"...เมื่อพิจารณารายละเอียดค่าใช้จ่ายในการวางแผนบริหาร ‘การสื่อสาร ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาคอนเทนต์’ ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 5.3 ล้านบาท พบว่าเงินส่วนใหญ่ หรือ 5.1 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายเป็นค่า ‘บูสต์โพสต์’ เนื้อหาบนสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และเพิ่มยอดไลก์ (Pagelike) และผู้ติดตาม (follower)..."
....................
กำลังอยู่ในห้วงเวลาของการทยอย ‘เบิกจ่าย’
สำหรับโครงการฯ ที่ได้รับอนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือ ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ ประจำปีงบ 2563 จำนวน 1,035 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 2,065 ล้านบาท (อ่านประกอบ : โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบเอกสารโครงการ ซึ่งได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘งานสื่อสารและประชาสัมพันธ์’ และโครงการที่มีการ ‘ว่าจ้างที่ปรึกษาฯ’ ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพลังงาน พบว่ามีรายละเอียดน่าสนใจในหลายโครงการ
เริ่มจาก โครงการบริหารและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานบนสื่อออนไลน์ วงเงินอนุมัติจัดสรร 12.124 ล้านบาท ซึ่งมี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นเจ้าของโครงการ โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 18 เดือน แบ่งเป็น ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน และระยะเวลาในการจัดจ้างและดำเนินการปิดบัญชี 6 เดือน
พบว่า สนพ. มีการตั้งงบในส่วนของการว่าจ้าง ‘บุคลากร’ คิดเป็นมากกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของงบฯที่ได้รับจัดสรรทั้งโครงการ หรือคิดเป็นเงินรวม 6.82 ล้านบาท อีกทั้งยังพบว่าการว่าจ้างบุคลากรในบางตำแหน่งนั้น มีการกำหนดเงินเดือนค่าจ้างอยู่ในระดับสูงถึง 80,000-120,000 บาท/คน/เดือน
อาทิ ผู้จัดการโครงการฯ วุฒิป.ตรี ประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 20 ปี เงินเดือน 120,000 บาท/เดือน/คน ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารคอนเทนต์ วุฒิป.ตรี ประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 16-20 ปี เงินเดือน 100,000 บาท/เดือน/คน และผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และออกแบบ วุฒิป.ตรี ประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 16-20 ปี เงินเดือน 80,000 บาท/เดือน/คน
ที่สำคัญ เมื่อพิจารณารายละเอียดค่าใช้จ่ายในการวางแผนบริหาร ‘การสื่อสาร ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาคอนเทนต์’ ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 5.3 ล้านบาท พบว่าเงินส่วนใหญ่ หรือ 5.1 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายเป็นค่า ‘บูสต์โพสต์’ เนื้อหาบนสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และเพิ่มยอดไลก์ (Pagelike) และผู้ติดตาม (follower) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-งบบูสต์โพสต์ (Boost Post) เพจเฟซบุ๊ก ‘EPPO Thailand’ ของสนพ. เพื่อเผยแพร่เนื้อหาไม่น้อยกว่า 240 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท เป็นเงินรวม 1,200,000 บาท จัดทำแผนเพิ่มผู้ติดตามเพจ 50,000 Pagelike ค่าใช้จ่าย Pagelike ละ 15 เป็นเงินรวม 750,000 บาท
-งบจัดทำแผนเพิ่มยอดผู้ติดตามทวิตเตอร์ ‘EPPO Thailand’ จำนวน 10,000 follower โดยมีค่าใช้จ่าย 15 บาท/follower เป็นเงินรวม 150,000 บาท
-งบบูสต์โพสต์ (Boost Post) เพจเฟซบุ๊ก ‘รวมพลังหาร 2’ ของสนพ. เพื่อเผยแพร่เนื้อหาไม่น้อยกว่า 360 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท เป็นเงินรวม 1,800,000 บาท จัดทำแผนเพิ่มผู้ติดตามเพจ 70,000 Pagelike ค่าใช้จ่าย Pagelike ละ 15 เป็นเงินรวม 1,050,000 บาท
-งบจัดทำแผนเพิ่มยอดผู้ติดตามอินสตาแกรม 'รวมพลังหาร 2’ ของสนพ. จำนวน 10,000 follower โดยมีค่าใช้จ่าย 15 บาท/follower เป็นเงินรวม 150,000 บาท
-งบจัดกิจกรรมสร้างแรงจูงใจ มูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อครั้งกิจกรรม รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 24 ครั้ง เป็นเงิน 240,000 บาท
-งบจัดอบรม Digital media Training จำนวน 1 ครั้ง เป็นเงิน 84,000 บาท
(ที่มา : เอกสารโครงการบริหารและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานบนสื่อออนไลน์ สนพ.)
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีลักษณะเนื้องาน ‘ใกล้เคียงกัน’ และมีเจ้าของโครงการเป็นหน่วยงานรัฐ ‘หน่วยงานเดียวกัน’ แต่กลับพบว่ามีการตั้งค่าใช้จ่ายบางรายการ ‘แตกต่าง’ กันอย่างชัดเจน
คือ โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับควบคุม ‘อาคารภาครัฐและเอกชน’ วงเงิน 8.45 ล้านบาท และ โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับ ‘โรงงานควบคุม’ วงเงิน 15.56 ล้านบาท
ซึ่งทั้ง 2 โครงการฯ อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แต่ปรากฎว่า เงินเดือนในการว่าจ้าง ‘บุคลากร’ ของทั้ง 2 โครงการ มีความแตกต่างกัน 23-25%
โดยตำแหน่ง ‘ผู้จัดการโครงการฯ’ ภายใต้โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับควบคุมอาคารภาครัฐและเอกชน ได้รับเงินเดือน 100,000 บาท/คน/เดือน ขณะที่ตำแหน่ง ‘ผู้จัดการโครงการฯ’ ภายใต้โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานควบคุม ได้เงินเดือน 76,700 บาท/คน/เดือน หรือเงินเดือนต่างกัน 23.3%
เช่นเดียวกับ ตำแหน่ง ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงาน’ ภายใต้โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับควบคุมอาคารภาครัฐและเอกชน ได้เงินเดือน 55,400 บาท/คน/เดือน แต่ตำแหน่ง ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงาน’ ภายใต้โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานควบคุม ได้เงินเดือน 41,200 บาท/คน/เดือน หรือเงินเดือนต่างกัน 25.6%
(ที่มา : เอกสารโครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับควบคุมอาคารภาครัฐและเอกชน และโครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานควบคุม ของ พพ.)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียด โครงการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ (Energy Mobile Unit) ในพื้นที่ 51 จังหวัด วงเงินที่ได้รับจัดสรร 42.03 ล้านบาท ของ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีระยะเวลาโครงการ 15 เดือน (ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน) พบว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน
อาทิ จัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ Energy Mobile Unit ใน 25 จังหวัด ค่าใช้จ่ายรวม 15.57 ล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าจ้างเหมาบริหาร เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยๆละ 1 คน เจ้าหน้าที่ขับรถหน่วยละ 1 คน ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าน้ำมัน เป็นต้น
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้สำนักงานพลังงานจังหวัด (สพจ.) 51 จังหวัด วงเงินค่าใช้ 19.38 ล้านบาทนั้น พบว่าเป็นค่าจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ จังหวัดๆละไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวม 10.2 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 9.18 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเหมาบริการเจ้าหน้าที่ประสานงานหน่วยละ 1 คน (51 คน) เดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน
อีกทั้งมีการจัดสรรเงินเป็นค่าบริหารจัดการโครงการของ สพจ. เป็นเงินรวม 4.78 ล้านบาท เช่น ค่าบำรุงรักษารถ Energy Mobile Unit คันละ 40,000 บาท เป็นเงิน 1 ล้านบาท ค่าสื่อประชาสัมพันธ์ สำหรับรถ Energy Mobile Unit คันละ 60,000 บาท เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ 76 ครั้งๆละ 15,000 บาท เป็นเงิน 1.14 ล้านบาท เป็นต้น
(ที่มา : เอกสารโครงการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ (Energy Mobile Unit) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน)
เหล่านี้เป็นรายละเอียดการใช้จ่ายงบ 'ประชาสัมพันธ์' และว่าจ้าง 'ที่ปรึกษาฯ' ในโครงการของ ‘หน่วยงานรัฐ’ บางโครงการ ซึ่งได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานใน 'ยุคโควิด-19' ระบาดหนักไปทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้คนไทยให้ความสำคัญกับ 'การอนุรักษ์พลังงาน'
ส่วนการใช้จ่ายเงินดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด? คงต้องติดตามผลการประเมินฯ ของ ‘คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการฯ’ กันต่อไป
อ่านประกอบ :
วาง 5 แนวทาง! กลั่นกรองใช้เงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'-หนุนงบระบบสูบน้ำ 1.52 พันล้าน
โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/