“…ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความออกมาแล้วว่า การเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชราที่ผ่านมานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นข่าวดีของผู้สูงอายุทุกคนที่เคยคืนเบี้ยยังชีพคนชราย้อนหลังให้กับภาครัฐมาก่อนหน้านี้แล้ว อาจได้รับเงินคืน…”
…………………………………………………………………
ผ่านมาราว 3 เดือน หลังจากผู้สูงอายุถูกเรียกคืน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ย้อนหลังกว่า 10 ปี เนื่องจากเมื่อรัฐตรวจสอบพบผู้สูงอายุกว่า 6,000 ราย ได้รับสิทธิ์ซ้ำซ้อนขัดกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ที่ระบุว่า “ไม่ให้ผู้ได้รับสิทธิ์จากสวัสดิการอื่นได้รับเบี้ยยังชีพ ซึ่งผู้สูงอายุต่างไม่ทราบกันว่ามีระเบียบนี้”
ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ให้ชะลอการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ก่อน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคม (พม.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง (บก.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้หาแนวทางเยียวยาผู้สูงอายุ
และจัดตั้ง ‘คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสิทธิและสวัสดิการอื่น เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำไปปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนเกิดความวิตกกังวลที่ต้องหาเงินมาคืน บางรายกลัวถูกฟ้องร้อง กระทั่งมีผู้สูงอายุประมาณ 5,700 คน ตัดสินใจรีบเงินคืนให้แก่รัฐ คิดเป็นมูลค่ากว่า 130 ล้านบาท
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติคนที่สอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการอื่นซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จนได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
จนล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความออกมาแล้วว่า การเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชราที่ผ่านมานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ใน มาตรา 26 และ 48 (2) ซึ่งระบุไว้ดังนี้
มาตรา 26 ว่าด้วย การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
มาตรา 48 วรรค 2 ว่าด้วย บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพและบุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
“ดังนั้นจึงเป็นข่าวดีของผู้สูงอายุทุกคนที่เคยคืนเบี้ยยังชีพคนชราย้อนหลังให้กับภาครัฐมาก่อนหน้านี้แล้ว อาจได้รับเงินคืน” นพ.วิชัย กล่าว
นอกจากนั้นยังส่งผลให้ ผู้สูงอายุอีก 2,000 คน ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีทวงถามเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา ไม่ต้องคืนเงินให้กับรัฐอีกด้วย
(นพ.วิชัย โชควิวัฒน)
@ ชง 'พม.-มท.' เคาะเกณฑ์คืนเงิน-จำกัดสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งเรื่องต่อให้ 2 หน่วยงาน ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณา ‘หลักเกณฑ์การคืนเงิน’ เนื่องจากอาจมีกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิตไปแล้ว จะต้องมอบเงินคืนให้กับบุคคลอื่น
ขณะเดียวกันสำหรับการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องมีการจำกัดสิทธิ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับเบี้ยยังชีพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ‘หลักเกณฑ์การจำกัดสิทธิ์’ ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน และจะมีผู้สูงอายุกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับ หรือไม่สามารถรับเบี้ยยังชีพคนชราได้
“สำหรับหลักเกณฑ์ในการจำกัดสิทธิ์ กระทรวงมหาดไทยอาจใช้หลักเกณฑ์รายได้มาพิจารณา โดยอาจใช้เกณฑ์เส้นแบ่งความยากจน จำนวนเงินในบัญชีต้องไม่เกิน 500,000 บาท หรืออาจดูฐานภาษีอากรของสรรพากร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเกณฑ์ชี้ว่าจะพิจารณาด้วยหลักการใด ต้องรอผลการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง” นพ.วิชัย กล่าว
ส่วนสาเหตุที่นำ ‘รายได้’ มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณานั้น เนื่องจากหลักเกณฑ์นี้จะช่วยจัดสรรให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะได้รับทุกกลุ่ม เนื่องจากบางคนได้รับเงินบำนาญในจำนวนมากเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว หากนำเงินในส่วนนี้ไปสมทบให้กับผู้ที่ยังได้รับบำนาญหรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จะมีประโยชน์มากกว่า ในการช่วยยกระดับสังคมผู้สูงอายุไทยให้มีความมั่นคง
@ ลุ้น กก.ผู้สูงอายุแห่งชาติรับลูก คืนสิทธิ์-คืนเงินให้คนชรา
อนึ่งก่อนหน้านี้ นพ.วิชัย เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่า 5 กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจได้รับสวัสดิการซ้ำกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ประกอบด้วย บำนาญพิเศษ, บำนาญตกทอด, บำนาญพิเศษอาสาสมัคร, บำนาญพิเศษอาสาสมัครต่างๆ, บำนาญพิเศษทุพพลภาพ และบำนาญพิเศษอาสาสมัครตาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่สูญเสียบุตรหรือคู่สมรสไปจากการปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มอาสาสมัคร หรือกลุ่มที่ได้รับทุพพลภาพจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ อย่างไรก็ตามขอให้รอติดตามข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยต่อไป (อ่านข่าวประกอบ: ลุ้นสวัสดิการ 5 กลุ่มอาจรับ ‘เบี้ยยังชีพคนชรา’ ซ้ำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย)
นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ผลการพิจารณาว่า ‘การเรียกเงินคืนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ’ มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่มีข้อยุติทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องนำไปพิจารณากันต่อไป
ทั้งนี้เมื่อกระทรวงมหาดไทยและกรมกิจการผู้สูงอายุ พิจารณาหลักเกณฑ์คืนเงิน-จำกัดสิทธิ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมกิจการผู้สูงอายุจะส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติให้พิจารณาต่อไป
@ แนะรัฐ ‘เสริมสวัสดิการอื่น’ แทนการจำกัดสิทธิ์ได้รับเบี้ยคนชรา
นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายทางแพ่งอยู่แล้ว เนื่องจากการรับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ เป็นการรับไว้ ‘โดยสุจริต’ กล่าวคือ ไม่ทราบถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องรัฐไม่ควรเรียกคืนจากประชาชนย้อนหลังอยู่แล้ว สอดคล้องกับหลักทางกฎหมายที่ว่า ‘สิทธิใดมีอยู่แล้วไม่ควรคืนเสีย’ ดังนั้นแล้วรัฐควรคืนและไม่ควรเรียกเก็บจากประชาชนอีก
(นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์)
สำหรับหลักเกณฑ์ในการคืนเงินให้กับผู้สูงอายุ กรณีเสียชีวิตก่อนแล้ว จะต้องคืนให้กับผู้ใดนั้น นายทศพล มองว่า กรมกิจการผู้สูงอายุจะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากความเป็นทายาท อาทิ บุตร บิดามารดา หรือคู่สมรส เป็นต้น อย่างไรก็ตามตนเองอยากให้ผลการพิจารณาของรัฐเสร็จสิ้นโดยไว เพื่อให้ผู้สูงอายุบางส่วนที่ได้คืนเงินแก่ภาครัฐมาก่อนแล้ว ได้รับเงินคืนถึงตัวผู้สูงอายุเอง มิใช่ต้องจากไปเสียก่อน
นายทศพล กล่าวแนะนำอีกว่า การจำกัดสิทธิ์ผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนอีกว่าตรงกับคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุบางคนตกหล่น โดยเฉพาะผู้ที่พิสูจน์ตัวตนได้น้อยที่สุด จะกลายเป็นคนได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นแล้วรัฐควรจะจ่ายเหมือนเดิม และเสริมสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเข้ามาแทน เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายมาก
ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าว่าด้วยเรื่องเบี้ยยังชีพคนชรา ที่กลายเป็นปมปัญหาให้ผู้สูงอายุในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแนวทาง – ผลตีความจากกฤษฎีกา จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ภาพจาก: สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3
อ่านข่าวประกอบ:
พัฒนาชีวิต ไม่ใช่ภาระ! แกะปม'เบี้ยยังชีพ'สู่บำนาญแห่งชาติ รัฐทำได้ แค่ปรับวิธีคิด
ลุ้นสวัสดิการ 5 กลุ่ม อาจรับ 'เบี้ยคนชรา' ซ้ำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
ส่องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/