"...ยังไม่มีสักพรรคเลยที่จะบอกว่า ถ้าพรรคเราเข้ามาเราจะมีนโยบายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่มีคนตายต่อประชากรมากที่สุด เราติดหนึ่งในสิบของการตายของประเทศที่มีการตายจากอุบัติเหตุบนถนน แต่ถ้าเจาะเฉพาะมอเตอร์ไซค์ประเทศไทยเป็นเบอร์หนึ่งของโลก อีกทั้งเมื่อต้นปี 66 ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตรามอเตอร์ไซค์ต่อครัวเรือนมากที่สุดในโลก เหล่านี้ทั้งหมดก็ยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนมาแตะเลยว่า ยิ่งเรามีมอเตอร์ไซค์เยอะ เราตายจากมอเตอร์ไซค์เป็นอันดับ 1 ของโลก ฉะนั้นเราควรมีนโยบายให้เขาปลอดภัย เพราะว่าคนที่ตายจากมอเตอร์ไซค์ก็เป็นกลุ่มวัยทำงานทั้งนั้น ซึ่งเขาจะมาเป็นกำลังสำคัญ..."
ในช่วงปี 2555-2565 ประเทศไทยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ข้อมูลจาก trso.thairoads.org/statistic/national ระบุว่า ปี 2555-2565 ประเทศไทยมีจำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก ดังนี้
อีกทั้งข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) ระบุว่า ปี 2565 มีผู้ประสบภัยจากรถทั่วประเทศ 942,157 คน มีผู้บาดเจ็บสะสม 927,016 คน ทุพพลภาพสะสม 177 คน เสียชีวิตสะสม 14,964 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตร้อยละ 65 อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 1-35 ปี แบ่งประเภทการประสบภัยเป็น ประสบภัยจากรถยนต์ 414,930 คน รถจักรยานยนต์ 527,227 คน โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีสาเหตุการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ถึง 12,072 คน
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Death On the Road ที่ใช้ข้อมูลจากรายงาน Global Status Report On Road Safety 2018 โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงที่สุด
ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดแห่งองค์การอนามัยโลก ย้ำว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส่งผลให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียชีวิตของกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของชาติ
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ความปลอดภัยบนถนน’ ถ้าหากมีนโยบายหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรม ย่อมสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้และย่อมส่งผลดีกับประเทศชาติอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปี 2566 ที่ใกล้เข้ามาถึง พรรคการเมืองจำนวนมากได้นำเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนหลายเรื่อง
แต่นโยบายด้านความปลอดภัยบนถนน กลับกลายเป็นนโยบายที่ถูกลืม ไม่มีพรรคการเมืองให้ความสำคัญนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงกันมากนัก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ความปลอดภัยบนถนน’ ผ่านการค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลข้างต้นถูกระบุอยู่ในนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า พรรคชาติไทยพัฒนามุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งการพัฒนาระบบ ทรัพยากร กลไกการ จัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยและอุบัติภัย สนับสนุนการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยทางถนนอย่างสอดประสานกัน
ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ นั้นไม่พบนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยบนถนนแต่อย่างใด
เบื้องต้น จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับคำตอบที่น่าสนใจดังนี้
@นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม คิดว่าต้องทำอย่างจริงจังเพราะว่าในปัจจุบันภาคเอกชนก็ดำเนินเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ รัฐบาลก็พยายามดำเนินการ ส่วนใหญ่อุบัติเหตุบนถนนเกิดจากสาเหตุเมาแล้วขับ ขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในการขับขี่เพื่อให้มีวินัย ซึ่งรัฐบาลมีกฎระเบียบที่วางไว้แล้วขึ้นอยู่กับคนปฏิบัติที่จะปฏิบัติตามหรือไม่
"ผมไม่ได้ดูเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวพรรคก็คงเข้าไปดู ตอนนี้เราดูในภาพใหญ่ของประเทศก่อน ดูความยากจน ความกินดีอยู่ดี โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่เรื่องนี้ก็สำคัญ" นายธนกรระบุ
@นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคมีนโยบายเรื่องของท้องถนน เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยมีมากพอสมควร พรรคมีความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย การดูแลระบบจราจรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
@นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพรรคมีนายนิกร จำนง เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนมาเป็นเวลานาน รวมถึงนโยบายคาร์ซีทที่เป็นหนึ่งในแนวทางความปลอดภัย ซึ่งพรรคเป็นผู้ผลักดันมาโดยตลอด
"เราตั้งเป้าไว้ว่าความปลอดภัยบนท้องถนน ลดอัตราการเจ็บ อัตราการตายเป็นท้องถนน เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นเราเดินหน้าเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนไม่ใช่แค่ 100% แต่เป็น 110% เราทำมาแล้ว แล้วก็ยังจะทำต่อไป"
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง 4 พรรค ข้างต้น แต่ยังไม่พบข้อมูลนโยบายความปลอดภัยบนถนนที่เป็นทางการแต่อย่างใด
@นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย
ด้าน นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ได้แก่
- พื้นฐานความคิดของสังคม ที่มองว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทส่วนบุคคล เช่น ขับรถเร็ว ไม่ใส่หมวกกันน็อก เมาแล้วขับ เป็นต้น ไม่ได้มองว่าการเกิดอุบัติเหตุส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ต่างจากที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดหรือเรื่องฝุ่น PM2.5
- คนในสังคมมีความเคยชินกับการคิดว่าเดินทางในระยะทางสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องใส่หมวกกันน็อก ถ้าหากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดก็จะถูกมองว่าเป็นการรังแกประชาชน ถ้าพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น ถ้าไม่ใส่หมวกกันน็อกจะถูกปรับเงินเป็นจำนวนมาก เป็นต้น จะทำให้พรรคการเมืองเสียฐานเสียง
- ระบบการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความโปร่งใส ความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การเป่าเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ที่เรียกตรวจเฉพาะคนที่ขับรถธรรมดา แต่พอเป็นคนที่ขับรถหรูก็ไม่เรียกตรวจ เป็นต้น ที่จะต้องแก้โครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายให้มีมาตรฐานโปร่งใส เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ
“โครงสร้างนี้ไปพันกับฐานรากของสังคมไทยที่เป็นสังคมเชิงอุปถัมภ์ สังคมที่มีคอนเนกชันที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รู้จักตำรวจสามารถโทรพูดคุยไกล่เกลี่ยได้ ซึ่งระบบแบบนี้จะว่าตำรวจฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกแต่เนื่องจากเป็นภาพใหญ่ของสังคมไทย สังคมในเชิงอุปถัมภ์ทำให้ความแข็งแรงในการบังคับใช้ที่เป็นมาตรฐานเดียวเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งตรงนี้พรรคการเมืองก็ยังไม่แตะ ยังไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนแตะกับปัญหาเชิงโครงสร้าง แตะกับปัญหาที่จะเสียฐานเสียง พรรคการเมืองมองว่าประชาชนไม่ได้เรียกร้อง ไม่กดดัน แตกต่างจากการกดดันเรื่องยาเสพติด” นายแพทย์ธนะพงศ์กล่าว
นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะสอดแทรกนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยบนถนนไว้ในคำแถลงนโยบายที่ระบุไว้อย่างสั้น ๆ เช่น รัฐบาลจะบูรณาการเพื่อให้เกิดการจัดการการเดินทางปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่การระบุแนวทางสำหรับปฏิบัติแต่เป็นแค่นโยบายนามธรรมที่มองไม่เห็นวิธีการสร้างความปลอดภัยบนถนน ประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของประเทศที่มีการตายสูงที่สุดในโลก อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแต่ในทางกลับกันเยาวชนและวัยคนทำงานกลับเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งจะส่งผลให้สังคมมีแค่ผู้สูงอายุแต่ขาดคนดูแล
"ยังไม่มีสักพรรคเลยที่จะบอกว่า ถ้าพรรคเราเข้ามาเราจะมีนโยบายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่มีคนตายต่อประชากรมากที่สุด เราติดหนึ่งในสิบของการตายของประเทศที่มีการตายจากอุบัติเหตุบนถนน แต่ถ้าเจาะเฉพาะมอเตอร์ไซค์ประเทศไทยเป็นเบอร์หนึ่งของโลก อีกทั้งเมื่อต้นปี 66 ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตรามอเตอร์ไซค์ต่อครัวเรือนมากที่สุดในโลก เหล่านี้ทั้งหมดก็ยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนมาแตะเลยว่า ยิ่งเรามีมอเตอร์ไซค์เยอะ เราตายจากมอเตอร์ไซค์เป็นอันดับ 1 ของโลก ฉะนั้นเราควรมีนโยบายให้เขาปลอดภัย เพราะว่าคนที่ตายจากมอเตอร์ไซค์ก็เป็นกลุ่มวัยทำงานทั้งนั้น ซึ่งเขาจะมาเป็นกำลังสำคัญ"
"ล่าสุดเราร่วมกับสภาผู้บริโภคจัดเวทีนโยบายพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายเรื่อง มอเตอร์ไซค์ รถรับส่งนักเรียน ดูจากตัวแทนพรรคการเมืองที่มาตอบก็ยังไม่ตอบแบบลงรายละเอียด จะพูดแค่หลักการ จะไม่พูดในเชิง How To ว่าทำอย่างไรบ้าง พรรคเราจะทำ 1 2 3 4 5 ยังไม่พูด จะพูดว่าเป็นเรื่องที่ดีเราเห็นด้วย แต่จะต้องคิดแบบนี้นะ" นายแพทย์ธนะพงศ์ระบุ
นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าวถึงข้อเสนอต่อพรรคการเมืองว่า ประเทศที่หลุดพ้นจากความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนจะไม่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาท สังคมไทยยังไม่กลับมากดดันภาครัฐให้มีนโยบายที่ทำให้ประชาชนชาวไทยมีความปลอดภัยบนถนน เช่น มีใบขับขี่ที่มีมาตรฐานสูงกว่าระดับเก่า มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเท่าเทียมมากกว่าเก่า เป็นต้น ไม่อยากให้พรรคการเมืองมองว่าถ้าประชาชนไม่ออกมาเรียกร้องก็จะไม่ทำ อยากเห็นพรรคการเมืองที่มองเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาและสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศในระยะยาว ที่ลดการสูญเสียเยาวชน คนทำงาน และลดภาระการแบกรับสังคมสูงอายุ อยากเห็นนโยบายจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่มุ่งเน้นให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม
เหล่านี้ คือ คำตอบจากพรรคการเมืองบางส่วนและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อนโยบายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ถูกลืมในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ทั้งที่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา