"ในช่วงปี 2557-2563 ทั้ง กอ.รมน. หน่วยงานของกองทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมการพลังงานทหาร รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่ด้านความมั่นคงฯ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับการจัดสรรงบกองทุนฯทั้งทางตรง และได้รับจัดสรรผ่านหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งสิ้น 4,682.95 ล้านบาท..."
..................
หลัง กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แต่งตั้ง สมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างปี 2557-2562 กว่า 788 โครงการทั่วประเทศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา สมบูรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภค ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 (กอ.รมน.ภาค 3)
ผลตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯ 20 แห่ง ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 3 ได้รับจัดสรรงบจากองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นั้น 18 แห่ง ใช้งานได้ตามปกติ อีก 2 แห่ง อยู่ระหว่างการแก้ไข และจะใช้งานได้ตามปกติในเดือนมี.ค.
แต่นั่นแตกต่างจากผลตรวจสอบของ พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้เข้าตรวจสอบโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (โซล่าร์เซลล์) กอ.รมน.ภาค 3 ในพื้นที่ 12 จุด เมื่อเดือนต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
เพราะผลตรวจสอบครั้งนั้นพบว่า โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำโซล่าร์เซลล์หลายแห่ง ‘ใช้งานไม่ได้จริง ถูกปล่อยทิ้งร้าง และไม่มีผู้ดูแล’ (อ่านประกอบ : ใช้งานไม่ได้เพียบ! ผลตรวจ 12 จุดโซล่าร์ฯแม่ฮ่องสอน กอ.รมน.-จ่อชง ป.ป.ช.ส่วนกลางสอบต่อ)
(สมบูรณ์ หน่อแก้ว (กลาง) ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ฯ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 ขอบคุณภาพ : เพจกระทรวงพลังงาน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากข้อมูลการจัดสรรงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตั้งแต่ปี 2557-2563 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สพน.) และสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) พบว่า
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบจากองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ โดยในช่วง 7 ปีล่าสุด หรือตั้งแต่ปี 2557-2563 พบว่า กอ.รมน.ได้รับการจัดสรรงบจากกองทุนฯ ทั้งสิ้น 8 โครงการ วงเงินที่ได้รับจัดสรร 378.63 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับใช้งานภายในค่ายสิรินธร กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า วงเงิน 70.826 ล้านบาท
2.โครงการพลังงานทดแทน สำหรับศูนย์ศิลปาชีพหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วงเงิน 80 ล้านบาท
3.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 64.518 ล้านบาท
4.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 วงเงิน 45.205 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ครบชุด! ไส้ในจัดซื้อโซล่าร์เซลล์อมก๋อย กอ.รมน. 45 ล. ก่อนโดนยื่นสอบแพงกว่าปกติ?)
5.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 วงเงิน 12.65 ล้านบาท
6.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในระดับพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง และภูสอยดาว ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 วงเงิน 31.73 ล้านบาท
7.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ชายแดน ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 วงเงิน 54.825 ล้านบาท
8.โครงการศูนย์เรียนรู้ในพระราชดำริ จำนวน 5 แห่ง วงเงิน 18.875 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. เท่านั้น ที่ได้รับจัดสรรงบจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ จากข้อมูลของกองทุนฯ พบว่า ในช่วงปี 2557-2563 ทั้ง กอ.รมน. หน่วยงานของกองทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมการพลังงานทหาร รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่ด้านความมั่นคงฯ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ได้รับการจัดสรรงบกองทุนฯทั้งทางตรง และได้รับจัดสรรผ่านหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งสิ้น 4,682.95 ล้านบาท
เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายหน่วยงานพบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ได้รับการจัดสรรงบจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ มากเป็นอันดับ 1 โดยได้รับจัดสรร 889.42 ล้านบาท รองลงมาเป็นกรมการพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 427.01 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ กอ.รมน. 378.63 ล้านบาท
ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ กองทัพเรือ ได้รับจัดสรร 328.36 ล้านบาท อันดับ 5 กองทัพบก ได้รับจัดสรร 316.76 ล้านบาท อันดับ 6 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับจัดสรร 313.99 ล้านบาท อับดับ 7 กองบัญชาการกองทัพไทย 139.87 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 84.83 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่น่าสนใจ เช่น
-โครงการจัดสร้างระบบผลิตไฟฟ้าและสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ขนาดไม่น้อยกว่า 1200 วัตต์ เพื่อสนับสนุนกิจการทหาร ของกรมการพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม วงเงิน 240.45 ล้านบาท
-โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในพื้นที่กองทัพเรือ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ของกรมช่างโยธาทหารเรือ วงเงิน 267.90 ล้านบาท
-โครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าร์เซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ (กุโบร์/สุสานจีน/ฌาปนสถาน) ในพื้นที่หมู่บ้านเร่งรัดการพัฒนาและหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 219.49 ล้านบาท
-โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV System) สำหรับใช้งานในหน่วยงานของกองบัญชาการกองทัพไทย ปีงบประมาณ 2561 ของ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) วงเงิน 139.87 ล้านบาท
-โครงการติดตั้งโคมไฟถนน LED ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 94.50 ล้านบาท
นอกจากการจัดสรรงบกองทุนฯให้กับกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงโดยตรงแล้ว กองทุนฯยังได้จัดสรรงบผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำหรับใช้ในโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานของหน่วยงานความมั่นคงด้วย เช่น
-การจัดสรรงบในโครงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในโครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ วงเงิน 126 ล้านบาท
-โครงการส่งเสริมพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำประปาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 221 ล้านบาท
-โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในหน่วยงานด้านความมั่นคง 13 โครงการ วงเงิน 799.19 ล้านบาท (อ่านข้อมูลประกอบในตาราง)
เหล่านี้เป็น 'ส่วนหนึ่ง' ของโครงการที่ได้รับจัดสรรจากงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ในช่วง 7 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กอ.รมน. กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่า
ใช้งบคุ้มค่าหรือไม่!
อ่านประกอบ :
ขมวดกลุ่มเอกชนซื้อ-ยื่นซอง-ผู้ชนะ โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน.ภ.3 ยอดรวม 5 แห่ง 193 ล.
11 โครงการ 463 ล.! โซล่าร์เซลล์ กอ.รมน. ทั่วประเทศ-ก่อน ป.ป.ช.สอบพื้นที่แม่ฮ่องสอน
5 เงื่อนไข 6 คุณสมบัติ! เปิดยื่นขอจัดสรรเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ' ปี 64 กว่า 6.5 พันล.
ชำแหละงบ ‘กองทุนอนุรักษ์ฯ’ สูบน้ำโซล่าร์เซลล์ 356 ล้าน กระจุก ‘ชัยภูมิ-ขอนแก่น’ 204 ล.
หลักฐานไม่พร้อม! หน่วยงานเซ็นรับเงิน 'กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ' ปีงบ 63 แค่ 1.1 พันล.
พลังงาน-ก.มหาดไทย จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน กระตุ้นการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
มีปัญหาสุขภาพ! ‘ธนธัช’ ลาออกผู้จัดการ ส.กทอ.-สนพ.คุม ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’
สกัดล็อบบี้ยิสต์นอกสาย! โชว์หนังสือ ‘ก.พลังงาน’ ทวงอำนาจคุมเงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'
บูสต์โพสต์-เพิ่มไลก์ 5.1 ล.บาท! ชำแหละ ‘งบพีอาร์’ ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์-ที่ปรึกษาฯรับ1.2 แสน/ด.
วาง 5 แนวทาง! กลั่นกรองใช้เงิน 'กองทุนอนุรักษ์ฯ'-หนุนงบระบบสูบน้ำ 1.52 พันล้าน
โชว์ยิบจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ! งบพีอาร์ 182 ล้าน-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซลาร์ฯ 1.2 พันล.
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
เบื้องหลัง ‘7 กฎเหล็ก’ ล้อมคอก ‘ถลุงเงิน’ กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5.6 พันล้าน
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/