'ภาสกร บุญญลักษม์' อธิบดีปภ. มอบผู้ตรวจราชการแจงอิศรา ปมเสียงวิจารณ์จ้างทำระบบเตือนภัยช่วงหลายปี ใช้งบหลายร้อยล้านโปร่งใส กรณีแจ้งมือถือ 430 ล. กมธ.ในสภาแนะนำให้ไปดูงานของญี่ปุ่นมีแล้วยังขาดยุโรป ปมบริษัทเจ้าเดิมได้งานเรื่องปกติ ยันเปิดกว้าง ทำตามระเบียบภาครัฐ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำโครงการระบบแจ้งเตือนภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ในช่วงปี 2565-2568 มีการใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท แต่ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ขณะที่จากการตรวจสอบยืนยันข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท ที่มีการกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีการจัดฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็นงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีการเดินทางศึกษาดูงานระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ ประเทศในทวีปยุโรป อย่างน้อย 2 ประเทศ
- แกะรอย! ปภ.ทุ่มงบ 500 ล. ทำระบบเตือนภัย ไฉน ปชช.ไม่ได้รับแจ้งเหตุแผ่นดินไหว
- เบื้องหลัง! ปภ.จ้างทำระบบเตือนภัยมือถือ 430 ล. 'ผู้ชนะเจ้าเดิม' ต้องพาไปดูงานยุโรปด้วย
ล่าสุด นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายให้นายประสงค์ ธัมมะปาละ ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชี้แจงข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา
นายประสงค์ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่ปภ.ทำ มี 2 ส่วน คือ 1.จัดทำระบบคาดการณ์ โดยแผ่นดินไหวเป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยามีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอยู่แล้ว โดยทาง ปภ. รับข้อมูลจากกรมอุตุฯแล้วมาวิเคราะห์ ส่วนด้านอื่นโดยในหลายปีที่ผ่านมา ปภ. ก็มีการติดตั้งระบบการคาดการณ์อุทกภัยเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่นที่ไม่มีความพร้อม ประกอบกับทำ Big Data เพื่อคำนวณว่าจะมีอุทกภัยเกิดขึ้นที่ไหน เป็นต้น
"นอกจากนี้ก็มีการเพิ่ม Line และ application ต่าง ๆ มีปรับปรุงหอเตือนภัยที่ปภ. มี แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เตรียมพร้อม เพราะบางครั้งเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น ก็มีประชาชนบางส่วนไม่ได้อยู่ใกล้หอเตือนภัย ปภ.จึงพยามยามเพิ่มช่องทางต่าง ๆ เช่น sms เป็นต้น แต่สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเห็นชัดได้ว่า sms ปกติไม่ตอบโจทย์ sms ไม่ได้มีไว้แจ้งเตือนภัย ซึ่งจริง ๆ ปภ.ก็รู้มา 3-4 ปีแล้ว เราจึงเริ่มศึกษาตัว Broadcast ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี จึงสนใจพัฒนาตัว Broadcast เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยโดยเฉพาะ แต่ก่อนจะมีการแจ้งเตือนได้ จะต้องมีการวิเคราะห์ คาดการณ์ และชี้เป้า ว่าภัยจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร" นายประสงค์ กล่าว
"จึงเป็นที่มาว่าตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่บอกว่าปภ.จัดซื้อจัดจ้างอะไรต่าง ๆ เราลงทุนในเรื่องการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพิ่มเติมจากหน่วยงานต่าง ๆ ยกเว้นเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวที่ปภ. ไม่ได้ติดตั้ง แต่เป็นเรื่องของวัดอากาศ PM 2.5 และทำเรื่องการคาดการณ์ ชี้เป้า ซึ่งก็ไม่ได้ทำเรื่องแผ่นดินไหวอีก เพราะแผ่นดินไหวคาดการณ์ไม่ได้ แต่พอเกิดเหตุขึ้นมาเราจึงทำควบคู่ขนานกันไป ส่วนระบบ Broadcast เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2567" นายประสงค์ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในปี 2560 บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็เคยรับงานของปภ.
นายประสงค์ ตอบว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีหลายบริษัทที่รับงานกับ ปภ. ไม่ได้มี บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพียงรายเดียว เพราะทาง ปภ. เปิดกว้าง ทำตามระเบียบภาครัฐ ทุกอย่างเป็น e-bidding โปร่งใส ทุกคนสามารถเห็น TOR และตรวจสอบได้ และมีการตรวจสอบด้วยว่ามีการทุจริตหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมใน TOR ระบุว่าต้องพาไปดูงานที่ยุโรป ไปดูที่ญี่ปุ่นไม่ได้หรือ?
นายประสงค์ ตอบว่า ทางกรรมาธิการที่สภามีข้อห่วงใยโดยระบุว่า เป็นระบบใหม่ควรมีการศึกษาดูงานกับประเทศหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เคยทำ เช่น ไปดูว่าในการส่งข้อความผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการจัดการระบบอย่างไร เป็นต้น เพื่อทำตามข้อเสนอแนะของกรรมาธิการ อีกทั้งเวลาศึกษาข้อมูลก็ศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น หรือไต้หวัน จึงมีข้อมูลในส่วนนี้อยู่แล้ว จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นยุโรป ถ้ามีการปรับเปลี่ยนในอนาคตก็ค่อยคุยกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เบื้องต้นเรามีข้อมูลฝั่งเอเชียอยู่แล้ว แต่ขาดของฝั่งยุโรปว่ามีมาตรฐานยังไงบ้าง