิจในคราวเดียวกัน และสิ่งที่กังวลใจเพิ่มเติมคือท่าทีของนายกรัฐมนตรี ท่าทีของแกนนำรัฐบาล ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับกลไกการตรวจสอบของสภา คือการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบ และในภาวะวิกฤติแบบนี้ ประเทศไม่ได้ต้องการแค่กรรมาธิการ แต่ต้องถามหาธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดด้วย
“เงิน 2 ล้านล้านบาทถือว่าเยอะมาก ถ้าเราเอาแบงค์ร้อยมาต่อกันเป็นถนน เงินจำนวนนี้จะปูทางจากใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศ ปูได้ตั้งแต่เบตงถึงแม่สาย ยังไม่นับรวมงบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ถ้าเอามาใช้ร่วมกัน ก็ทำถนนข้ามผ่านแม่สายได้ไปถึงมองโกเลีย เงินมากขนาดนี้ รัฐบาลจะหนีการตรวจสอบจากรัฐสภาได้อย่างไร” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อไปว่า ธนาคารโลกวิเคราะห์เศรษฐกิจจะย่ำแย่ที่สุดในรอบ 150 ปี ส่วนไทยเวลานี้รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทั้งหมด คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าคนตกงาน 7-10 ล้านคน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนเป็น 19 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ประชากร 1 ใน 3 ของไทยกลายเป็นคนจนในอนาคต นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเรากำลังเข้าไอซียู แต่ไม่ทันไรมีรายงานมาแล้วว่าจะมีการรุมทึ้งงบประมาณเกี่ยวกับโควิดเสียแล้ว
“ไม่ทันไรมีรายงานมาแล้วว่ามีการรุมทึ้งงบโควิดในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะจัดซื้อน้ำย่าฆ่าเชื้อ เครื่องแพ่นยูแอลวี เจลล้างมือ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือโดรนพ่นน้ำยา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เราต้องช่วยกันสอดส่องไม่ให้ปลิงมาดูดเลือด ไม่ให้เกิดการทุจริต ท่ามกลางความยากลำเค็ญในภาวะแบบนี้” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวย้ำว่า ในสถานการณ์วิกฤตินี้เปรียบเหมือนน่านน้ำที่ไม่มีใครเคยไป และประเทศไทยจะรอดได้ต้องมีเรือ 4 ลำ คือ รัฐบาล ราชการ รัฐสภา และราษฎร แต่ที่ผ่านมามีแค่เรือ 2 ลำมุ่งไปข้างหน้า คือ รัฐบาลคิด ราชการทำ ส่วนเรือรัฐสภาถูกจอดนิ่งห้ามออกจากฝั่ง และเรือราษฎรถูกปล่อยให้เคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ทำให้ไม่มีเกิดการมีส่วนร่วม และการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาก็ช้าอุ้ยอ้ายอย่างที่ปรากฏให้เห็น
ขณะที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ใช้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ 600 คนในการกลั่นกรองโครงการ ที่ระยะแรกส่งมาแล้ว 2.8 หมื่นโครงการ ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เท่ากับว่า สศช.ต้องกลั่นกรองวันละ 4,000 กว่าโครงการ ทำให้เราเกรงว่าจะเจอปัญหาโครงการตัดแปะ เช่น ตัดโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากโครงนวัตวิถีหรือไทยนิยมยั่งยืน มาตัดแปะใส่คำว่าโควิดลงไปแทน จึงเป็นเหตุผลจำเป็นที่ควรจะตั้ง กมธ.เพื่อให้สภาช่วยสอดส่องดูแลเรื่องนี้
ส่วนในแง่การลงทุนไปสู่อนาคต เห็นควรให้มีการลงทุนโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม นำงบประมาณไปพัฒนาเรื่อง เงินบำนาญ เงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน เงินสวัสดิการเด็กและครอบครัว เงินช่วยเหลือทางสังคมต่อครัวเรือน เงินช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยและพิการ และงบส่งเสริมการจ้างงาน ทั้งหมดจะเป็นการกระจายโอกาส อำนาจ และทรัพยากรอย่างเท่าเทียม
“ผมขอเรียกร้องให้สภาใช้กรรมาธิการชุดนี้ เป็นการสร้างธรรมาภิบาลให้กับประเทศ เพิ่มความมีส่วนร่วมให้กับเรือ 4 ลำ ยกเครื่องประเทศไทยไปสู่อนาคต ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าทำตามที่เสนอนี้ได้ ประชาชนจะกลับมามั่นใจ เชื่อใจ และมีความหวังได้ในที่สุด” นายพิธา กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage