“…ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีจำนวน 4 บริษัท และอินเวอร์เตอร์ (Inverter) สำหรับปั๊มน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์มีผู้จำหน่าย จำนวน 1 บริษัท จึงทำให้เหลือผู้ประกอบการไม่กี่รายที่มีสินค้าเพื่อให้จัดทำโครงการตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด การกำหนดแบบและสเปคของงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นช่องทางการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้…”
..........................................
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
เนื่องจาก ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาลดังกล่าว และพบประเด็นในขั้นตอนต่างๆของโครงการฯที่อาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่ 1.การจัดสรรงบประมาณ 2.การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.การจัดซื้อจัดจ้าง 4.กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา 5.การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า 6.การติดตามและประเมินผลโครงการ และ 7.การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส นั้น (อ่านประกอบ : ส่อโกง 7 ขั้นตอน! ครม.รับลูก‘ป.ป.ช.’ป้องทุจริตใช้งบ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ทำโซล่าร์เซลล์สูบน้ำ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล' ที่ ป.ป.ช. เสนอให้ ครม. รับทราบ ดังนี้
@ระยะเวลายื่นขอโครงการฯ ‘จำกัด’ เปิดช่องกีดกันผู้ยื่นรายอื่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานฯ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล พบประเด็นในขั้นตอนต่างๆ ของโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนี้
1.การจัดสรรงบประมาณ
คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองตามเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละประเภทเทคโนโลยี ตามที่หน่วยงานขอรับการสนับสนุนและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ชุดสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในพื้นที่ แต่ยังขาดองค์ประกอบของนักวิชาการในการให้ความเห็นประกอบ
เรื่องดังกล่าวมิได้ส่อว่าจะเกิดการทุจริตแต่อย่างใด แต่หากสามารถเพิ่มเติมองค์ประกอบของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเกษตร จะสามารถช่วยให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณในพื้นที่มีความครบถ้วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ระยะเวลาการรับสมัครการสนับสนุนงบประมาณจัดทำโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับบ่อบาดาล มีระยะเวลาการยื่นขอในแต่ละปีไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน และมีระยะการยื่นขอที่สั้น (ประมาณ 1 เดือน) ซึ่งการยื่นขอมีขั้นตอนจำนวนมาก ระยะเวลาที่เปิดให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ยื่นขอโครงการฯ มีเพียง 10 วัน จึงทำให้ประชาชนเตรียมความพร้อมให้ตรงตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนดในปีนั้นๆ ไม่ทัน
ส่วนทางสำนักงานพลังงานจังหวัด ก็มีบุคลากรจำกัดไม่สามารถตรวจสอบว่า การยื่นของบประมาณแต่ละพื้นที่ตรงตามเงื่อนไขได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และต้องรอการจัดวาระเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
นอกจากนี้ ยังปรากฎข้อเท็จจริงว่าบางพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือบริษัทเอกชน เป็นผู้เข้ามาขุดบ่อบาดาลให้แก่ชาวบ้านเพื่อให้รวมตัวกันขอโครงการ ดังนั้น ด้วยระยะเวลาที่จำกัด จึงอาจเกิดเป็นช่องทางกีดกันให้มีผู้ยื่นขอได้ เฉพาะผู้ที่ได้รับข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐล่วงหน้าเท่านั้น
@จัดซื้อจัดจ้างฯ‘วิธีเฉพาะเจาะจง’ เอื้อประโยชน์‘ผู้รับจ้าง’บางราย
3.การจัดซื้อจัดจ้าง
(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารสัญญา 2 ประเภท คือ การบริหารแบบรวมสัญญา และการบริหารแบบแยกสัญญา โดยขึ้นอยู่กับตอนยื่นขอและการพิจารณาอนุมัติของกองทุนฯ ว่า พิจารณารวมหรือแยกโครงการ
หากรวมสัญญาก็จะทำให้มูลค่าโครงการสูงกว่า 500,000 บาท และใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่หากแยกพิจารณาสัญญาออกเป็นแต่ละโครงการ ทำให้แต่ละระบบมีราคาไม่ถึง 500,000 บาท สามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้
นอกจากนี้ ทางกองทุนฯ กำหนดเงื่อนไขให้ต้องลงนามในสัญญาภายในระยะเวลาที่จำกัดเพียง 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งมติจากกองทุนฯ การบริหารแบบแยกสัญญาที่ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง จึงอาจเอื้อประโยชน์ให้หน่วยงานของรัฐสามารถเลือกผู้รับจ้างที่มีการตกลงกันเอาไว้ก่อนได้
(2) การกำหนดแบบและสเปคของงาน อาทิ แผงโซลาร์เซลล์จะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผลิตในประเทศไทย อินเวอร์เตอร์ (Inverter) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ที่มีศักยภาพช่วยลดการใช้พลังงานต่อหน่วยสูง สามารถใช้งานควบคู่ได้กับมอเตอร์ไฟฟ้าทั่วไป ต้องเป็นของบริษัทที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไว้
และจากข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพบว่า ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีจำนวน 4 บริษัท และอินเวอร์เตอร์ (Inverter) สำหรับปั๊มน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์มีผู้จำหน่าย จำนวน 1 บริษัท
จึงทำให้เหลือผู้ประกอบการไม่กี่รายที่มีสินค้าเพื่อให้จัดทำโครงการตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด การกำหนดแบบและสเปคของงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นช่องทางการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้
ประกอบกับ พบว่า บางจังหวัดมีบริษัทที่คุณสมบัติครบถ้วนเข้ามายื่นช่องทันทีที่ได้รับอนุมัติโครงการ โดยที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล ยังไม่มีการประกาศใดๆ ดังนั้น ด้วยคุณสมบัติของสเปคงาน จึงทำให้มีผู้ประกอบการไม่กี่รายที่มีสินค้าตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด และหน่วยงานต้องลงนามในสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ 90 วัน
จึงทำให้ไม่มีเวลาในการสรรหาผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนรายอื่น จึงตัดสินใจเลือกบริษัทที่มีสินค้าตรงตามคุณสมบัติครบถ้วนที่เข้ามาเสนอราคา จึงอาจส่อว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้
@โครงการฯส่อปล่อยทิ้งร้าง-ใช้ประโยชน์เฉพาะเครือญาติ
4.กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา
แม้ว่ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดการบำรุงรักษาเป็นผลให้ทรัพย์สินถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ในกลุ่มโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชาวบ้านที่รวมตัวกันยื่นขอโครงการมีการวางเงินไว้ร้อยละ 5 ของโครงการ เพื่อใช้ในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินจากโครงการ
อย่างไรก็ตาม พบว่ายังไม่มีแนวทางที่แน่ชัดว่าเงินดังกล่าว จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างไร ตลอดจนปัญหาที่ให้มีการวางเงินก่อนที่ได้รับการอนุมัติโครงการเป็นเรื่องที่ยากต่อการดำเนินการ จึงอาจเกิดปัญหาในอนาคตเรื่องการปล่อยทิ้งร้าง และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ
5.การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า
แม้ว่าประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เห็นร่วมกันว่าโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจากรายงานการตรวจสอบโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้น้ำและพื้นที่ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนด
บางโครงการผู้ใช้น้ำที่มีสมาชิกภายในกลุ่มใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเป็นเครือญาติกันเท่านั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำไม่สามารถร่วมสมทบอุปกรณ์ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรของตนเองได้ เนื่องจากมีระยะทางของพื้นที่ที่ไกลจากกัน และการต่อท่อส่งน้ำมีความลำบาก
จึงอาจเป็นประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณได้ และกองทุนฯ ยังขาดการติดตามและประเมินผลถึงความคุ้มค่าของโครงการว่า ชาวบ้านสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรและเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด
@โครงการฯขาดการประเมินผล-กองทุนฯไม่เผยแพร่ข้อมูล
6.การติดตามและประเมินผลโครงการ
(1) การติดตามและประเมินผล ยังปรากฎปัญหาและอุปสรรคที่สำนักงานพลังงานจังหวัดพบในการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลโครงการฯ ได้แก่ ระยะทางในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างไกลต้องอาศัยเวลาในการเดินทาง เจ้าหน้าที่ขาดยานพาหนะในการลงพื้นที่ ขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนในการเข้าไปตรวจสอบ
และพบบัญหาเรื่องของข้อมูลโครงการ ซึ่งกองทุนฯ แจ้งสำนักงานพลังงานจังหวัดมาเพียงแค่ชื่อโครงการ แต่ขาดเอกสารข้อมูลอื่นๆ ของโครงการฯ ในบางครั้งทางสำนักงานพลังงานจังหวัดไม่สามารถหาพิกัดที่ตั้งของโครงการ หรือทราบได้ว่าทรัพย์สินของโครงการถูกต้องตามสเปคของโครงการหรือไม่ ดังนั้น การติดตามและประเมินผลโครงการฯ จึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่สามารถสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ไปยังกองทุนส่วนกลางได้
(2) การติดตามและประเมินผลโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ โดยใช้เกณฑ์ประเมินผลโครงการ CIPP Model และ Five Criteria ในระหว่างปี 2563-2565 มีจำนวน 3 โครงการ
โดยถือว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 1,201 โครงการ จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการปล่อยทิ้งร้างและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ
7.การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ในแต่ละปีมีผู้ยื่นขอโครงการเป็นจำนวนมาก แต่งบประมาณที่สนับสนุนมีจำนวนน้อย ทำให้กองทุนฯ ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านทุกกลุ่มที่ยื่นขอได้ และจากการค้นหาข้อมูลตลอดจนสอบถามหน่วยงานในพื้นที่ พบว่าทางกองทุนฯ ไม่มีการแจ้งเหตุผลในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับการสนับสนุนฯ
จึงทำให้เกิดความไม่พอใจของชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้รับเลือก มาต่อว่าทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะในบางครั้งชาวบ้านลงทุนขุดบ่อบาดาล เพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนดจึงอาจมีประเด็นคำถามว่า มีการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มคนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจังหวัดมีความคุ้นเคยเป็นพิเศษหรือไม่
และโดยจากการสืบค้นข้อมูล พบว่า หลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พบว่า ไม่มีการเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานกองทุนประจำปีงบประมาณขึ้นบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน จึงอาจมีประเด็นคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทรัพย์สิน ที่เกิดจากเงินสนับสนุนของทางกองทุนฯ ว่าสามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และวัตถุประสงค์ของกองทุนๆ หรือไม่ เพียงใด
@เสนอแนะแนวป้องกันการทุจริตฯ 7 ประเด็นสำคัญ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานฯ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ต่อ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ดังนี้
1) ประเด็นการจัดสรรงบประมาณ
(1) คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่ควรมีนักวิชาการในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเกษตร เข้าไปร่วมในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(2) หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ควรให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ให้ผู้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประเมินว่า หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดสรรรบประมาณ
(3) กองทุนฯ ควรมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อมิให้เกิดความทับซ้อนกันในการจัดสรรงบประมาณการจัดทำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาลในพื้นที่หนึ่งๆ
2) ประเด็นการยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กองทุนฯ ควรกำหนดกรอบระยะเวลา หรือปฏิทินการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีการประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่เป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อนเริ่มดำเนินการจริง เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัวให้ตรงตามเงื่อนไขการรับสมัครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเวลาในการดำเนินการรวบรวมเอกสารและพิจารณากลั่นกรองให้ถี่ถ้วนมากขึ้น
3) ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง
(1) ในการดำเนินการอนุมัติเงินสนับสนุน ทางกองทุนฯ ควรพิจารณาโครงการที่มีลักษณะเดียวกันและหน่วยงานเดียวกันเป็นผู้ดำเนินการขอรับเงิน รวมเป็นโครงการเดียวกัน และควรใช้วิธี e-bidding ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางราคาอย่างแท้จริง
(2) สำนักงบประมาณ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำบัญชีนวัตกรรมควรประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้สินค้าในบัญชีนวัตกรรมเกิดการผูกขาด หรือเอื้อประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการนำนวัตกรรมไทย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์
4) ประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา
กองทุนฯ ควรมีตัวอย่างแนวทางแผนบริหารจัดการการใช้งานร่วมกัน และแผนบำรุงรักษาให้ชาวบ้านเลือกใช้ เพื่อให้ทรัพย์สินได้รับการดูแลบำรุงรักษาและสามารถใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ในระยะยาว
5) ประเด็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า
(1) กองทุนฯ ควรเพิ่มสัดส่วนการติดตามและประเมินผลโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสมกับจำนวนโครงการฯ ที่กองทุนฯ ได้ทำการอนุมัติงบประมาณ
(2) กองทุนฯ ควรมีการติดตามและประเมินผลในเรื่องของจำนวนผู้ใช้น้ำและพื้นที่ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ควรมีมาตรการต่อหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุน หรือประชาชนที่อนุญาตให้นำชื่อมาใช้เพื่อยื่นคำขอสนับสนุนโครงการฯ จากกองทุนฯ
(3) กองทุนฯ ควรมีการติดตามและประเมินผลถึงความคุ้มค่าของโครงการว่า ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถช่วยชาวบ้านลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรและเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด
6) ประเด็นการติดตามและประเมินผลโครงการ
(1) กองทุนฯ ควรมีการฝึกอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงาน และการตรวจโครงการแก่เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการ มีการสนับสนุนเครื่องมีอ อุปกรณ์ในการตรวจติดตามและประเมินผล มีการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ภายในจังหวัดนั้นๆ ให้แก่สำนักงานพลังงานจังหวัด และมีการรายงานการติดตามและประเมินผลในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการติดตามและประเมินผลมากยิ่งขึ้น
(2) กองทุนฯ ควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนในการติดตามและประเมินผลโครงการลักษณะระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เกณฑ์ประเมินผลโครงการ CIPP Model และ Five Criteria ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการปล่อยทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ
7) ประเด็นการเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
กองทุนฯ ควรเปิดเผยข้อมูลในแต่ละขั้นตอนในการดำเนินงานต่อสาธารณะว่ามีการอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณให้แก่โครงการฯ ใดบ้าง ในส่วนของโครงการฯ ที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนเป็นเพราะเหตุใด และเปิดเผยรายงานผลการดำเนินการของโครงการฯ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯในแต่ละปีทางเว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
@ครม.มอบ ‘ก.พลังงาน’ เจ้าภาพหารือแนวทางป้องกันการทุจริต
มติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567
1.รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังนและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
2.ให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ
โดยให้กระทรวงพลังงานสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในส่วนโครงการ ‘โซล่าร์เซลล์สูบน้ำ’ ที่ ป.ป.ช. เสนอให้ ครม. รับทราบ และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า กระทรวงพลังงาน จะมีมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการฯนี้อย่างไร ?
อ่านประกอบ :
ส่อโกง 7 ขั้นตอน! ครม.รับลูก‘ป.ป.ช.’ป้องทุจริตใช้งบ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ทำโซล่าร์เซลล์สูบ
7 ปี กองทุนอนุรักษ์พลังงานยุค'บิ๊กตู่' ! จัดสรร'กองทัพ-กอ.รมน.-ตช.-ศอ.บต.'4.68 พันล.
ขมวดกลุ่มเอกชนซื้อ-ยื่นซอง-ผู้ชนะ โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน.ภ.3 ยอดรวม 5 แห่ง 193 ล.
11 โครงการ 463 ล.! โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน. ทั่วประเทศ-ก่อน ป.ป.ช.สอบพื้นที่แม่ฮ่องสอน
5 เงื่อนไข 6 คุณสมบัติ! เปิดยื่นขอจัดสรรเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ' ปี 64 กว่า 6.5 พันล.
ชำแหละงบ ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ สูบน้ำโซล่าร์เซลล์ 356 ล้าน กระจุก ‘ชัยภูมิ-ขอนแก่น’ 204 ล.
หลักฐานไม่พร้อม! หน่วยงานเซ็นรับเงิน 'กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ' ปีงบ 63 แค่ 1.1 พันล.
พลังงาน-ก.มหาดไทย จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน กระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
มีปัญหาสุขภาพ! ‘ธนธัช’ ลาออกผู้จัดการ ส.กทอ.-สนพ.คุม ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’
สกัดล็อบบี้ยิสต์นอกสาย! โชว์หนังสือ ‘ก.พลังงาน’ ทวงอำนาจคุมเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'
บูสต์โพสต์-เพิ่มไลก์ 5.1 ล.บาท! ชำแหละ ‘งบพีอาร์’ ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์-ที่ปรึกษาฯรับ1.2 แสน/ด.
วาง 5 แนวทาง! กลั่นกรองใช้เงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'-หนุนงบระบบสูบน้ำ 1.52 พันล้าน
โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.