"...สิ่งที่จะช่วยเหลือได้ง่ายและเร็วที่สุดขณะนี้ คงต้องแก้ที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ก่อน ให้ระเบียบสามารถเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะต้องมีการอภิปรายกันอย่างรอบคอบต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่เปราะบางและมีผู้ได้รับผลกระทบมาก..."
………………………………....…………
การเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชราจากผู้สูงอายุกว่า 15,300 คน กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงในสังคมเป็นอย่างมาก
เหตุผลที่ต้องเรียกคืน เพราะภาครัฐเห็นว่าเข้าข่ายผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ระบุว่า ผู้รับเบี้ยยังชีพจะต้องไม่เป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่น จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ผู้สูงอายุที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย และเป็นผลกระทบที่จะถูกเรียกคืนย้อนหลังไปกว่า 10 ปี หลายคนต้องถูกเรียกเงินคืนตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหลักแสนบาท
กลุ่มเปราะบางข้างต้นนี้ คือ ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ ไม่มีเงินเพียงพอในการยังชีพ มีเพียงรายรับจากบุตรหลาน เงินเก็บออมในอดีต หรือเงินจากรัฐ เข้ามาช่วยจุนเจือค่าใช้จ่ายในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และอาจประสบปัญหามากกว่าใคร คือผู้สูงอายุที่สูญเสียบุตรหรือคู่สมรสไปแล้ว
ปัญหาดังกล่าวถูกสะท้อนจากพื้นที่ถึงรัฐบาล ล่าสุด นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอบกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ในจำนวนผู้ที่ได้รับเงินซ้ำซ้อนนี้ เมื่อตรวจสอบรายละเอียดพบว่าได้รับเงินจากบำนาญพิเศษที่มีอยู่ทั้งหมด 24 ประเภท จากนี้จะมีการตรวจสอบดูว่าใครได้รับมาโดยสุจริตและเป็นบำเหน็จตกทอด คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติก็จะพิจารณาหาทางออกอย่างเป็นธรรมให้ ส่วนกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการได้มาจากการแจ้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป (อ่านประกอบ : 5 ก.พ.มีทางออก!'ยุทธพงศ์'ถาม 'จุติ'ตอบ ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา)
สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ นางอุบล ร่มโพธิ์ทอง ประธานกลุ่มผู้สูงวัยใส่ใจสังคม และประธานสมาคมส่งเสริมชุมชนสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ต.บางจาก จ.สมุทรปราการ เห็นว่า รู้สึกใจหายมากที่ได้ยินข่าวการเรียกคืนเบี้ยยังชีพ ส่วนตัวเห็นว่า ผู้สูงอายุควรได้รับทั้ง 2 สิทธิ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม อีกทั้งยังสูญเสียบุตรหรือคู่สมรสไปก็ควรที่จะได้บำนาญดังกล่าว เพราะในทางกลับกัน การมีชีวิตอยู่ของบุตรหรือคู่สมรสของคนเหล่านี้ อาจทำให้เขามีรายได้มากกว่าที่หน่วยงานรัฐจะให้เสียอีก
"นอกจากนี้ ดิฉันยังเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยเรียกร้องให้ภาครัฐ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท โดยแบ่งเกณฑ์ตามความยากจน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยหารือร่วมกับภาครัฐไปแล้ว 2 ครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดเรื่องจึงหยุดชะงักไป และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก" นางอุบล กล่าว
สอดคล้องกับ นางอรุณี ศรีโต สมาชิกกลุ่มผู้สูงวัยใส่ใจสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเบี้ยยังชีพที่ได้รับ ไม่เคยสอดรับกับค่าครองชีพ เพราะการจ่ายแบบขั้นบันได้ ที่คนอายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน , อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน , อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน หากคิดเป็นรายวันจะเท่ากับว่า ผู้สูงอายุได้รับ 20-33.33 บาทต่อวัน ซึ่งไม่พอกับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ตอนนี้ถึงแม้ว่าจะมีการชะลอออกไปแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้ยกเลิกการเรียกคืน เพราะเพียงแค่มีข่าวออกไป ผู้สูงอายุหลายคนก็เสียความรู้สึกกับเหตุการณ์นี้ไปแล้ว
"การที่ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพกับเงินบำนาญจากบุตรหรือคู่สมรสที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นความชอบธรรม เขาได้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยการช่วยเหลือประเทศชาติ สิ่งนี้ถูกต้องแล้วที่เขาจะได้รับเงินชดเชย หากมองในมุมมนุษยธรรม ดิฉันมองว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพพร้อมกับเงินบำนาญไม่ถือว่าเป็นเงินซ้ำซ้อน เพราะเขาได้เสียบุคคลที่รักยิ่งไปเพื่อช่วยเหลือพวกเราทุกคนในแผ่นดินไทย" นางอรุณี กล่าว
(ภาพซ้ายนางอรุณี ศรีโต และ ภาพขวานางอุบล ร่มโพธิ์ทอง)
สำหรับจุดเริ่มต้นของการเรียกคืนเบี้ยคนชรานั้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติคนที่สอง กล่าวว่า เดิมทีรัฐบาลมีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาการได้รับเงินซ้ำซ้อนของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งหากพิจารณาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ใช้กันอยู่จะพบว่ากลุ่มเปราะบางเข้าข่ายผิดระเบียบนั้นด้วย ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญจากการสูญเสียบุตรหรือคู่สมรสได้รับผลกระทบอย่างที่เห็นในหน้าข่าวด้วย
นพ.วิชัย วิเคราะห์แนวโน้มที่ภาครัฐจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังตรวจสอบและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นคาดว่าการประชุมหารือเร่งด่วนในวันที่ 5 ก.พ.2564 น่าจะมีทิศทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น
“สิ่งที่จะช่วยเหลือได้ง่ายและเร็วที่สุดขณะนี้ คงต้องแก้ที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ก่อน ให้ระเบียบสามารถเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะต้องมีการอภิปรายกันอย่างรอบคอบต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่เปราะบางและมีผู้ได้รับผลกระทบมาก ส่วนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ภาครัฐจะต้องนำ พ.ร.บผู้สูงอายุ และกฎหมายรัฐธรรมนูญมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อปรับเปลี่ยนกฎระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้มีผลสืบเนื่องไปในระยะยาวอย่างยุติธรรม” นพ.วิชัย กล่าว
(นพ.วิชัย โชควิวัฒน)
ขณะที่ นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่า เรื่องนี้ผู้สูงอายุไม่ต้องกังวล เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถเรียกคืนเบี้ยยังชีพได้ เหตุเพราะความผิดพลาดการจ่ายเงินซ้ำซ้อนดังกล่าวนี้ เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจ่ายเงินให้กับประชาชน ซึ่งจ่ายเงินผิดพลาดมาด้วยกันถึง 10 ปี ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงไม่สามารถเรียกคืนเบี้ยยังชีพย้อนหลังได้แน่นอน เว้นแต่จะพบหลักฐานว่า ผู้สูงอายุทราบมาก่อนแล้วว่าไม่ควรได้รับเงินซ้ำซ้อนแต่ก็ยังรับ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการทุจริต
“แม้ขณะนี้จะมีการชะลอเรียกคืนเบี้ยยังชีพ แต่หากผู้สูงอายุสุจริต กล่าวคือไม่ทราบถึงระเบียบดังกล่าวมาก่อน ขอผู้สูงอายุวางใจ เรื่องนี้ไม่เป็นไร ภาครัฐไม่สามารถเรียกคืนเบี้ยยังชีพย้อนหลังกว่า 10 ปี จากการทำงานที่ผิดพลาดได้แน่นอน เพราะหากถูกฟ้องร้อง หน่วยงานภาครัฐจะได้รับผลเสียมากกว่าผลดี” นายทศพล กล่าว
นายทศพล คาดการณ์ว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินทั้ง 2 สิทธิได้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าได้แน่นอน เนื่องจากเป็นสิทธิพึงมีที่ผู้สูงอายุควรจะได้รับตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 48 วรรค 2 ว่าด้วยการกำหนดให้ผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสมศักดิ์ศรีและเหมาะสมจากรัฐ และพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2553) มาตรา 11 (11) ว่าด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
"ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว รัฐจะต้องทำให้สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิพึงมีที่ต้องได้รับอย่างต่อเนื่อง หรือทำให้เป็นหลักประกัน โดยอาจนำรายได้มาจากภาษีอัตราก้าวหน้า หรือภาษีทรัพย์สินที่ดินเพิ่มเติม” นายทศพล กล่าว
(นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage