ผู้ว่าฯ โคราช เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือด่วน 1 ก.พ. แก้ปัญหาผู้สูงอายุ 610 ราย ถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา ขณะที่ 'ศรีสุวรรณ' ชี้รัฐไม่มีสิทธิ เพราะหมดอายุความแล้ว
.......................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2564 ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีผู้สูงอายุในจังหวัดจำนวน 610 ราย ที่เข้าข่ายถูกเรียกคืนเบี้ยคนชรา ว่า ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้สูงอายุที่ถูกกรมบัญชีกลางเรียกคืนเบี้ยคนชราแล้ว ซึ่งพบว่าบางรายมีชีวิตที่ยากลำบาก
อนึ่ง กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากจังหวัดนคราชสีมา ได้ตรวจพบผู้สูงอายุ 13 ราย ในพื้นที่ ต.จอหอ อ.เมือง ถูกเทศบาลตำบลจอหอ เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยยังชีพคืนย้อนหลัง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รับบำนาญพิเศษ ทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ จึงมีหนังสือเรียกเก็บเงินคืนย้อนหลัง ทั้งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งการให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดและสำนักงานคลังจังหวัด เร่งสำรวจผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวในพื้นที่ 32 อำเภอ กระทั่งพบว่า มีผู้สูงอายุทั้งหมด 610 รายที่จะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน
@'ศรีสุวรรณ'ชี้รัฐไม่มีสิทธิเรียกคืน เหตุหมดอายุความแล้ว
ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงการเรียกคืนเบี้ยคนชราย้อนหลังในหลายจังหวัดว่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากตามหลักกฎหมายว่าด้วย เป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 412 นั้นบัญญัติไว้ว่า เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนเท่านั้น และใน มาตรา 419 บัญญัติไว้อีกว่าในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น
"การจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุเป็นการดำเนินการของรัฐบาลผู้เสียหาย คือ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังที่ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.2552 รวมระยะเวลากว่า 11 ปีแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังเริ่มตรวจพบปัญหาความซ้ำซ้อนดังกล่าวตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 ต่อมากรมบัญชีกลางจึงส่งหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้แจ้งจังหวัด อำเภอและท้องถิ่นต่างๆ ในการทวงถามการขอเงินคืนไปยังผู้สูงอายุต่างๆที่รับเงินซ้ำซ้อนดังกล่าว ซึ่งอาจเกินระยะเวลา 10 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว" นายศรีสุวรรณ กล่าว
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานจากนางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลางอีกว่า เหตุผลที่เพิ่งตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่การจ่ายเงินคนชราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 นั้น เพราะการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าว เพิ่งจะมีการเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2563 ดังนั้น ข้อมูลที่พบว่ามีการรับเงิน 2 ทาง คือ ทั้งเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญจึงเกิดขึ้น
"กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง เริ่มรับรู้ถึงความเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี หรือเกินระยะเวลา 10 ปีไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืน เพราะขาดอายุความไปแล้ว" นายศรีสุวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ยังมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 10850/2559 ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 ดังนั้นการที่กรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage