“...มีโครงการหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม (ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) กำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ในพื้นที่จ.ขอนแก่น ซึ่งใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯเมื่อปี 57-58 ซึ่งหลังจากกระทรวงพลังงานส่งคนลงไปดู ปรากฏว่าเมื่อไปยังที่ตั้งโครงการฯพบว่าแผงบางส่วนไม่อยู่แล้ว มีการนำแผงไปแยกชิ้นขาย เพราะไม่มีใครเข้าไปดูแล...”
หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นความ ‘โปร่งใส’ และการเปิดช่องให้บรรดานักการเมืองเข้ามา ‘แทรกแซง’ การจัดสรรเงิน ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ (อ่านประกอบ : จับตา 'กองทุนอนุรักษ์พลังงาน' ยุค พปชร. วิจารณ์แซด ‘ชงเองกินเอง’?)
กระทั่งนำไปสู่การปรับโครงสร้างอำนาจในการ 'อนุมัติ' จัดสรรเงินกองทุนฯ 'ยกแผง' พร้อมๆกับปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินกองทุนฯใหม่ทั้งหมด (อ่านประกอบ : ไม่เน้นซื้อของ! ‘สนธิรัตน์’ รื้อเกณฑ์กองทุนอนุรักษ์ฯ-เชื่อปิดช่องการเมืองแทรก)
ล่าสุด คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานงานบริหารกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการทำข้อเสนอโครงการ 7 ข้อ เพื่อเป็นกรอบเบื้องต้นในการจัดสรรเงินกองทุนฯ ก่อนเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณา ซึ่งประกอบด้วย
ข้อ 1 เป็นโครงการที่ ‘ตรงกับ’ วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 กิจกรรมและเป้าหมาย หรือผลผลิต สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีผลผลิต ผลลัพธ์ที่แสดงถึงความสำเร็จของโครงการ และแสดงถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ
ข้อ 2 เป็นโครงการที่มี ‘ข้อมูลทางเทคนิค’ ของอุปกรณ์สำหรับประกอบการพิจารณา แสดงผล ‘ประหยัดที่ถูกต้อง’ มีข้อมูลที่เกี่ยวกับระยะเวลาคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ ‘ชัดเจน’ หรือกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ
ข้อ 3 เป็นโครงการที่ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็น ‘ผู้ขอแทนกัน’ ในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน
ข้อ 4 กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานและผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (ผลการเบิกจ่ายของเจ้าของโครงการ) และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการ โดยจะต้องมีผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (โดยมีการแสดงข้อมูลผลความก้าวหน้า) ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ
ข้อ 5 กรณีเป็นโครงการที่มีลักษณะ ‘สาธิต’ หรือ ‘ริเริ่ม’ หรือโครงการที่มี ‘ผลสัมฤทธิ์’ แล้ว ไม่สมควรให้การสนับสนุนเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ข้อ 6 กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ‘ผลผลิตภาคการเกษตร’ จะต้องเสนอ ‘แผนการจัดการตลาด’ ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ขอรับการสนับสนุน และแผนที่สามารถ ‘วัดผล’ ได้ว่าจะนำไปสู่การสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
ข้อ 7 ทรัพย์สินใดๆ ที่เกิดจากการสนับสนุนเงินจากกองทุนๆ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ได้รับการสนับสนุนที่ต้องบำรุงรักษา และดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
แต่ทว่าที่มาที่ไปของเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ ซึ่งพุ่งไปที่การ ‘อุดช่องโหว่’ การใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯนั้น ต้องเรียกว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะเงื่อนไขดังกล่าวสรุปมาจากบทเรียน ‘ราคาแพง’ ของการใช้เงินกองทุนฯที่มีความผิดพลาดในอดีต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลั่นกรองโครงการที่สมควรได้รับการพิจารณาสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งระบุว่า เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการรั่วไหลของการใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาในอดีต
แหล่งข่าว ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ในอดีตมีหน่วยงานหลายแห่งเสนอโครงการฯเข้ามาขอเงินจากกองทุนฯ แต่ไม่มีกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน หรือเรียกว่าเสนอโครงการ ‘ขอเงิน’ ไปก่อน เมื่อได้เงินไปแล้วค่อยไปหาไปหา ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ทีหลัง อีกทั้งโครงการไม่มีรายละเอียดว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ และคุ้มค่าหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น โครงการไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ (เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์) ในหลายพื้นที่ มีหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนฯไปทำโครงการลักษณะนี้ แต่ปรากฎว่าที่ตั้งของโครงการอยู่ในต่างจังหวัด โดยเป็นพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเมื่อสอบถามกับทางอบต. ก็ได้รับคำตอบว่า อบต.ไม่ได้ต้องการโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น
ปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเสร็จแล้ว ส่วนราชการแห่งนั้นได้ทำเรื่องขอยกกรรมสิทธิ์โครงการให้กับอบต.ในพื้นที่ แต่อบต.ไม่ขอรับมอบกรรมสิทธิ์ เพราะหากรับมอบแล้ว อบต.ต้องจัดสรรงบบำรุงรักษาโครงการฯทุกปี บางโครงการต้องใช้เงินปีละเป็นสิบล้าน ซึ่งเกินกำลังของอบต.จะรับไหว สุดท้ายโครงการฯก็ไม่มีใครดูแล จนใช้การไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่ว่าเมื่อโครงการลงไปแล้ว แต่ไม่มีใครดูแล จึงได้มีการกำหนดเป็นเงื่อนไขข้อ 7 คือ ให้โครงการหรือทรัพย์สินใดๆที่ได้รับสนับสนุนเงินจากกองทุนๆ เพื่อดำเนินโครงการนั้นๆ ให้ถือเป็นทรัพย์สินของ ‘ผู้ได้รับการสนับสนุน’ ซึ่งก็คือผู้ที่เสนอขอโครงการ โดยจะต้องจัดสรรงบมาบำรุงรักษาด้วย
แต่หากไม่มีการบำรุงรักษา ปีต่อๆไปหน่วยงานเจ้าของโครงการฯจะถูก 'แบล็กลิสต์' ไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนฯอีก
(ที่มา : ยุทธศาสตร์จัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์การอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เม.ย.2561)
ส่วนการกำหนดข้อห้ามไม่ให้มีการ 'เสนอขอโครงการแทนกัน' ตามเงื่อนไขข้อ 3 นั้น ก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเช่นดกัน คือ ที่ผ่านมามีกรณีว่าอบต. 2-3 แห่ง ต้องการทำโครงการเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำ แต่อบต.ไม่ได้เสนอโครงการเอง และให้มหาวิทยาลัยบางแห่งเป็นผู้เสนอโครงการให้ และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ระเบียบของทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก่อนนำไปติดตั้งในพื้นที่
“เหตุผลที่อบต.ต้องทำอย่างนี้ เพราะหากเสนอโครงการไปและได้รับอนุมัติเงิน การจัดซื้อจัดจ้างของอบต.จะต้องปฏิบัติตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีความเข้มงวด และถ้าตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตก็จะมีโทษหนัก จึงให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวดน้อยกว่า เป็นผู้ขอโครงการและจัดซื้อฯแทน โดยมหาวิทยาลัยจะได้รับค่าตอบแทนในฐานะที่ปรึกษาฯ” แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่เงื่อนไขข้อที่ 4 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของโครงการที่เคยได้รับเงินจากกองทุนฯไปแล้ว ต้องทำโครงการได้ไม่น้อยกว่า 50% จึงจะมาขอเงินโครงการใหม่นั้น เนื่องจากบางโครงการฯได้รับอนุมัติเงินไปตั้งแต่ปี 57 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ปิดโครงการ และยังมาขอโครงการใหม่อีก ทำให้ปัจจุบันมีเงินส่วนนี้ค้างในกองทุนฯประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในกรณีข้อ 5 ที่กำหนดเงื่อนไขว่า ไม่สมควรสนับสนุนโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ เช่น การติดตั้งแอร์ประหยัดพลังงาน หรือการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED นั้นเพราะทุกคนต่างก็ทราบดีอยู่แล้วเป็นประหยัดไฟฟ้า เมื่อรู้ผลว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะมาขอเงินจากกองทุนฯอีก แต่ควรใช้งบปกติของหน่วยงานนั้นๆแทน
“มีโครงการหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม (ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) กำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.ขอนแก่น ซึ่งใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯเมื่อปี 57-58 แต่หลังจากกระทรวงพลังงานส่งคนลงไปดูเมื่อไม่นานนี้ ปรากฏว่าเมื่อไปถึงที่ตั้งโครงการฯพบว่าแผงบางส่วนไม่อยู่แล้ว มีการนำแผงไปแยกชิ้นขาย เพราะไม่มีใครเข้าไปดูแล” แหล่งข่าวทิ้งท้าย
(สถานะการยื่นโครงการฯเพื่อขอรับจัดสรรเงินจากกองทุนพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบ 63)
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของเงื่อนไข 7 ข้อในการ 'คัดกรอง' โครงการฯที่เสนอขอรับเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯใน 'รอบแรก' และคงต้องติดตามว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มี 'กุลิศ สมบัติศิริ' ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ จะมีโครงการผ่านเข้ารอบบ้าง
เพราะจากตัวเลขล่าสุดพบว่าหน่วยงานต่างๆเสนอโครงการเพื่อขอรับจัดสรรเงินจากกองทุนฯแล้ว 5,155 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 62,616 ล้านบาทนั้น 'สูงกว่า' กรอบวงเงินที่จัดสรรในปีงบ 63 ซึ่งตั้งไว้ 5,600 ล้านบาท ถึง 11 เท่าตัว เลยทีเดียว
อ่านประกอบ :
แอบอ้างชื่อ 'อิศรา' ร้องเรียนทุจริตงบกองทุนอนุรักษ์ฯ เรียกเงิน15 % -เอี่ยวนักการเมือง
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/