ภาคประชาชนส่อง นโยบาย 8 พรรคการเมืองยังอยู่ในวงวนประชานิยม ยิ่งแจกยิ่งจน ขณะที่วิจัยพบทุ่มงบฯ อุดหนุนเกษตรกร 1.5 แสนล้าน/ปี แต่เกษตรกรมีรายได้ 202.7 บาท/วัน ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ยังติดอยู่ในวงจรความยากจน เสนอ 5 ประเด็นเปลี่ยนเงินอุดหนุบเป็นสวัสดิการ
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง โดยพบว่า นโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของประชานิยม การเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในระยะสั้นไม่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาโครงสร้างระยะยาว และเกษตรกรไม่สามารถก้าวข้ามความยากจนได้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองที่อออกมาในช่วงวันที่ 24 ก.พ. 2566 พบว่า พรรคการเมืองมีนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร มี 8 พรรคการเมืองที่ได้ระบุถึง โดยมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
พรรคภูมิใจไทย
เสนอเกษตรร่ำรวย พักหนี้เกษตรกร และมีไฮไลท์ คือการทำ contract farm พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน จะมีการขยายไปสู่พืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพด มะพร้าว ลำไย
พรรคพลังประชารัฐ
เน้นเรื่อง 3 ลด 3 เพิ่ม นโยบายคล้ายกับเวียดนาม ลดความเสี่ยงราคา 4 พืชเศรษฐกิจ ลดต้นทุน ชูเรื่องปุ๋ยประชารัฐ เพิ่มรายได้
พรรคประชาธิปัตย์
เน้น ประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่างพืชเศรษฐกิจ และเสนอเรื่องการฟาร์มโคนม นมโรงเรียน และผลักดันเรื่องกองทุนประมง กลุ่มละ 100,000 บาท/ครัวเรือน ปลดล็อคประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU ออกโฉนดที่ดิน 1,000,000 แปลง ภายใน 4 ปี
พรรคชาติไทยพัฒนา
ชูคำขวัญ WOW Thailand เกษตรกรรมยั่งยืน คาร์บอนเครดิต แจกพันธุ์ข้าวฟรี เงินทุนเพาะปลูกพืช ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตร บ่อบาดาลขนาดใหญ่ทุกตำบล เพื่อบริโภคและการเกษตร
พรรคก้าวไกล
เกษตรไทยก้าวหน้า เสนอกระดุม 5 เม็ด คือ ปฏิรูปที่ดิน ทำระบบกองทุนส่งเสริมธนาคารที่ดิน ระบบภาษีที่ดิน แก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดิน และ ปลดหนี้เกษตรกร ยกหนี้เกษตรกรสูงวัย เช่าที่เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ทำระบบชลประทาน เพิ่มงบ 25,000 ล้านบาท/ปีเพื่อทำระบบชลประทานท้องถิ่น สุราก้าวหน้า อาหารโรงเรียนที่มาจากชุมชน และ ยกระดับสินค้าที่รับรองมาตรฐานให้เกษตรกรฟรี ท่องเที่ยวเกษตร ส่งออกสินค้าคุณภาพ
พรรคไทยสร้างไทย
เปิดตลาดสินค้าเกษตร ตลาดแปรรูป ปรับโครงสร้าง และผลักดันโครงการ โขง ชี มูล บ่อน้ำ 1 ล้านบ่อ บาดาล 1 แสนบ่อ เกษตร BCG Model แก้ปัญหาสิทธิที่ดิน ปฏิวัติการใช้ที่ดิน สปก. ตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อเกษตรกร รองรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาการเกษตรของเกษตรกร
พรรคชาติพัฒนากล้า
เกษตรสร้างชาติ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี – อุตสาหกรรม เกษตรพรีเมี่ยม ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตรแปรรูป โดยเสนอระบบ cloud factory สอนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่ผู้ผลิต ด้วยการค้าขายออนไลน์ การรวมกลุ่มบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรกร และผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
พรรคเพื่อไทย
จุดสำคัญคือเรื่องราคาสินค้าเกษตรให้ขึ้นต่อเนื่อง เน้นรายได้เกษตรกรที่เคยสร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี เสนอการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เกษตรแม่นยำ AI มาช่วยในการเกษตร มีการปรับปรุงหน้าดิน และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทลายการผูกขาดในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กีดขวางความคิดสร้างสรรค์ของรายเล็กรายย่อย เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ผลไม้ แก้ปัญหาเรื่องระบบจัดการน้ำด้วยการสร้างคลองเชื่อมแม่น้ำสายหลัก อ่างเก็บน้ำแก้มลิง
ทุ่มประชานิยมแสนล้าน เกษตรกรไม่พ้นความจน
ขณะที่ นายวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัย 101PUB – 101 Public Policy Think Tank เปิดเผยผลวิจัยนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกร พบว่า นโยบายเงินอุดหนุนยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ ทำให้เกษตรกรเข้าไปสู่วงจรแห่งความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ที่ผ่านมารัฐใช้งบประมาณอุดหนุนราคาพืช 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด รวมทั้งสิ้น 4.6 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท/ปี แต่ชีวิตของเกษตรกรก็ยังยากจน
“การที่พรรคการเมืองใช้เครื่องมือชูประชานิยมช่วงเลือกตั้ง และที่ผ่านมาพบว่า ไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ได้ทำให้เกษตรกรหลุดพ้นความยากจนแต่สร้างวงจรความยากจน-หนี้สินประเทศ”
ล้านครัวเรือนที่ยากจนที่สุด และร้อยละ 27 มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็น ขณะที่ อีก42% มีรายได้ไม่พอชำระหนี้และลงทุนทำเกษตรรอบถัดไป และอีก 34% ยังมีหนี้สินคงค้างมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง
ส่วนสาเหตุของความยากจน และหนี้สินของเกษตรกร มาจากรายได้จากการทำเกษตรรายได้ต่ำมาก ในปี 2560-2564 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการทำเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาท/ปี หรือ 202.7 บาท/วัน น้อยยิ่งกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 328-354 บาท/วัน/คน
ทุ่มเงินอุดหนุนไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง
นายวรดร กล่าวถึงเงินอุดหนุนที่ภาครัฐทำให้ภาคเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยังทำให้เกษตรกรติดอยู่ใน ‘วงจรความยากจน ระยะยาว เนื่องจากไม่ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาตรงจุด เข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่ มากกว่ารายย่อยจึงเห็นว่า ควรจะมีโนยบายการเติมรายได้จากสวัสดิการให้เกษตรกร และ ควรจูงใจให้เงินสนับสนุนบางอย่างผูกกับเงื่อนไข ปรับปรุงการเกษตรเพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกับ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงการอุดหนุนภาคเกษตรส่งผลลบมากกว่าบวก เพราะแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนั้น อยากเสนอให้พรรคการเมือง มีแนวทางนโยบายที่อุดหนุนระยะสั้นและแนวทางนโยบายระยะยายควบคู่กันไป โดยระยะยาวแก้ปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกร และกระจายอำนาจ ส่งเสริมการเกษตรให้ท้องถิ่นมีอำนาจ ให้บทบาท อบจ. อบต. ได้เข้าไปส่งเสริมการเกษตร
พรรคการเมือง ไร้นโยบายแก้ปัญหาการปฏิรูปที่ดินจริงจัง
ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลนี้ที่อยู่มา 8 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านเพื่ออุดหนุนเกษตรกร ถ้ารวมตัวเลขการอุดหนุนตลอด 8 ปี จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาสำคัญคือเงินมหาศาลที่เข้าไปอุดหนุนเกษตรกรไม่ได้ไปสู่การพลิกโฉมเกษตรกร ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตได้ ขณะนี้จึงยังไม่เห็นว่ามีนโยบายพรรคไหนเสนอเรื่องการแก้ปัญหาการปฏิรูปที่ดินกันอย่างจริงจัง หรือนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพลิกโฉมเกษตรกร
ส่วน ดร.ไชยยะ คงมณี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การอุดหนุนที่ทุกพรรคทำ ไปเน้นเรื่อง 'รายได้ กับ ต้นทุนปัจจัยการผลิต' แต่แทบไม่มีนโยบายที่มีการอุดหนุนเพื่อการพัฒนา และการเตรียมรับมือวิกฤตทางสภาวภูมิอากาศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
ขณะที่ทุกพรรคการเมืองยังเสนอนโยบายแบบเดิม และเป็นนโนบายไม่ทันกระแสโลก ผู้ผลิตและปลายทางตลาดโลกต้องการคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น จึงอยากเสนอให้ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายทางการเมืองที่วางรากฐานการเปลี่ยนรูป การเปลี่ยนเกษตรไปแบบใหม่ transformation การเปลี่ยนรูปไปสู่เกษตรยุคใหม่ มั่นคง ผาสุกมากขึ้น ทั้งรายได้ และการแข่งขัน ซึ่งอาจต้องมีเงินอุดหนุน แต่เป็นการอุดหนุนเพื่อการพัฒนา ปรับโครงสร้าง หรืออยู่ในระบบเกษตรต่อเพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนผ่านทันกับกระแสโลกได้
เสนอเปลี่ยนงบฯอุดหนุนเกษตรเป็นสวัสดิการ
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เห็นว่า
-
งบอุดหนุนสินค้าเกษตร 1.5 แสนล้านบาท/ปี ไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนของเกษตรกรรม เกษตรกรที่มีรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์ และไม่ได้นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร
-
ต้องลดงบอุดหนุนลง ปรับงบดังกล่าวมาใช้กับสวัสดิการสังคม-สวัสดิการเกษตรกร
-
นำงบฯ อุดหนุดเกษตรกรไปการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ควรทำ นำงบดังกล่าวไปใช้สำหรับการจัดหาอาหารที่มีคุณภาพแก่เด็กเล็ก เด็กปฐมวัย ให้เพียงพอครบทุกมื้อ ได้สารอาหารครบถ้วน และปลอดภัย
-
สร้างเงื่อนไขให้ต้องใช้อาหารที่มาจากการผลิตที่ยั่งยืนจากท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตขึ้นในทุกตำบล/อำเภอ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น (ปัจจุบันมีการใช้งบฯ อาหารกลางวันนักเรียนประมาณ 28,000 ล้านบาท)
นอกจากนี้ได้เสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง มี 3 ประเด็นคือ1) แก้ปัญหาที่ดิน 2) ปรับงบอุดหนุน เป็นงบสวัสดิการ ไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของเด็ก และ3) กระจายอำนาจ ใช้กลไก อปท.ในการดำเนินการ การพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน และการเข้าถึงอาหารของเด็กเล็ก และเด็กปฐมวัย
ทั้งหมดนี้ คือบทวิเคราะห์นโยบายทางการเกษตรที่แต่ละพรรคการเมืองได้ออกมาหาเสียง จะต้องติดตามต่อไปว่า พรรคใดจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาล และจะสามารถทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้หรือไม่