"...จะดำเนินการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด โดยจะให้หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีเดียวกัน จะต้องทำการจัดซื้อจัดจ้าง ‘ในครั้งเดียวกัน’ และ ‘ไม่ให้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง’..."
..............................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
โดยข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ ป.ป.ช. พบว่า โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีขั้นตอนและประเด็นที่อาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่ 1.การจัดสรรงบประมาณ 2.การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.การจัดซื้อจัดจ้าง 4.กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา 5.การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า 6.การติดตามและประเมินผลโครงการ และ 7.การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส นั้น (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ป.ป.ช.ชำแหละ 7 ปม งบ'โซล่าร์เซลล์สูบน้ำ’กองทุนอนุรักษ์ฯ ส่อทุจริต-เอื้อบางกลุ่ม)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้สรุป ‘ผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล’ ให้ ครม.รับทราบ มีรายละเอียด ดังนี้
@ตั้ง‘คณะทำงานฯ’กลั่นกรอง ก่อนขอ‘งบกองทุนอนุรักษ์ฯ’
1.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการจัดสรรงบประมาณ
(1) กระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่’ เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการระดับจังหวัด ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดบูรณาการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ก่อนที่จะยื่นมาที่กองทุนฯ
คณะทำงานฯจะมีองค์ประกอบ เช่น พลังงานจังหวัดเป็นเลขานุการ เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดสิ่งแวดล้อมจังหวัด นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และผู้แทนจากทุกภาคส่วนในจังหวัด ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงาน ด้านการเกษตร และด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม หากในพื้นที่ไม่มีสถาบันการศึกษาหรือขาดนักวิชาการด้านพลังงานด้านเกษตร หรือด้านที่เกี่ยวข้อง กองทุนฯจะมีหนังสือแจ้งให้คณะทำงานฯ สามารถเชิญบุคลากรจากหน่วยงานอื่นนอกพื้นที่ มาร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพิ่มเติมได้
(2) กองทุนฯ จะปรับปรุงแบบฟอร์มการยื่นข้อเสนอโครงการและแนวทางหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการให้ครอบคลุมเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งานระบบ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งจะนำมาใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในปี 2567
นอกจากนี้ กองทุนฯจะรวบรวมผลการดำเนินโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2567 เพื่อประเมินความคุ้มค่า ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และความพึงพอใจในการใช้งาน รวมทั้งสรุปปัญหาอุปสรรคจากการใช้งานเทคโนโลยี เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการจัดสรรทุนในระยะต่อไป
(3) กองทุนฯจะจัดทำฐานข้อมูลกลางโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการเกษตรที่เคยได้รับการสนับสนุนทั้งหมด โดยรวบรวมรายชื่อหน่วยงาน รายชื่อผู้ใช้ประโยชน์ สถานที่ตั้งและผลการดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกโครงการและตรวจสอบพื้นที่ของโครงการ เพื่อป้องกันความช้ำซ้อนในการจัดสรรงบประมาณในระยะต่อไป
2.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการยื่นขอโครงการต่อกองทุนฯ
(1) กองทุนฯ จะปรับปรุงกระบวนการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการให้ใช้ระยะเวลาลดลง เพื่อให้มีระยะเวลาการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะต้องสอดคล้องและเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด
(2) กองทุนฯ จะเสนอขอเพิ่มวงเงินจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด เพื่อให้สำนักงานพลังงานจังหวัดสามารถจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐาน ราก และติดตามผลการดำเนินงานโครงการในพื้นที่
(3) กองทุนฯ จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงทุกช่องทางการสื่อสาร และปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้รับทราบข้อมูลกองทุนฯให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการเปิดรับข้อเสนอโครงการ รวมทั้งจะเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป
@หากใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ‘ไม่ให้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง’
3.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
(1) กองทุนฯจะเพิ่มการชี้แจงให้หน่วยงานผู้รับทุนทราบแนวทางการปฏิบัติ พร้อมกำชับให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
และจะดำเนินการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด โดยจะให้หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีเดียวกัน จะต้องทำการจัดซื้อจัดจ้าง ‘ในครั้งเดียวกัน’ และ ‘ไม่ให้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง’
(2) สำนักงบประมาณจะดำเนินการทบทวน ปรับปรุงการตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่จะประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงทบทวนราคาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่ได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไปแล้ว เพื่อให้การพิจารณาตรวจสอบราคาดังกล่าวสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้วในการประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยต่อไป
4.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องกรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา
กองทุนฯจะจัดทำตัวอย่างแนวทางแผนบริหารจัดการ การใช้งานร่วมกัน และแผนบำรุงรักษาให้ผู้รับทุนสามารถเลือกใช้ เพื่อให้อุปกรณ์ได้รับการดูแลบำรุงรักษาและสามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในระยะยาว
นอกจากนี้ กองทุนฯ จะมอบหมายให้สำนักงานพลังงานจังหวัดช่วยติดตามในพื้นที่ รวมถึงให้ความรู้เรื่องวิธีการบำรุงรักษาระบบเบื้องต้นให้กับผู้รับทุน พร้อมทั้งรายงานผลการติดตามกลับมาที่กองทุนฯ เพื่อรวบรวมและนำมาปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม
(ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
@ปรับเกณฑ์ประเมินฯ ครอบคลุมโครงการที่ใช้งบไม่สูง
5.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า
(1) กองทุนฯ จะพิจารณาปรับเพิ่มจำนวนโครงการในการประเมินกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ให้เหมาะสมกับจำนวนโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในแผนการประเมินโครงการ ตั้งแต่ปี 2567เป็นต้นไป และกองทุนฯ จะพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การประเมินผลให้ครอบคลุมโครงการที่มีงบประมาณไม่สูง แต่มีจำนวนโครงการมาก และมีความเสี่ยงจากการที่จะไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้ในเกณฑ์การประเมินผลโครงการด้วย
(2) กองทุนฯจะปรับเพิ่มเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายในหนังสือยืนยันการรับทุน โดยระบุให้ผู้รับทุนจะต้องติดตั้งท่อจ่ายน้ำย่อยเข้าพื้นที่ (ส่วนที่เกษตรกรต้องลงทุนเองตามเงื่อนไขของโครงการ) ให้แล้วเสร็จ พร้อมแนบรูปถ่าย และให้กรรมการตรวจรับพัสดุของหน่วยงานลงนามรับรอง
ทั้งนี้ กองทุนฯจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวในงบประมาณปีต่อไป (หากมีการเปิดรับข้อเสนอ) เพื่อป้องกันการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ นอกจากนี้ กองทุนฯจะเพิ่มปริมาณการตรวจติดตามและการประเมินผลโครงการระดับพื้นที่ผ่านความร่วมมือของสำนักงานพลังงานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2567
(3) กองทุนฯ จะปรับปรุงการติดตามประเมินผลด้านการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรและเพิ่มผลผลิตจากการเกษตร โดยจะร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดติดตามการใช้งานระบบในพื้นที่ และปรับแบบฟอร์มการติดตามให้มีการรายงานผลการใช้งานระบบเรื่องต้นทุนที่ลดลงและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการใช้งานระบบ ทั้งนี้ จะเริ่มปรับการรายงานผลในปี 2567
@ตั้งคณะกรรมการสอบบัญชี‘รับ-จ่าย ‘เงินกองทุนอนุรักษ์ฯ
6.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการติดตามและประเมินผลโครงการ
(1) กองทุนฯจะจัดทำแผนการฝึกอบรมให้ความรู้พื้นฐานด้านพลังงาน แนวทางการตรวจประเมิน การตรวจติดตามให้กับสำนักงานพลังงานจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปี 2567 และกองทุนฯ จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการติดตามและประเมินผลในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการติดตามและประเมินผลมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568
(2) กองทุนฯ จะนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาพิจารณาปรับเพิ่มจำนวนโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ในแผนการประเมินในปี 2567 ต่อไป และกองทุนฯจะปรับปรุงการติดตามประเมินผลโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับจำนวนโครงการ ลักษณะโครงการ รูปแบบของแต่ละเทคโนโลยี ผลการใช้งานระบบผลด้านพลังงาน การประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และความพึงพอใจในการใช้งาน ผลกระทบที่เกิดจากการใช้งาน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงานโครงการ โดยมุ่งหวังให้เกิดการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ และลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
7.สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
กองทุนฯ จะแจ้งผลการพิจารณาทั้งผู้ที่ผ่านและไม่ผ่านการพิจารณา พร้อมเหตุผลประกอบการพิจารณาไปยังสำนักงานพลังงานจังหวัดและหน่วยงานที่ยื่นขอรับการสนับสนุน รวมถึงจะมีการประกาศผลการพิจารณาผ่านเว็บไชต์ของกองทุนฯ โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กองทุนฯจะเพิ่มการประซาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผลงาน ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้มากขึ้น โดยจะเริ่มในปี 2567
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้รวบรวมโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,201 โครงการฯ ซึ่งมีมูลค่าโครงการฯรวมหลายพันล้านบาท
“กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานกองทุนฯ โดยปัจจุบัน รมว.พลังงาน (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชี รายรับและรายจ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยในการตรวจสอบ กำกับติดตาม
รวมถึงรวบรวมปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานกองทุนฯ มาทบทวนเพื่อหามาตรการ และแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนฯให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมนี้จะทำการทบทวนระเบียบ ข้อบังคับ และ/หรือแนวทางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน สอดคล้อง ป้องกัน และลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน” รายงานฯระบุ
ทั้งหมดนี้เป็นรายงานสรุป ‘ผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล’ ที่กระทรวงพลังงาน ได้รายงาน ครม. รับทราบ ไปเมื่อเร็วๆนี้!
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! ป.ป.ช.ชำแหละ 7 ปม งบ'โซล่าร์เซลล์สูบน้ำ’กองทุนอนุรักษ์ฯ ส่อทุจริต-เอื้อบางกลุ่ม
ส่อโกง 7 ขั้นตอน! ครม.รับลูก‘ป.ป.ช.’ป้องทุจริตใช้งบ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ทำโซล่าร์เซลล์สูบ
7 ปี กองทุนอนุรักษ์พลังงานยุค'บิ๊กตู่' ! จัดสรร'กองทัพ-กอ.รมน.-ตช.-ศอ.บต.'4.68 พันล.
ขมวดกลุ่มเอกชนซื้อ-ยื่นซอง-ผู้ชนะ โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน.ภ.3 ยอดรวม 5 แห่ง 193 ล.
11 โครงการ 463 ล.! โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน. ทั่วประเทศ-ก่อน ป.ป.ช.สอบพื้นที่แม่ฮ่องสอน
5 เงื่อนไข 6 คุณสมบัติ! เปิดยื่นขอจัดสรรเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ' ปี 64 กว่า 6.5 พันล.
ชำแหละงบ ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ สูบน้ำโซล่าร์เซลล์ 356 ล้าน กระจุก ‘ชัยภูมิ-ขอนแก่น’ 204 ล.
หลักฐานไม่พร้อม! หน่วยงานเซ็นรับเงิน 'กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ' ปีงบ 63 แค่ 1.1 พันล.
พลังงาน-ก.มหาดไทย จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน กระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
มีปัญหาสุขภาพ! ‘ธนธัช’ ลาออกผู้จัดการ ส.กทอ.-สนพ.คุม ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’
สกัดล็อบบี้ยิสต์นอกสาย! โชว์หนังสือ ‘ก.พลังงาน’ ทวงอำนาจคุมเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'
บูสต์โพสต์-เพิ่มไลก์ 5.1 ล.บาท! ชำแหละ ‘งบพีอาร์’ ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์-ที่ปรึกษาฯรับ1.2 แสน/ด.
วาง 5 แนวทาง! กลั่นกรองใช้เงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'-หนุนงบระบบสูบน้ำ 1.52 พันล้าน
โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.