วงเสวนาชี้รัฐมีความสามารถเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทได้ เหตุไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เชื่อมีงบประมาณเพียงพอ ขณะที่ภาคประชาชนเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้สนับสนุนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้น
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม , นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ , นางสาวเนืองนิช ชิดนอก เครือข่ายสลัมสี่ภาค และนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ สปสช. ร่วมเสวนาในเวที 'บำนาญแห่งชาติเป็นจริงได้อย่างไรในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ...' เพื่อถกเถียงถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันที่การใช้จ่ายเงินเป็นกองทุนสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีปัญหา เนื่องจาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุปี 2546 และตัวแม่บทกฎหมายไม่ได้ไปด้วยกัน โดย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุดังกล่าว มีมาตรา 11(11) ระบุว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสบนับสนุนในด้านการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และมาตรการ 12 ระบุว่า การเรียกร้อยสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ขณะที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยระบุว่าผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ... แล้ว แต่การจะทำให้ประชาชนได้รับบำนาญ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้เส้นแบ่งความยากจนในการคำนวณ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งเสียงเรียกร้องให้ดังขึ้นกว่านี้ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะได้รับบำนาญตามเป้าหมายนั้น ตนเองมองว่ารัฐสามารถทำได้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่เคยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และคุณภาพชีวิตจากปัญหาความยากจน และได้ใช้เวลารวม 12 ปี ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของปัญหาและปรับแนวทางแก้ไขให้เหมาะสมกับแต่ละรอบครัว จนประสบความสำเร็จในที่สุด ปัญหาความยากจนเหลือน้อย ผู้สูงอายุมีงาน มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และผันตัวเองจากผู้รับกลายมาเป็นผู้ให้
"เมื่อไทยมีโมเดลจากจีนเป็นตัวอย่าง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ที่สามารถพัฒนาองค์รวมไปสู่บุคคลในครอบครัว และสังคม เราก็สามารถทำได้ง่าย เพราะเรามีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้ได้ทำตามแล้ว" นายกันตพงศ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ไทยสามารถปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันได ตั้งแต่ 600 - 1,000 บาท ให้เพิ่มสูงขึ้นตามเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจน 3,000 บาทได้ เนื่องจากมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาทต่อเดือน แม้จะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่สามารถทำให้ผู้สูงอายุสามารถนำเงินนั้นไปเป็นทุน และพัฒนาตนเองออกจากความยากจนได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่า หากรัฐสามารถปรับเบี้ยยังชีพให้เป็น 3,000 บาท แจกจ่ายให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรม ผู้สูงอายุจะไม่ละเลยต่อการทำงานแน่นอน มีแต่จะต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า และไม่ถือว่าเป็นภาระของประเทศ
นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า รัฐสามารถปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาทได้แน่นอน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีการเก็บภาษีอยู่ด้วยกัน 11 หมวด ดังนั้นตนเองจึงมองว่าไทยมีเงินเพียงพอสำหรับนำไปเป็นงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ... จะผ่านได้มากขึ้นหากมีการร่วมลงชื่อของภาคประชาชนจำนวน 14,000 คน และมีการทำให้เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นที่ตระหนักภายในสังคมมากขึ้น โดยอาจนำเสนอข้อมูลหรือร่างกฎหมายประกอบว่าเป็นการปฏิรูปประเทศ จะทำให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุจะผ่านรัฐสภาได้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันที่ 7 เม.ย.2564 จะมีการรวมตัวของภาคประชาชน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกให้ช่วยสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ... อีกด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage