"...คำว่า อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สำหรับการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับทุกกลุ่ม ยกตัวอย่าง ผมได้รับเงินบำนาญข้าราชการเพียงพอต่อการยังชีพแล้ว ผมก็ไม่ควรได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก หรือบางคนได้รับเป็น 50,000-80,000 บาทก็มี..."
…………………………………………………….
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เพื่อแก้ปัญหาการรับสิทธิ์ซ้ำซ้อนของผู้สูงอายุ ที่ล่าสุดได้มีการแต่งตั้ง นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยนพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
(ข่าวประกอบ : คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน)
นับตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.จนถึงวันนี้ ผ่านไปนานกว่า 2 สัปดาห์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญดังกล่าว ที่มีแนวโน้มว่า ผู้สูงอายุบางกลุ่ม อาจมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควบคู่ไปกับสวัสดิการอื่นได้
นพ.วิชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ และรับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการอื่น 24 ประเภท เบื้องต้นพบว่า มีผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการ 5 ประเภท อาจจะเป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์รับเบี้ยสูงอายุต่อไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
บำนาญพิเศษ หมายถึง เงินทางราชการจ่ายตอบแทนความชอบเป็นรายเดือน ให้แก่ ข้าราชการประจำการ ทหารกองประจำการ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (อส.ทพ.) ที่ได้รับอันตรายจนพิการ ป่วยเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ หรือจ่ายให้แก่ทายาทของบุคคลดังกล่าว เนื่องมาจากการเสียชีวิตในการปฏิบัติงาน
บำนาญตกทอด หมายถึง เงินทางราชการจ่ายตอบแทนความชอบให้แก่ทายาทของข้าราชการหรือทหารกองหนุนที่มีเบี้ยหวัดเสียชีวิตระหว่างประจำการ หรือข้าราชการที่เกษียณไปแล้วที่ประสบเหตุทุพพลภาพ หรือถึงแก่กรรม ซึ่งการเสียชีวิตนั้นไม่ได้เกิดจากประสทเลินเล่อหรือการประพฤติชั่วร้ายแรงของตน
บำนาญพิเศษอาสาสมัครต่างๆ หมายถึง เงินทางราชการจ่ายตอบแทนความชอบให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัคร ยกตัวอย่างเช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.)
บำนาญพิเศษทุพพลภาพ หมายถึง เงินทางราชการจ่ายตอยแทนความชอบให้ข้าราชการผู้เจ็บป่วย ทุพพลภาพจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้
บำนาญพิเศษอาสาสมัครตาย หมายถึง เงินทางราชการจ่ายตอบแทนความชอบให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัคร ถึงแก่กรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการเสียชีวิตนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือการประพฤติชั่วร้ายแรงของตน
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ตรงกันทั้งหมด อาทิ ประเภทของผู้ที่ได้รับสวัสดิการซ้ำซ้อน , จำนวนผู้สูงอายุที่ได้ 2 สิทธิ์ รวมถึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับ 2 สิทธิ์นั้น ได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าไร ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปประกอบพิจารณาคัดกรองว่าประเภทใดสมควรจะได้รับเบี้ยยังชีพร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องเป็นการดำเนินการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2553) มาตรา 11 (11) ซึ่งจะต้องนำข้อมูลอย่างละเอียดมาพิจารณาต่อไป
“คำว่า อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สำหรับการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับทุกกลุ่ม ยกตัวอย่าง ผมได้รับเงินบำนาญข้าราชการเพียงพอต่อการยังชีพแล้ว ผมก็ไม่ควรได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก หรือบางคนได้รับเป็น 50,000-80,000 บาทก็มี แต่อย่างผู้ที่ได้รับบำนาญจากประกันสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นแรงงาน ได้รับบำนาญเดือนละประมาณ 4,000 บาท กลุ่มลักษณะนี้จึงมีแนวโน้มที่ควรจะได้รับเงินเพิ่มจากทางอื่นด้วยเช่นกัน” นพ.วิชัย กล่าว
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า กลุ่มใดสมควรจะได้รับ ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การคำนวณการพิจารณาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ระหว่างเกณฑ์เส้นแบ่งจ่ายตามความยากจน คือกลุ่มที่ได้รับเงินต่ำกว่า 3,000 บาท หรือใช้เกณฑ์คัดกรองจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือกลุ่มที่ได้รับเงินปีละไม่เกิน 30,000 -100,000 บาท ทั้งนี้ที่ประชุมยังมีความเห็นว่าการแบ่งเกณฑ์ตามความยากจน อาจจะน้อยเกินไป ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไปอีกด้วย
นพ.วิชัย กล่าวย้ำว่า การประชุมของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอแนวทางเท่านั้น ส่วนมติที่ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในการปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้องต่อไป ส่วนการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ จะมีการนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 24 ก.พ.2564
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage