"...ตอนนี้ภารกิจหลักของพวกเรา คือเราจะต้องช่วยกันทำให้นายกรัฐมนตรี มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญของรัฐ ถ้ารัฐใส่เงินลงมาตามเบี้ยยังชีพตามขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ หมายความว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนมหาศาลเลย หรือเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาชีวิตของทุกครัวเรือน เนื่องจากทุกครัวเรือนมีผู้สูงอายุ คือลงทุนแล้วคุ้มแน่ๆ..."
......................................
จากกรณีปัญหาบำนาญ หรือเบี้ยยังชีพคนชราแบบขั้นบันได ที่มอบให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 60-69 ปี จำนวน 600 บาท ผู้สูงอายุ 70-79 ปี จำนวน 700 บาท ผู้สูงอายุ 80-89 ปี จำนวน 800 บาท และผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 บาท ซึ่งหากเปรียบเทียบตามเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนแล้ว นักสิทธิมนุษยชนหลายคนเห็นตรงกันว่า ลำพังแค่เบี้ยยังชีพคนชรานี้ ยังถือว่าห่างไกลยิ่งนัก
นอกจากจะไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เรื่องดังกล่าวยังเกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมา กรณีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลังพบว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นของรัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงสะท้อนเป็นประเด็นทางสังคมถึงความเดือดร้อนที่กลุ่มผู้สูงอายุต้องเผชิญ และความไม่สอดคล้องทางกฎหมายระหว่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายแม่บทอย่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย
โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 มาตรา 11 (11) ระบุว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสบนับสนุนในด้านการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และมาตรการ 12 ระบุว่า การเรียกร้อยสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย นับว่าเป็นข้อกฎหมายที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
แต่ต่อมา ในปี 2552 กลับมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัญหาการดังกล่าว ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ชะลอการเรียกคืนเบี้ยยังชีพไปก่อน พร้อมจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ผ่านการแก้ไขปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณากลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นทั้ง 24 ประเภท ว่ากลุ่มไหนควรจะได้รับเบี้ยยังชีพร่วมด้วยได้ และควรจะได้รับเบี้ยยังชีพเท่าใด
ภายในเวทีเสวนา 'บำนาญแห่งชาติเป็นจริงได้อย่างไรในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ...' ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพื่อถกเถียงถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้แทนประชาชนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการผลักดันเรื่องบำนาญแห่งชาติมีมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สำเร็จในระดับหนึ่ง จึงเห็นว่าสวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐควรให้ความสนใจคือการดูแลด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสังคมสูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"สิ่งที่เป็นรูปธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐต้องเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย คือ การมีบำนาญพื้นฐานที่เป็นหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนให้กับผู้สูงอายุทุกคน เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้าในอัตราอ้างอิงตามเส้นความจนประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะทำให้สิทธิการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักการสำคัญสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน" น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า การเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องการดูแลสวัสดิการสังคมทุกด้านของประชาชนยากลำบากมาก ประกอบกับนโยบายสวัสดิการด้านสังคมไม่ชัดเจน มักเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการเดินไปถึงฝั่งฝัน เพราะเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่หน่วยราชการและรัฐบาลบอกว่าเงินไม่พอ เป็นภาระทางการเงินการคลังของประเทศ ยิ่งถ้าแนวคิดหลักของสังคมยังมองคนไม่เท่าเทียมกัน ไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นโยบายที่ออกมาจึงเป็นการสงเคราะห์ไปตามกลุ่มความยากจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ อาจต่างไม่มีความพยายามขวนขวายหารายได้เพิ่มเติม สังคมไทยจะไม่ก้าวผ่านไปสู่รัฐสวัสดิการอย่างที่อยากเห็น ดังนั้นในอนาคตจำเป็นต้องแทรกเรื่องรัฐสวัสดิการเข้าไปเป็นหลักคิดสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ
"มีงานวิจัยจากสวีเดน แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 2,000 คน จำนวน 30,000 บาทต่อเดือน แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่หางานใหม่ แต่นำเงินนั้นไปเป็นทุน สร้างสรรค์ผลงานใหม่ และพัฒนาตนเองออกจากความยากจนได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่า หากรัฐสามารถปรับเบี้ยยังชีพให้เป็น 3,000 บาท ซึ่งพอเพียงต่อการดำรงชีพ แจกจ่ายให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรม ผู้สูงอายุจะไม่ละเลยต่อการทำงานแน่นอน มีแต่จะต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า และไม่ถือว่าเป็นภาระของประเทศ" น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
สอดคล้องกับ น.ส.เนืองนิช ชิดนอก ผู้แทนประชาชนผู้ร่วมเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน จะไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมผู้สูงอายุนั่งรอเพียงเบี้ยยังชีพรายเดือน โดยไม่ทำงานใดๆ เนื่องจากมีผลวิจัยรองรับว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ตั้งแต่ 600 บาทต่อเดือน แม้จะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่สามารถทำให้ผู้สูงอายุสามารถนำเงินนั้นไปเป็นทุน และพัฒนาตนเองออกจากความยากจนได้
"ขณะนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แต่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 – 1,000 บาทที่อยู่ในอัตราเดิมมาเกือบสิบปีเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพออย่างมาก ถ้าจะให้พึ่งลูกหลานก็แทบเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีภาระทางครอบครัวด้วย และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิดที่ทำให้รายได้ลดลงถ้วนหน้า ดังนั้นการได้รับเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุที่พอเพียง จะช่วยลดภาระของลูกหลานและช่วยพัฒนาศักยภาพชีวิต" น.ส.เนืองนิช กล่าว
ทัั้งนี้ น.ส.เนืองนิช กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนจึงจึงพยายามเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฯ ฉบับประชาชนขึ้นมา เพื่อยกระดับเบี้ยยังชีพที่เป็นวิธีคิดแบบสงเคราะห์มาเป็นบำนาญแห่งชาติให้ผู้สูงอายุมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานที่ต้องเข้าถึงแบบถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกัน แต่น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปัดตกไป ไม่รับรองก่อนเข้าสู่สภาฯ ด้วยเหตุผลความกังวลจะเป็นภาระต่องบประมาณประเทศ
ส่วนประเด็นการจัดหารายได้สำรอง เพื่อการแจกจ่ายเบี้ยยังชีพให้พอเพียงต่อการดำรงชีพของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ สปสช. กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีการเก็บภาษีอยู่ด้วยกัน 11 หมวด ดังนั้นตนเองจึงมองว่าไทยมีเงินเพียงพอแจกจ่ายผู้สูงอายุตามเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนได้ แต่เพียงอยู่ที่การจัดสรรสรรว่าทำอย่างไรให้พอต่างหาก
"ตอนนี้ภารกิจหลักของพวกเรา คือเราจะต้องช่วยกันทำให้นายกรัฐมนตรี มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญของรัฐ ถ้ารัฐใส่เงินลงมาตามเบี้ยยังชีพตามขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ หมายความว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนมหาศาลเลย หรือเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาชีวิตของทุกครัวเรือน เนื่องจากทุกครัวเรือนมีผู้สูงอายุ คือลงทุนแล้วคุ้มแน่ๆ ซึ่งดูผลลัพธ์ได้จากงานวิจัยที่คุณเนืองนิชได้พูดไว้" นายนิมิตร์ กล่าว
นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ และคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม กล่าวว่า การจะทำให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุจะผ่านรัฐสภาได้ง่ายขึ้น และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ขอนแก่น กล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติฯ ของภาคประชาชน แม้จะไปไม่ถึงฝั่ง เนื่องจากกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 ซึ่งได้จุดประกายให้คณะกรรมาธิการการสวัสดิการที่มี ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองได้หยิบมาศึกษาและพิจารณา เพื่อสานฝันของประชาชนให้สำเร็จ
"เห็นด้วยในหลักการที่ผู้สูงวัยทุกคนจำเป็นต้องมีบำนาญที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จนนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฉบับปัจจุบันให้เป็น ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่กำลังรอการรับรองจากนายกฯ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะมีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยแรงของภาคประชาชนให้ช่วยส่งเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย โดยอาจมีการล่ารายชื่อจากภาคประชาชนจำนวน 14,000 คน หรืออาจนำเสนอข้อมูลหรือร่างกฎหมายประกอบว่าเป็นการปฏิรูปประเทศ จะช่วยให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุนี้ ผ่านรัฐสภาได้ง่ายขึ้น"
ทั้งนี้ นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการควรไปหารือเรื่องดังกล่าวกับอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุได้รับทราบถึงความพยายามผลักดันเรื่องการสร้างหลักประกันทางรายได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพื่อให้กรมกิจการผู้สูงอายุนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วเสนอเป็นร่างกฎหมายใหม่ที่มาจากหน่วยงานรัฐประกบไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกทางหนึ่ง โดยเบื้องต้นตนเองจะรับอาสาไปช่วยคุยเรื่องดังกล่าวให้กับอธิบดีกรมฯ รับทราบ
ภาพหน้าปกจาก : Freepik
อ่านข่าวประกอบ:
เชื่อมีงบเพียงพอ! เสวนาจี้รัฐเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 3,000 บาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage