“...นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีบางนโยบายไม่ได้บรรจุในคำแถลงต่อรัฐสภา เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 ว่า คำแถลงนโยบายจะเน้นภาพกว้างก่อน...ก็ขอเวลานิดหนึ่งแต่ยืนยันว่า จะดูแลทันที ส่วนจะใช้เวลากี่ปี ขอเวลาทำงานก่อน...”
ISRA-SPECIAL : กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร สำหรับคำแถลงนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกเปิดเผยออกมาก่อนล่วงหน้า จากกำหนดที่จะต้องแถลงเป็นทางการในวันที่ 11 กันยายน 2566 นี้ ตามรายละเอียดที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้น เพราะมีบางนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอยู่ในชุดคำแถลงนโยบายนี้ด้วย
- เปิด(ร่าง)คำแถลงนโยบายรัฐบาล‘เศรษฐา’ งานเร่งด่วน‘แจกเงินดิจิทัล-พักหนี้เกษตรกร-แก้รธน.’
- เปิด 4 นโยบายเร่งด่วน ครม.เศรษฐา ‘หมื่นบาทดิจิทัล’ ตัวชูโรง
สำทับกับช่วงกลางดึกวันที่ 5 ก.ย. 2566 ‘พรรคก้าวไกล’ ออกมาเปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม ‘X’ (Twitter) ถึงคำแถลงนโยบายที่จัดทำขึ้นว่า "ด่วน! ช่วยกันตรวจคำสัญญาหาเสียงจากเอกสารที่ถูกคาดการณ์ว่าเป็นคำแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่มีเรื่องให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีร่างใหม่ทั้งฉบับ ? ไม่มีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ? ไม่มีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ?
คำสัญญาหาเสียงหายไปเยอะขนาดนี้ เราหวังว่าเอกสารนี้จะยังไม่ใช่ฉบับจริง มารอลุ้นเอกสารทางการอีกครั้ง พร้อมจับตาในการแถลงนโยบายรัฐบาลและติดตามการอภิปรายของพรรคก้าวไกล เร็วๆ นี้ !"
โดยทวิตดังกล่าวมีผู้รีโพสต์แล้ว 10,400 ครั้ง และแสดงความเห็นกว่า 500 ทวิต
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีบางนโยบายไม่ได้บรรจุในคำแถลงต่อรัฐสภา เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 ว่า คำแถลงนโยบายจะเน้นภาพกว้างก่อน โดยนโยบายด้านขนส่งจะมีทั้งทางน้ำ บก ราง และอากาศ ในเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท จะต้องดูการเชื่อมต่อ ซึ่งมีแนวคิดจะให้บัตร 1 ใบเขื่อมต่อกันได้ทั้งหมด แต่ต้องดูค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไหร่? รัฐบาลต้องชดเชยจากงบประมาณเท่าไหร่? ก็ขอเวลานิดหนึ่งแต่ยืนยันว่า จะดูแลทันที ส่วนจะใช้เวลากี่ปี ขอเวลาทำงานก่อน
(อ่านเพิ่มเติม: ‘เศรษฐา’ แย้ม 13 ก.ย. 66 ครม.พิจารณามาตรการช่วยเกษตรกร)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบถึงนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้มีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลผ่าน เอกสารการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงินตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ของพรรคเพื่อไทยที่ได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
ซึ่งตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองที่โฆษณานโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน ชี้แจงข้อมูลต่อ กกต. ใน 3 ประเด็น โดยระบุวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ, ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
สำหรับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยบรรจุไว้ในเอกสารมีจำนวนทั้งสิ้น 70 นโยบาย มีนโยบายที่ระบุวงเงินชัดเจน 26 นโยบาย ใช้วงเงินรวม 1,810,870 ล้านบาท ซึ่งรายงานนี้จะยกมาบางส่วน
เปิดงบ 5 นโยบายเร่งด่วน ใช้เงิน 576,000 ล้านบาท
หากเอานโยบายเร่งด่วนที่ระบุในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งมีจำนวน 5 นโยบาย เมื่อสืบค้นจากเอกสารดังกล่าวพบว่า ทั้ง 5 นโยบายเร่งด่วน จะใช้วงเงินรวม 576,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
1.นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ใช้เงินทั้งหมด 560,000 ล้านบาท ที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณและบริหารระบบภาษี 5 แหล่ง ได้แก่ ประมาณการณ์รายได้ในปี 2567 จากภาษีที่จะจัดเก็บได้มากขึ้น 260,000 ล้านบาท, ภาษีที่จะได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท, การบริหารงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และการบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
2.นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สิน ใช้เงินทั้งหมด 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ใช้เงินทั้งหมด 8,000 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารระบบงบประมาณและงบประมาณ และยังมีมาตรการที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีบรรจุในนโยบายลดหนี้ประชาชน วงเงิน 13,000 ล้านบาท โดยในวงเงินนี้จะแบ่งไปใช้ในการพักหนี้ด้วย เน้นหนักที่ธุรกิจที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ระยะเวลา 1 ปี และอุดหนุนสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (Pico Finance) โดยทั้ง 2 รายการนี้ ยังไม่ได้ให้รายละเอียดใช้งบเท่าไหร่
3.นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ไม่ได้ระบุวงเงินที่ต้องใช้ แต่บอกที่มาของเงินจะมาจากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี
4.นโยบายผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเน้นไปที่ ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE)
โดยในเอกสารที่ทำถึง กกต. ระบุถึงการยกระดับหนังสือเดินทาง (Passport) ไม่ได้ระบุวงเงินที่ต้องใช้ ส่วนวิธีการจะใช้การเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มจำนวนประเทศที่ Passport ไทยสามารถใช้ได้ และประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับวีซ่าแต่อย่างใด
5.นโยบายการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ใช้เงินทั้งหมด 3,000 ล้านบาท ที่มาจะมาจากการบริหารระบบงบประมาณและภาษี ซึ่งในเอกสารที่ทำถึง กกต. ระบุชัดเจนว่า “จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยคงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนและผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ”
คืนชีพ ‘แท็บเล็ต-บริหารจัดการน้ำ’
นอกจากนี้ ในเอกสารที่ทำถึง กกต. ได้กล่าวถึงนโยบายที่เคยดำเนินการในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อาจจะมาดำเนินการในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินด้วย โดยขอยกมา 2 นโยบาย ได้แก่
1.นโยบายบริหารจัดการน้ำ ประเมินเงินที่ต้องใช้เบื้องต้น 500,000 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ มีทั้งการสร้างทางระบายน้ำลงสู่ทะเล (Floodway), สร้างเขื่อน ฝาย และแก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำ, ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำจากถนนทำเป็นสะพานข้าม และเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ 15 ล้านไร่ใน 4 ปี ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
และ 2.นโยบายแท็บเลตเพื่อการศึกษา นักเรียน 1 คน 1 เครื่อง และครูผู้สอน 1 คน 1 เครื่อง พร้อมฟรีอินเทอร์เน็ต ใช้เงินรวม 31,800 ล้านบาท แบ่งเป็นของนักเรียน 29,000 ล้านบาทและครู 2,800 ล้านบาท ที่มาจะมาจากการบริหารระบบงบประมาณและภาษี
5 นโยบายคมนาคม ‘รถไฟฟ้า 20บ.-ยกเครื่องรถไฟชั้น 3’
ขณะที่นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามเอกสารที่ทำถึง กกต. พรรคเพื่อไทยมีนโยบายด้านนี้ 5 อย่าง ดังนี้
1.นโยบายรถไฟฟ้ากทม. 20 บาท ใช้เงินทั้งหมด 40,000 ล้านบาท และในแต่ละปีจะใช้งบอีก 8,000 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
2.นโยบายติดแอร์ในรถไฟชั้น 3 และปรับปรุงให้ทันสมัย ใช้เงิน 920 ล้านบาท/ปี ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
3.นโยบายยกระดับรถไฟให้รองรับการเดินทางแบบไป-กลับประจำ ลักษณะเป็น Feeder เชื่อมเดินทาง ใช้เงิน 11,700 ล้านบาท/ปี ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
4.นโยบายเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้าจากลาว - ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี - สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เงินทั้งหมด 405,000 ล้านบาท แบ่งใช้ 9 ปี ปีละ 45,000 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
และ 5.นโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ใช้เงินทั้งหมด 800,000 ล้านบาท แบ่งใช้ 10 ปี ปีละ 80,000 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณ, ภาษี, เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
ส่องนโยบายสวัสดิการฉบับ ‘เพื่อไทย’
ปิดท้ายด้วยนโยบายด้านสวัสดิการ ที่ในเอกสารชุดเดียวกันนี้ กล่าวถึงไว้ 5 ประการ ได้แก่
1.นโยบายสมทบคนสร้างตัว ใช้เงินทั้งหมด 90,000 ล้านบาท ที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณและภาษี ซึ่งนโยบายนี้มีเนื้อหาเพียงว่า จะมีการจัดสรรสวัสดิการวัยทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
2.นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ใช้เงินทั้งหมด 300,000 ล้านบาท ที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณและภาษี
3.นโยบายหวยบำเหน็จ ใช้เงินทั้งหมด 800 ล้านบาท ที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณและภาษี ออกแบบให้ประชาชนออมเงินผ่านสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจะได้เงินคืนตอนอายุ 60 ปี
4.นโยบายสนับสนุนและให้สิทธิจ้างงานผู้สูงอายุ ใช้เงินทั้งหมด 500 ล้านบาท ที่มาของเงินจะมาจากการบริหารงบประมาณและระบบภาษี โดยจะสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์ในการจ้างงานผู้สูงวัย รวมถึงยืดอายุการเกษียณออกไป
และ 5.ยกระดับสวัสดิการทั้งระบบ โดยได้ระบุวงเงินชัดเจน แต่จะใช้การบริหารทิศทางและนโยบายทั้งบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งที่มาของเงินคือการบริหารงบประมาณและระบบภาษี โดยจะยกระดับสวัสดิการทั้งระบบของประเทศ
จากที่ได้ฉายภาพทั้งหมด หากนำข้อมูลไปเทียบกับคำแถลงนโยบาย จะพบว่า นโยบายด้านคมนาคมทั้งหมด, นโยบายแท็บเลต, นโยบายโครงการจัดการน้ำ และนโยบายด้านสวัสดิการ
ยังไม่มีในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้?
อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ชื่อเล่นว่า ‘ครม.เศรษฐา 1’ นั้น มีพรรคร่วมรัฐบาลร่วมด้วย 11 พรรค จากเสียงจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง
ดังนั้น นโยบายทั้งหมดจึงต้องถ้วนเฉลี่ยนโยบายทั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก่อน
นั้นจึงอาจเป็นสาเหตุ ที่ทำให้นโยบายบางส่วน จำต้องตกขบวน? จำต้องหายไปก่อน?
ส่วนนโยบายเหล่านี้ในอนาคตจะกลับมาได้อีกหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครบอกได้เช่นกัน
เพราะคำมั่นสัญญาของ นายเศรษฐา ณ เวลานี้ มีเพียงแค่ "จะดูแลทันที ส่วนจะใช้เวลากี่ปี ขอเวลาทำงานก่อน" เท่านั้น
นอกจากนี้ คงต้องจับตารอดูวันที่ 11 ก.ย. 2566 นี้ว่า รัฐบาลข้ามขั้ว-สลายความขัดแย้ง จะสัญญานโยบายอะไรต่อที่ประชุมรัฐสภาบ้าง? สำคัญที่สุดจะทำได้จริงแค่ไหน? นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะโชว์ฝีมือบริหารประเทศให้ประชาชนตาดำๆได้กำไร เหมือนบริหารบริษัทแสนล้านแล้วผู้ถือหุ้นได้กำไรหรือไม่
อีกไม่นาน คงรู้กัน
อ่านประกอบ
- ส่องนโยบายพรรคการเมืองไม่พ้นวังวนประชานิยม เสนอเปลี่ยนเงินอุดหนุนเป็นสวัสดิการ
- นโยบายที่ถูกลืม? 'ความปลอดภัยบนถนน' พรรคการเมืองไฉนไม่ให้ความสำคัญ
- TDRI: 'ต้นทุน-ที่มา'ทางการเงินของนโยบายพรรคการเมือง
- สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
- 10 ปี'จำนำ-ประกันรายได้'รัฐเท 1.2 ล้านล. อุดหนุนประชานิยม'ข้าว'-TDRIจี้เลิกชดเชยซ้ำซ้อน
- จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?