"...ที่สำคัญเมื่อพิจารณารายละเอียดโครงการของหน่วยงานราชการที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พบข้อมูลว่า 3 ใน 4 หน่วยงาน ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯเพื่อนำไปใช้โครงการเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมความรู้ และการจัดประชาสัมพันธ์ จำนวน 11 โครงการ เป็นเงินรวม 182.56 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของงบที่กองทุนฯอนุมัติจัดสรร..."
.........................
พ้นกำหนด ‘เส้นตาย’ ไปแล้ว
หลังจากเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้าย ที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) เปิดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจาก ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ หรือ ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ เข้ามาลงนามหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ. ก่อนจะเบิกจ่ายเงินจากกองทุนฯออกไปใช้
แม้ว่าล่าสุดจะยังไม่มีเผยแพร่ข้อมูลว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เข้ามาลงนามหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ.บ้าง
แต่จากข้อมูลการประชุมคณะกรรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2563 ซึ่งที่ประชุม กทอ. มีมติอนุมัติโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ประจำปีงบ 2563 รวม 1,035 โครงการ 2,065 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้ 5,600 ล้านบาทนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายประเด็น
ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่การอนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนฯ โดยแยกเป็นหน่วยงานและโครงการ
พบว่าเงินส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปในโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร 968 โครงการ วงเงิน 1,204.70 ล้านบาท
อีกทั้งมีการจัดสรรเงินจากกองทุนฯไปใช้ในโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือโครงการ 'Energy For All' ตามนโยบาย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน จำนวน 43 โครงการ วงเงินรวม 227.84 ล้านบาท
เช่น การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชน อาทิ Solar Home การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาพร้อมแบตเตอรี่ลิเธียม และการติดตั้งเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง เป็นต้น
และปรากฏข้อมูลว่าหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงพลังงาน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ,สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และกรมธุรกิจพลังงาน ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ รวม 16 โครงการ วงเงินรวม 226.98 ล้านบาทหรือคิดเป็น 10.9% ของเงินที่กองทุนฯอนุมัติจัดสรรในปีงบ 2563
ที่สำคัญเมื่อพิจารณารายละเอียดโครงการของหน่วยงานราชการที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พบข้อมูลว่า 3 ใน 4 หน่วยงาน ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯเพื่อนำไปใช้โครงการเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมความรู้ และการจัดประชาสัมพันธ์ จำนวน 11 โครงการ เป็นเงินรวม 182.56 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของงบที่กองทุนฯอนุมัติจัดสรร ได้แก่
1.โครงการ Thailand Energy Awards 2020 (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) 24.14 ล้านบาท
2.โครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) 13.43 ล้านบาท
3.โครงการบริหารและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานบนสื่อออนไลน์ (สนพ.) 12.12 ล้านบาท
4.โครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรพลังงานเพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี (Startup) ที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) 6.68 ล้านบาท
5.โครงการบริหารการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ด้านนโยบายพลังงาน (สนพ.) 15.52 ล้านบาท
6.โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2564 ส่วนที่ 1 (สนพ.) 8.51 ล้านบาท
7.โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2564 ส่วนที่ 2 (สนพ.) 23.24 ล้านบาท
8.โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลพลังงาน ปี 2563 (สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน) 13.60 ล้านบาท
9.โครงการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านงานศิลปะ (สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน) 6.16 ล้านบาท
10.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ (Energy Mobile Unit) เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านพลังงานแก่ประชาชนในพื้นที่ (สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน) 42.03 ล้านบาท
11.โครงการประชาสัมพันธ์แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประจำปี 2563 (กรมธุรกิจพลังงาน) 17.10 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดสรรเงินกองทุนฯเพื่อนำไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ ตามพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 25 ว่า เงินกองทุนให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
“… (3) เป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนในเรื่องดังต่อไปนี้…(จ) การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน”
แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า เงินเกือบ 10% ของเงินที่กองทุนฯอนุมัติจัดสรรทั้งหมด ซึ่งถูกจัดสรรไปเพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในปีงบ 2563 นั้น มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ ขณะที่แต่ละหน่วยงานเองก็มีงบเพื่อการประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว
เช่นเดียวกัน การที่โครงการส่วนใหญ่หรือเกือบ 1,000 โครงการ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร และระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชน ทำให้ถูกจับตาว่าเมื่อโครงการลงไปในพื้นที่แล้วจะมีการ ‘แสวงหาประโยชน์’ จากคนบางกลุ่มในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่
เหล่านี้เป็นรายละเอียดการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อโครงการลงไปยังพื้นที่แล้วผลจะเป็นอย่างไร
อ่านประกอบ :
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/