"...เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ ฯลฯ เป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ผู้สุงอายุฯ เงื่อนไขนั้นจึงใช้บังคับไม่ได้ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบแล้ว..."
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.2565)
พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืน พร้อมทั้งถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปก่อนหน้านี้
โดย ครม.ขีดเส้นให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่ที่มีมติดังกล่าวออกไป
สืบเนื่องจากช่วงเดือน ก.พ.2564 เกิดกรณีที่ผู้สูงอายุถูกฟ้องดำเนินคดี - เรียกคืน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' หลังมีการตรวจสอบพบว่า เป็นการรับสิทธิ์ซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งอาจขัดกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ที่ระบุว่า “ไม่ให้ผู้ได้รับสิทธิ์จากสวัสดิการอื่นได้รับเบี้ยยังชีพ ซึ่งผู้สูงอายุต่างไม่ทราบกันว่ามีระเบียบนี้”
ช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏข่าวผู้สูงอายุถูกรัฐฟ้องร้องดำเนินคดี – เรียกเงินคืนจำนวนมาก เป็นปัญหาลุกลามไปถึง ครม.ที่ต้องมติให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นชะลอการดำเนินการไว้ก่อน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแนวทางการช่วยเหลือ และแก้ปัญหาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อนต่อไป
ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุ พ.ศ.2552 , ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ว่าขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) และมาตรา 12 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 48 วรรคสอง ที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่
- ครม.อนุมัติถอนฟ้อง-คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 28,345 รายที่รับซ้ำซ้อนสวัสดิการอื่น
- 'วิษณุ'ยันไม่มีคนแก่ติดคุกปม'เบี้ยคนชรา'กรองเหลือ 6 พันรายรอสอบสิทธิ์สุจริตหรือไม่
บรรทัดต่อจากนี้เป็นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 611/2564) ก่อนที่ ครม.จะมีมติให้คืนเงิน 245.24 ล้านบาทแก่ผู้สูงอายุ 28,345 คน
กก.ผู้สูงอายุฯเสียงแตก‘เบี้ยยังชีพ’ให้ซ้ำซ้อนได้หรือไม่
กรมกิจการผู้สูงอายุได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พม 0401/996 ลงวันที่ 11 ก.พ.2564 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุ เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น เช่น บำนาญ บำนาญพิเศษ และกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพตรงกับผู้รับบำนาญประเภทต่าง ๆ จำนวน 15,323 คน
ต่อมาได้มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการไม่สามารถนำเงินไปคืนแก่ทางราชการได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการเสนอปัญหาดังกล่าวให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 เพื่อหารือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า การเรียกเงินคืนนั้นเป็นการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552
แต่เมื่อเหตุแห่งการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพเกิดจากการกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ในระเบียบดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การกำหนดลักษณะต้องห้ามนั้น จะเป็นไปตามมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุพ.ศ.2546 หรือไม่
สำหรับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) ระบุว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนในด้านต่างๆ (11) การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
มาตรา 12 ระบุว่า การเรียกร้องสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามที่บทบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น
โดยที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า สามารถจำกัดสิทธิผู้สูงอายุได้เนื่องจากตามมาตรา 11 (11) แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
คำว่า ‘เบี้ยยังชีพ’ จึงมิใช่เงินบำนาญ แต่เป็นการช่วยเหลือตามความจำเป็นโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายในลักษณะถ้วนหน้า และคำว่า ‘เป็นธรรม’ สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สมควรได้รับได้ เช่น ผู้ได้รับบำนาญจากรัฐอยู่แล้วไม่สมควรได้รับ เพราะจะเป็นการรับเงินที่ซ้ำซ้อน เว้นแต่ถ้ารัฐมีงบประมาณเพียงพอก็สามารถช่วยเหลือได้
และบทบัญญัติมาตรา 12 ไม่ขัดหรือแย้งกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้ออกระเบียบโดยชอบแล้ว
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า มาตรา 11 (11) แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครองการส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
และมาตรา 12 กำหนดให้การเรียกร้องสิทธิ หรือการได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิและประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามที่ บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพจึงต้องจ่ายให้บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทยโดยถือว่าเป็นสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงได้รับจึงต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ทุกคนที่ยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพ
ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติหรือกระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบจำกัดสิทธิผู้สูงอายุกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้เนื่องจากขัดหรือแย้งกับมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ
ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
ตั้ง 6 ประเด็นถาม ‘กฤษฎีกา’
กรมกิจการผู้สูงอายุในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.การที่ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีคุณสมบัติได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ว่า ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ ผู้รับเงินเบี้ยยังชีพตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย หรือกรุงเทพมหานคร ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ การกำหนดลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ หรือไม่
2.สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาข้อ 1 หากการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีคุณสมบัติได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ซึ่งมีผลทำให้ระเบียบทั้งสองฉบับไม่มีผลใช้บังคับ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรกับผู้สูงอายุที่มีสิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่ได้มีหนังสือทวงถามไปแล้วและที่ยังไม่ได้ทวงถามแต่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีทวงถาม ผู้สูงอายุที่มีสิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นแต่ได้คืนเงินมาแล้วหรืออยู่ในระหว่างการทยอยคืนเงิน และผู้สูงอายุที่มีสิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่ยังไม่เคยรับเงิน แต่อาจจะขอใช้สิทธิรับเงินภายหลังจากระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
3.หากกรณีตามประเด็นปัญหาข้อ 1 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติหรือกระทรวงมหาดไทยไม่สามารถออกระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิผู้สูงอายุกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ แต่รัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพได้ จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
4.หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ และมีผลใช้บังคับได้ต่อไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จ่ายเงินจะต้องเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้สูงอายุได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเรียกเงินคืน และมีฐานะยากจน เจ็บป่วยหรือพิการ หากเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือโดยไม่เรียกเงินคืน ควรดำเนินการโดยใช้กฎหมายหรือระเบียบใด
5.สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาข้อ 4 หาก พม. และ มท.ประสงค์แก้ไขระเบียบทั้ง 2 ฉบับให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นจะมีแนวทางดำเนินการในการแก้ไขระเบียบทั้งสองฉบับอย่างไร
6.กรณีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติหรือ มท.สามารถออกระเบียบเพื่อให้สิทธิผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเดือน หรือผู้สูงอายุที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะสามารถออกระเบียบเพื่อให้มีผลย้อนหลัง
เช่น ใช้คำว่า "เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม หากมีกรณีผู้สูงอายุรายใดมีคุณสมบัติครบถ้วนซึ่งได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับถือเป็นผู้สูงอายุตามระเบียบนี้ และให้ยังคงได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป สำหรับผู้สูงอายุรายใดที่ยังไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพและประสงค์จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ให้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ทั้งนี้ ให้มีผลนับตั้งแต่เดือนที่ได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอนั้นเป็นต้นไป" จะกระทำได้หรือไม่
หากกระทำได้เงินที่ได้รับมาแล้วควรทำอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเรียกเงินที่ได้รับไปคืนจากทางราชการ
‘กฤษฎีกา’หารือ 4 กระทรวงดูเกณฑ์จ่ายเงินขัดกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมกิจการผู้สูงอายุ โดยมีผู้แทนกระทรวงกลาโหม (สำนักงานปลัดกระทรวง) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมกิจการผู้สูงอายุ) และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า ข้อหารือทั้ง 6 ประเด็นนั้น มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่า ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 นั้น เป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการดำเนินการกรณีที่ระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ พม. และ มท.ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ความเห็นกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 611/2564
‘เบี้ยยังชีพ’ต้องทั่วถึงเป็นธรรม โดยคำนึงถึงอายุ-รายได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า มาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองสิทธิของผู้สูงอายุไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
โดยบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิไว้โดยแจ้งชัด ความที่ว่า 'ตามที่กฎหมายบัญญัติ' นั้น มิได้หมายความว่ารัฐจะตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้สิทธิดังกล่าวลดน้อยหรือด้อยลงได้ การกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง มีเพียง 2 ประการ คือ อายุเกิน 60 ปีประการหนึ่ง และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพอีกประการหนึ่ง
ดังนั้น นอกจากหลักเกณฑ์ในเรื่องอายุแล้ว การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะพึงตรากฎหมายเพื่อกำหนด หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ที่จะพึงถือว่า 'ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ' เป็นต้น บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2556
ที่บัญญัติในมาตรา 11 ว่า “ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนี้” โดยบัญญัติไว้ใน (11) ว่า “การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”
การแปลความใน (11) ดังกล่าว จึงต้องแปลให้สอดคล้องกับสิทธิที่ประชาชน ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพจะต้องได้รับอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยคำนึงถึงอายุและรายได้ที่บุคคลนั้นมีอยู่
ข้อกำหนด'ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นจากรัฐ'ไม่สอดคล้องกับ รธน.
การกำหนดเงื่อนไขว่าต้อง “ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ” ตามที่ปรากฏในระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติดังกล่าวนั้น ย่อมไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
เพราะเป็นการกำหนดที่มาแหล่งรายได้โดยไม่คำนึงว่ารายได้ที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ มีจำนวนเท่าไร บุคคลนั้นอยู่ในฐานะ 'ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ' หรือไม่
โดยผลของการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ จึงทำให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปีทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใดหรือมีรายได้ประจำมากมายเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ แล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตามระเบียบดังกล่าวทุกคน
ในขณะที่ผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ แม้เพียงจำนวนเล็กน้อย โดยไม่มีรายได้อื่นอีกเลย กลับไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ผลเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะ 'อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม' ตามมาตรา 11 (11) แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงเห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวที่ กำหนดไว้ในระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติและในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
เกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กก.ผู้สูงอายุฯไม่มีอำนาจออกได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ มิได้ให้อำนาจคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในการออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวไว้
บทบัญญัติแห่งมาตรา 9 (8) ที่ให้อำนาจกำหนดระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการออกระเบียบที่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ กำหนดให้ออกระเบียบได้ ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 มิได้หมายความว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุจะมีอำนาจออกระเบียบได้เป็นการทั่วไป สำหรับอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามมาตรา 11 นั้น
มาตรา 11 วรรคสาม ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประสงค์จะกำหนดแนวทาง หรือทิศทางการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้สอดคล้องกัน ก็อาจทำได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกันได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงเห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 เป็นระเบียบที่ออกโดยไม่มีอำนาจที่จะออกได้
ความเห็นกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 611/2564
ข้อห้ามรับเบี้ยยังชีพ-สวัสดิการซ้ำซ้อน ขัดต่อ รธน.-ใช้บังคับไม่ได้
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ ฯลฯ เป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เงื่อนไขนั้นจึงใช้บังคับไม่ได้ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบแล้ว ในกรณีที่ผู้สูงอายุผู้ใดนำเงินมาคืนให้ทางราชการ หน่วยงานของรัฐที่รับเงินคืนไว้ย่อมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินนั้นคืนให้ผู้สูงอายุผู้นั้นต่อไป
เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป
แนะแก้เกณฑ์กำหนดรายได้คนรับเบี้ยผู้สูงอายุ
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควรรีบดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพนั้นจะต้องจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ
ซึ่งการพิจารณาว่ารายได้จำนวนเท่าใดจะถือว่าไม่เพียงพอแก่การยังชีพ อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากร หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) จากฐานข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุสอดคล้องกับมาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ
อ่านประกอบ:
- ผู้ว่าฯโคราชหารือด่วน 1 ก.พ.ถกแก้ปัญหา 610 ผู้สูงอายุถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพ
- 5 ก.พ.มีทางออก!'ยุทธพงศ์'ถาม 'จุติ'ตอบ ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา
- ส่องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
- องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
- 'วิษณุ'ยันไม่มีคนแก่ติดคุกปม'เบี้ยคนชรา'กรองเหลือ 6 พันรายรอสอบสิทธิ์สุจริตหรือไม่
- คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน
- 'กฤษฎีกา'ชี้เรียกคืนเบี้ยคนชรา ขัด รธน. ชง'พม.-มท.'เคาะเกณฑ์คืนเงิน-จำกัดสิทธิ์
- ลุ้นสวัสดิการ 5 กลุ่ม อาจรับ 'เบี้ยคนชรา' ซ้ำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
- เชื่อมีงบเพียงพอ! เสวนาจี้รัฐเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 3,000 บาท
- พัฒนาชีวิต ไม่ใช่ภาระ! แกะปม'เบี้ยยังชีพ'สู่บำนาญแห่งชาติ รัฐทำได้ แค่ปรับวิธีคิด
- วันผู้สูงอายุสากล : ภาค ปชช.ย้ำจุดยืนขอ 'เบี้ยยังชีพคนชรา' แบบถ้วนหน้า
- ครม.อนุมัติถอนฟ้อง-คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 28,345 รายที่รับซ้ำซ้อนสวัสดิการอื่น