"..พบว่าบางโครงการ เป็นการรวบรวมบัตรประชาชนของเกษตรกรในพื้นที่ให้ครบ 7 ครัวเรือน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ คือ ต้องมีไม่น้อยกว่า 7 ครัวเรือน และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ แต่ปรากฎว่าบางครัวเรือนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง..."
................
ลงนามหนังสือยืนยันการขอรับการสนับสนุนเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบ 2563 ซึ่งล่าสุดมีหน่วยงานเข้ามาลงนาม 335 โครงการ วงเงินรวม 1,102.35 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.38% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ (อ่านประกอบ : หลักฐานไม่พร้อม! หน่วยงานเซ็นรับเงิน 'กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ' ปีงบ 63 แค่ 1.1 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบรายชื่อโครงการที่เข้ามาลงนามหนังสือยืนยันฯ พบว่าเป็นโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 271 โครงการ รวม 843 ระบบ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุนระบบละ 423,000 บาท คิดเป็นวงเงินที่ได้รับสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 356.59 ล้านบาท
หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของโครงการติดตั้งระบบสูบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ 968 โครงการ วงเงิน 1,204.70 ล้านบาท (อ่านประกอบ : โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.)
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าโครงการฯที่ยืนยันขอรับการสนับสนุนฯ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อันดับ 1 จ.ชัยภูมิ 44 โครงการ จำนวน 320 ระบบ วงเงินสนับสนุนรวม 135.36 ล้านบาท ,อันดับ 2 จ.ขอนแก่น 8 โครงการ จำนวน 163 ระบบ วงเงินสนับสนุนรวม 68.95 ล้านบาท
อันดับ 3 จ.มหาสารคาม 109 โครงการ จำนวน 150 ระบบ วงเงินสนับสนุนรวม 63.45 ล้านบาท ,อันดับ 4 จ.สุพรรณบุรี 90 โครงการ จำนวน 90 ระบบ วงเงินสนับสนุนรวม 38.07 ล้านบาท และอันดับ 5 จ.สกลนคร 2 โครงการ จำนวน 35 ระบบ วงเงินสนับสนุนรวม 14.80 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เฉพาะจ.ชัยภูมิและจ.ขอนแก่นนั้น พบว่าได้รับจัดสรรเงินรวมกันกว่า 204.31 ล้านบาท จากวงเงินยืนยันจัดสรรทั้งหมด 356.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของวงเงินยืนยันจัดสรร
ส่วนอีก 10 จังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนงบ ได้แก่ นครราชสีมา ,หนองบัวลำพู ,พิจิตร ,กาฬสินธุ์ ,สุรินทร์ ,นครสวรรค์ ,บุรีรัมย์ ,เพชรบูรณ์ ,บึงกาฬ และเชียงราย พบว่าได้รับจัดสรร ตั้งแต่ 2-29 ระบบ วงเงินที่ได้รับจัดสรรอยู่ที่ 0.84-9.72 ล้านบาท (อ่านข้อมูลประกอบด้านล่าง)
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้โครงการติดตั้งระบบสูบพลังงานแสงอาทิตย์ฯ จะได้รับจัดสรรงบเท่าๆกัน คือ 423,000 บาท/ระบบ แต่จะพบว่าบางหน่วยงานของบโครงการเป็นเดียวแต่มีการติดตั้งระบบสูบน้ำ 2-251 ระบบ แต่บางหน่วยงานกลับ 'ซอย' เป็นหลายโครงการๆละ 1 ระบบ เป็นต้น
เช่นกรณี อบจ.ชัยภูมิ ได้รับจัดสรรงบติดตั้งระบบสูบพลังงานแสงอาทิตย์ฯ 1 โครงการ เพื่อติดตั้ง 251 ระบบ รวมเป็นเงิน 106.17 ล้านบาท แต่ อบต. 6 แห่ง ในจ.สุพรรณบุรี แบ่งโครงการออกเป็นโครงการย่อยๆ 90 โครงการ รวม 90 ระบบ วงเงินรวม 38.07 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯจำนวนหนึ่ง อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการออกใบ นบ./4 (รายงานการทดสอบปริมาณน้ำ) และใบนบ./5 (รายงานประวัติบ่อน้ำบาดาล) เนื่องจากไม่มีเจาะหรือทดสอบปริมาณน้ำบาดาลจริง ซึ่งทำให้การลงทุนและติดตั้งระบบสูบน้ำอาจไม่มีน้ำเพียงพอ
ในขณะที่หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯให้กับโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯนั้น จะต้องมีใบนบ./4 และใบนบ./5 ที่แสดงผลว่าปริมาณน้ำบาดาลต้องไม่น้อยกว่า 600 ลูกบาศก์เมตร/วัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าบางโครงการ เป็นการรวบรวมบัตรประชาชนของเกษตรกรในพื้นที่ให้ครบ 7 ครัวเรือน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ คือ ต้องมีไม่น้อยกว่า 7 ครัวเรือน และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ แต่ปรากฎว่าบางครัวเรือนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯในพื้นที่ อบต.แจงงาน และอบต.ทัพหลวง จ.สุพรรณบุรี พบว่ามีอย่างน้อย 2 โครงการ ซึ่งมีเกษตรกรรวมตัวกันครบ 7 ครัวเรือน โดยมีที่ดินสปก.เพียง 1-2 แปลงเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่มารวมกลุ่มกัน 4-5 ราย/กลุ่มนั้น ไม่มีที่ดิน (อ่านข้อมูลประกอบ)
คงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ในการสั่งการให้สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ลงไปตรวจสอบว่าโครงการติดตั้ง 'ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์' ที่คณะกรรมการฯอนุมัติจัดสรรเงินไปนั้น มีโครงการใดที่ขัดต่อหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินกองทุนฯหรือไม่
ขณะที่ในปีงบ 2564 นั้น เบื้องต้นกระทรวงพลังงานกำหนดแนวทางจัดสรรเงิน 'กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน' โดยวางกรอบจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนโครงการระบบสูบน้ำและ Off Grid เป็นเงินสูงถึง 1,520 ล้านบาท เลยทีเดียว
อ่านประกอบ :
หลักฐานไม่พร้อม! หน่วยงานเซ็นรับเงิน 'กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ' ปีงบ 63 แค่ 1.1 พันล.
พลังงาน-ก.มหาดไทย จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน กระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
มีปัญหาสุขภาพ! ‘ธนธัช’ ลาออกผู้จัดการ ส.กทอ.-สนพ.คุม ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’
สกัดล็อบบี้ยิสต์นอกสาย! โชว์หนังสือ ‘ก.พลังงาน’ ทวงอำนาจคุมเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'
บูสต์โพสต์-เพิ่มไลก์ 5.1 ล.บาท! ชำแหละ ‘งบพีอาร์’ ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์-ที่ปรึกษาฯรับ1.2 แสน/ด.
วาง 5 แนวทาง! กลั่นกรองใช้เงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'-หนุนงบระบบสูบน้ำ 1.52 พันล้าน
โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/