“…นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่จุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นอีกครั้ง โดยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ…”
..................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีกำหนดแถลงนโยบายรัฐบาลต่อ ‘รัฐสภา’ ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ‘ร่างนโยบายรัฐบาล’ ที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เปิด 5 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ‘เศรษฐา’
กรอบระยะสั้นหรือนโยบายเร่งด่วน
รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว จึงมีนโยบายที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่
1.นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
จะทำหน้าที่จุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นอีกครั้ง โดยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปภาษี
2.นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สิน
รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วย ‘การพักหนี้เกษตรกร’ ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงิน สำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่นๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
3.นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม
ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด
4.นโยบายผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE)
5.นโยบายการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลจะแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ ที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
@นโยบายระยะกลาง เน้นสร้างรายได้-ขยายโอกาส
กรอบระยะกลางและระยะยาว
รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ได้แก่
1.นโยบายสร้างรายได้
รัฐบาลมีแนวทางที่จะสร้างรายได้โดยการใช้ ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย โดยการออกไปพบผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อชักชวนให้มาค้าขายสินค้าและบริการของกันและกัน เร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)
เจรจาเพื่อยกระดับหนังสือเดินทางไทย (Passport) ให้สามารถเดินทางได้หลายประเทศมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น
รัฐบาลจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศและของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก
สำหรับประชาชนในภาคการเกษตร รัฐบาลจะสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายจะทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 4 ปี
2.นโยบายสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชน
รัฐบาลจะสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชนผ่านการดำเนินนโยบาย ดังนี้
-นโยบายการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้นำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้
-นโยบายการเปลี่ยนบทบาทของรัฐที่เคยเป็นผู้กำกับดูแลที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ให้เป็นผู้สนับสนุนที่ปลดล็อคข้อจำกัดของประชาชน สร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้และเจริญเติบโต อาทิ การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เช่น การปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เป็นต้น
-นโยบายการกระจายอำนาจ โดยรัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
-นโยบายสนับสนุนการจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด โดยรัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
-นโยบายสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณและการเลือกตัวแทนของผู้บริหารที่จะเป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น
-นโยบายการเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ โดยรัฐบาลมีนโยบายการเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี
-นโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม ‘1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power’ ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ
-นโยบายด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย
รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน และจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นต้น
3.นโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรีและนำความภาคภูมิใจ มาสู่ประชาชนไทยทุกคน
-นโยบายการสร้างความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก
รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง ให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 และเป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์เอกราช สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและภัยพิบัติ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย
(1) จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
(2) ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์
(3) ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ
(4) ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต และ
(5) นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจ าเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคการเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ
-นโยบายด้านความปลอดภัย โดยรัฐบาลจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้า จะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการ ‘ยึดทรัพย์’ เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด
-นโยบายชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน โดยรัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ
รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน
-นโยบายการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยรัฐบาลจะยกระดับ ‘นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค’ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุม และมีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการพื้นฐานใกล้บ้าน อาทิ การนัดพบแพทย์ การตรวจเลือด และการรับยา ประชาชนไม่ต้องลำบากเดินทางไกลเข้าไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัด และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์
-นโยบายการสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วย ‘สวัสดิการโดยรัฐ’
รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงจะใช้กลไกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อเปิดโอกาสให้สตรีในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคงและจะสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน
รัฐบาลนี้ จะเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย เป็นรัฐบาลที่จะนำเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล รวมทั้งคลื่นความถี่ และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน เป็นต้น
รัฐบาลก็จะไม่ละทิ้งหน้าที่พื้นฐานที่ต้องทำงานร่วมกับประชาชน อาทิ การสร้างความเป็นธรรมในการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิของประชาชนและสิทธิผู้บริโภค การป้องกันและขจัดการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
รัฐบาลจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยรัฐบาลจะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน อาทิ ความปลอดภัยทางถนน การลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ควบคู่กับการสร้างสันติภาพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน
@ให้ความสำคัญ‘วินัยการเงินการคลัง’อย่างเคร่งครัด
ในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย ทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในด้านการใช้จ่าย
รัฐบาลจะดำเนินการใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน
รัฐบาลตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีของประเทศ รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับเข้าสู่ระบบภาษีที่จะนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 ว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว ส่วนกรณีที่ร่างแถลงนโยบายรัฐบาลที่ออกมาไม่ตรงกับนโยบายที่หาเสียง นั้น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลเป็นกรอบใหญ่ จึงไม่ได้ลงรายละเอียดทุกเรื่อง
“ต้องเข้าใจว่าคำว่านโยบายของรัฐบาลเป็นกรอบใหญ่ เป็นหลักการใหญ่ เป็นการพูดถึงเป้าหมาย ไม่ได้ลงรายละเอียดทุกเรื่อง เพราะต้องไปอยู่ในระดับการปฏิบัติ แต่ยืนยันว่าครอบคลุมทุกประเด็นแน่นอน เพียงแต่เรื่องของเวลาหรือเป้าหมายอาจจะจัดให้เป็นรูปธรรมได้” นพ.พรหมินทร์ ระบุ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดของ (ร่าง) นโยบายของรัฐบาล ที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ส่วนจะมีการปรับปรุงเนื้อหาถ้อยคำอีกหรือไม่ คงต้องติดตามในวันแถลงต่อไป!
อ่านประกอบ :
เปิด 4 นโยบายเร่งด่วน ครม.เศรษฐา ‘หมื่นบาทดิจิทัล’ ตัวชูโรง
เพจเพื่อไทยแจง นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บ. จ่ายทีเดียวจบ หลังรอง หน.เผยอาจให้เป็นงวด
ทวนคำสัญญา นโยบายหาเสียง 11 พรรค ก่อนรัฐบาล 'เศรษฐา 1' เริ่มก้าวแรกบริหารปท.
จ่ายดบ.4.7หมื่นล.! พลิกมติครม.‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บิ๊กตู่’ ก่อน‘พท.’ปักธงพักหนี้เกษตรฯ3ปี