“...ถ้าเราทำแบบเดิมๆ ใช้วิธีเดิมๆ แล้วเราจะหวังผลได้อีกหรือไม่ ขอให้คณะกรรมกลั่นกรองระลึกไว้ด้วยว่า การสร้างงานในพื้นที่ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้รับเหมาเขาใช้คนงานของตัวเอง ถ้ามีการนำเสนอโครงการลักษณะนี้ขอให้ท่านตีกลับทันที เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานอย่างที่หวังไว้...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สามของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์จากเชื้อโควิด โดย 2 ส.ส.จากพรรคก้าวไกล อภิปรายเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการรื้อแผนการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 แสนล้านบาท
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ในวิกฤตต้มยำกุ้ง เราพบว่าผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือกลุ่มคนด้านบน แต่สถานการณ์โควิด คนกระทบส่วนใหญ่คือคนระดับฐานราก ขอเรียกเหตุการณ์นี้ว่าวิกฤติรากหญ้า ไทยเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้เราที่เหมือนเป็นคนป่วยอยู่แล้ว กลับมาเจอโรคระบาดซ้ำ สภาพเศรษฐกิจของไทยกำลังย่ำแย่
หลายสถาบันทางเศรษฐกิจประเมินไว้ว่า วิกฤตรากหญ้า จะทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6.7 ล้านคนเป็น 18.9 ล้านคน คนว่างงานจาก 4 แสน เพิ่มเป็น 2-7 ล้านคน หนี้ครัวเรือนจาก 13 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 14 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 26% กำลังเจอปัญหาสภาพคล่องรุนแรง เสี่ยงปิดกิจการ เช่นเดียวกับลูกหนี้ประมาณ 15 ล้านราย รอการปรับโครงสร้างหนี้
นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และทราบดีว่าทุกประเทศในโลกก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน และเราพบว่าในหลายประเทศเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจในแนวทางเดียวกันที่เรียกว่า ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คือ ลดความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่ง และกลับมาฟื้นฟูด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว และเราก็หวังให้ไทยดำเนินการตามแนวทางนี้เช่นกัน แต่เมื่อฟังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงก็พบว่าอาจจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สำเร็จตามที่หวังไว้
“ฝันของดิฉันคงจะดับสลายลง เพราะ สศช.ที่เป็นผู้กลั่นกรองโครงการ 4 แสนล้านบาท ไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ว่า โครงการทั้งหมดจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนเท่าไร หรือคนเราจะมีงานทำจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนหรือไม่ หรือแม้แต่การกระตุ้นภาคการบริโภค ด้วยโครงการไทยเที่ยวไทย ชิมช็อปใช้จะทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีปีละ 3 ล้านล้านบาทได้อย่างไร” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เราไม่ทราบเลยว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร สร้างงานให้คนในประเทศจำนวนเท่าไร หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมตัวไหนที่ควรไปต่อหรือต้องปรับตัว ทำให้เกิดการหวั่นใจว่าสุดท้ายเราอาจจะเสียโอกาสการฟื้นฟูประเทศ
ในปี 2552 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง แม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่หนักเท่าครั้งนี้ แต่รัฐบาลดังกล่าวก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดและสุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้า จนทำให้โครงการต้องยุติลง
“ครั้งนั้นประเทศเราตั้งเป้าไว้ชัดเจน สุดท้ายก็ยังพลาดเป้า แต่รัฐบาลนี้ไม่มีแม้กระทั่งเป้าหมาย แล้วสุดท้ายเราจะประเมินกันอย่างไรว่าโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ในปี 2555 สศช. ยังได้ประเมินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พบว่า มีโครงการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่คล้ายกับแผนการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยครั้งนั้นพบว่า โครงการนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ไม่เพิ่มคุณภาพการเกษตร ไม่เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่มีความยั่งยืน เพราะมีแต่งบขุด ขาดการบำรุงรักษา บ่อน้ำจะตื้นเขินภายใน 2-3 เดือน จึงมีความกังวลว่า การใช้เงินกู้ครั้งนี้ อาจจะซ้ำรอยปัญหาเดียวกันกับโครงการไทยเข้มแข็ง
“ถ้าเราทำแบบเดิมๆ ใช้วิธีเดิมๆ แล้วเราจะหวังผลได้อีกหรือไม่ ขอให้คณะกรรมกลั่นกรองระลึกไว้ด้วยว่า การสร้างงานในพื้นที่ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้รับเหมาเขาใช้คนงานของตัวเอง ถ้ามีการนำเสนอโครงการลักษณะนี้ขอให้ท่านตีกลับทันที เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานอย่างที่หวังไว้”
ทั้งนี้ ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าสถานการณ์ของโรคระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อไร แม้กระทั่งการค้นพบวัคซีนก็ยังไม่ได้มีกำหนดเวลาชัดเจน พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการปรับปรุงกรอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลควรเก็บเงินไว้สำหรับเยียวยาประชาชน กับการเตรียมความพร้อมทางด้านวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต ขอให้นำเสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้สภาเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา
ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลเลิกนำเสนอแผนการใช้เงินกู้แบบโรแมนติก ที่เอาแต่ปลอบประชาชนว่าประเทศกำลังจะดีขึ้น เพราะบางประเทศในโลกก็เจอปัญาการระบาดระลอกที่สอง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้า
“แม้ว่าวันนี้เรื่องวัคซีนก็ยังไม่มีความแน่นอน แต่รัฐบาลควรที่จะต้องเตรียมเงินไว้ 6.7 หมื่นล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รับการป้องกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ให้เกิดปัญหาความโกลาหลเหมือนกับการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลอีก” นายปดิพัทธ์ กล่าว
นายปดิพัทธ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสนอให้สภาพิจารณา ส.ส.ทุกคนอภิปรายไปในทิศทางเดียวกันว่า มีโอกาสที่จะเป็นเบี้ยหัวแตก ประเมินผลอะไรไม่ได้ จึงขอเสนอให้ปรับวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปทำอย่างอื่น ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เสนอเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้ ส.ส.และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
“ผมสนับสนุนให้มีการกู้เงิน แม้จะเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนพวกเราทุกคนไปจนถึงลูกหลานของเรา ถ้าครั้งนี้เราแพ้ เราจะมองไม่เห็นแม้แต่อนาคต ดังนั้นต้องมีการทบทวนการใช้เงินอย่างละเอียด และขอเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณ และขอให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามา เพื่อให้กลไกการตรวจสอบได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเราร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยไปพร้อมกัน” นายปดิพัทธ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/