“…สัมปทานจะหมดปี 2572 แต่ปีนี้ ปี 64 ซึ่งไปดูสัญญาพบว่า ถ้าจะมีการ Repeat สัญญาใหม่ จะต้องไม่ทำก่อน 5 ปี ที่สัญญาจะหมด มันจึงทำไม่ได้ เพราะสัญญาไม่อนุญาตให้ทำ หรือถ้าจะมาใช้ พ.ร.บ.พีพีพีฉบับใหม่ ก็มีหลักการเดียวกัน คือ ต้องไม่ก่อน 5 ปี ที่สัญญาจะหมดอายุ ซึ่งตรงนี้ กทม.ต้องไปดู…”
................................
เป็นอีกครั้ง
ที่ ‘วาระการพิจารณา’ เรื่อง การต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ อีก 30 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS ที่มี ‘เจ้าสัว’ คีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ต้องถูก ‘ถอน’ ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะมีข้อทักท้วงจาก ‘กระทรวงคมนาคม’
“มีรายละเอียดไม่เรียบร้อยเล็กน้อย แต่ไม่ยุ่งยากอะไร เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงมา แล้วกระทรวงมหาดไทยเพิ่งเห็นเมื่อคืน (18 ต.ค.) กระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องตอบตรงนี้ก่อน แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อทักท้วง” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564
วิษณุ ย้ำว่า “ไม่ใช่การดึงออก เพียงแต่เมื่อถึงวาระดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) ได้ขอถอนออกไปเพื่อทำความเห็นเข้ามาใหม่ ส่วนจะเข้าครม.ในครั้งหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมหาดไทย (อ่านประกอบ : 'วิษณุ' แจง 'อนุพงษ์' ถอนวาระต่ออายุรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุ 'คมนาคม' ทักท้วง)
@ย้อนปม ‘คมนาคม’ ค้านต่อสัมปทานเดินรถ ‘สายสีเขียว’
ย้อนไปเมื่อ 1 ปี 3 เดือนที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. เสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม. พิจารณา ตามผลการเจรจาของ 'คณะเจรจา' ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ซึ่งผลการเจรจาได้ข้อสรุป ว่า กทม.จะต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ BTSC เป็นเวลาอีก 30 ปี หรือขยายอายุสัมปทานไปถึงปี 2602 จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2572
แลกกับการที่ BTSC จะต้องรับภาะหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ได้แก่ ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท และให้ BTSC กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย
แต่ทว่าในครั้งนั้น ครม.มีมติเพียง ‘รับทราบ’ ข้อเสนอ และขอให้กระทรวงมหาดไทยนำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่
“นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า เนื่องจากเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสภาฯอย่างมาก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้รอบคอบ” ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกำชับว่า การต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว ต้องดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 (อ่านประกอบ : เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ)
ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.2563 กระทรวงมหาดไทย เสนอให้ ครม. พิจารณาเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เสนอผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) 'เป็นครั้งที่ 2'
แต่ปรากฏว่ากระทรวงคมนาคม ได้หนังสือด่วนที่สุด ที่คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พ.ย.2563 ซึ่งมีความเห็นในทำนอง ‘โต้แย้ง’ กรณีการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 4 ประเด็น (อ่านประกอบ : ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.)
ส่งผลให้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.ยังไม่มีมติ ‘เห็นชอบ’ การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
และได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทย ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ภาระหนี้สิน ผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับ และประโยชน์สูงสุดของประชาชน เป็นต้น (อ่านเอกสารประกอบ)
(ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ,สรุปมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563)
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 กระทรวงมหาดไทย เสนอที่ประชุม ครม. ให้พิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 'เป็นครั้งที่ 3' แต่สุดท้ายกระทรวงมหาดไทยได้ถอนเรื่องออกไปอีก เนื่องจากมีข้อทักท้วงจากกระทรวงคมนาคม
@ ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 2 ปมทักท้วงต่อสัมปทานสายสีเขียว
“วันนี้ไม่ใช่ กระทรวงคมนาคมไปขัดแย้งอะไร เราอยากให้ทำเรื่องนี้ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายแค่นั่นเอง” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เรื่องการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาดำเนินการใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก กทม.ได้ทำตามมติ ครม. เมื่อปี 2561 เรื่องการรับโอนทรัพย์สินส่วนต่อขยายสายสีเขียวทางทิศเหนือ (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) และส่วนต่อขยายทิศใต้ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เสร็จแล้วหรือไม่
เพราะเท่าที่ทราบ วันนี้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่มีการโอนทรัพย์สินส่วนต่อขยายสายสีเขียวทางทิศเหนือให้ กทม.
“เมื่อปี 2561 รัฐบาลมีมติให้โอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจาก รฟม.ไปให้ กทม. เมื่อผมมาก็ไปดูและพบว่ามีการโอนส่วนต่อขยายทิศใต้ไปแล้ว แต่ด้านทิศเหนือยังไม่โอน ผมถามว่า ทำไมไม่โอนทรัพย์สิน ก็ได้คำตอบว่าการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่สะพานรัชโยธิน กทม.ไม่ได้ข้อยุติเรื่องราคา และไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ
เมื่อทรัพย์สินยังเป็นของ รฟม. และมีหลักฐานว่า รฟม.ยังเป็นเจ้าของ เห็นได้จากการที่ รฟม.ยังเป็นคนตั้งงบประมาณค่าเวนคืนอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินยังเป็นของ รฟม. แล้ว กทม. จะไปทำนิติกรรมใดๆได้หรือไม่ และถ้า กทม.จะไปทำนิติกรรมใด เขาต้องได้กรรมสิทธิ์ก่อน แต่วันนี้ยังไม่มีการโอน นี่เป็นข้อเท็จจริง” ศักดิ์สยาม ระบุ
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า “เวลาใส่เสื้อ ถ้ากระดุมเม็ดแรก เราจัดผิด แล้วจัดต่อ ก็ผิดทั้งหมด ส่วนวิธีแก้ไขก็มาว่ากันไป…และเรื่องนี้ (การโอนทรัพย์สินส่วนขยายทิศเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ได้ทำหนังสือทวง กทม. ไปไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ กทม. ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา”
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
ประเด็นที่สอง กรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กทม. และ BTSC ล่วงหน้า 8 ปี ก่อนที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 นั้น ทำได้หรือไม่ และหากพิจารณาทั้งจากข้อสัญญาฉบับปัจจุบัน และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 พบว่า 'ทำไม่ได้'
“สัมปทานจะหมดปี 2572 แต่ปีนี้ ปี 64 ซึ่งไปดูสัญญาพบว่า ถ้าจะมีการ Repeat สัญญาใหม่ จะต้องไม่ทำก่อน 5 ปี ที่สัญญาจะหมด มันจึงทำไม่ได้ เพราะสัญญาไม่อนุญาตให้ทำ หรือถ้าจะมาใช้ พ.ร.บ.พีพีพีฉบับใหม่ ก็มีหลักการเดียวกัน คือ ต้องไม่ก่อน 5 ปี ที่สัญญาจะหมดอายุ ซึ่งตรงนี้ กทม.ต้องไปดู” ศักดิ์สยาม กล่าว
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ต้องทำให้ถูก เพราะความเป็นรัฐ มันมีความรับผิดทางกฎหมาย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะใช้ความรู้สึก แล้วไปทำเลยนั้น ถ้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีที่หลัง ต้องติดคุก และต้องมาจ่ายเงิน ใครจะรับผิดชอบ แล้วพอถึงเวลาก็บอกว่า คุณโง่เองงัย ซึ่งมันไม่ได้”
@ชี้ค่าโดยสารต้องเหมาะสม-ปัดไม่ขัดแย้ง ‘เจ้าของบีทีเอส’
เมื่อถามถึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมควรเป็นอัตราเท่าไหร่ ศักดิ์สยาม ตอบว่า เรื่องค่าอัตราโดยสาร มีหลักคิดอยู่ 2 ส่วน
ส่วนแรก ‘ค่าแรกเข้า’ ซึ่งใช้หลัก Standardization ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยเมื่อปี 2544 ทาง ADB คำนวณค่าแรกเข้าที่ 10 บาท เมื่อบวกกับเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน ที่เพิ่มขึ้น 1.88% ค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าในปัจจุบันจะอยู่ที่ 11-12 บาท ส่วนที่สอง ‘อัตราค่าโดยสาร’ ต้องพิจารณาให้สะท้อนต้นทุน รวมถึงการแบ่งรายได้ระหว่างรัฐและเอกชน
อย่างไรก็ดี ศักดิ์สยาม ไม่ได้ระบุว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เพียงแต่ระบุว่า “อย่าให้ผมบอกตัวเลข (ค่าโดยสารเลย) เอาเรื่องให้ถูกกฎหมายก่อน และวันนี้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ไม่เกิน 42 บาทตลอดสาย”
เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่กระทรวงคมนาคมคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะมีความขัดแย้งกับ ‘บีทีเอส’ นั้น ศักดิ์สยาม กล่าวว่า “อย่าไปพูดว่ามันขัดแย้ง ที่ผมทำงาน ผมยึดระเบียบกฎหมาย มติครม. หลักธรรมาภิบาล ไม่เคยขัดแย้งกันใคร”
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า “ใครจะได้ หรือไม่ได้อะไร ไม่เกี่ยวอะไรกับผม อย่าไปบอกว่า ผมไปมีปัญหากับเจ้าของบีทีเอส ผมก็ได้ยินชื่อท่าน (คีรี กาญจนพาสน์) เวลาไปกับนายกฯ ไปเปิดรถไฟฟ้า ก็นั่งคุยกันไม่เห็นมีอะไร
หรืออย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง ที่ท่านประมูลได้ และกำลังก่อสร้าง เมื่อมีการขอสร้างส่วนต่อขยายเข้าไปเมืองทองธานี ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็เอาเข้าครม.ให้ท่าน จึงไม่มีปัญหาอะไรเลย หรืองาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย (บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี) ก็เชิญลงนาม แล้วก็ส่งมอบพื้นที่กัน”
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดกรณีการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ที่ยังต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
'วิษณุ' แจง 'อนุพงษ์' ถอนวาระต่ออายุรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุ 'คมนาคม'
‘สภาผู้บริโภคฯ’ ค้าน ครม. ลักไก่ต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’-แจงตั๋ว 25 บาทเป็นไปได้
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ-ปชช.' ชูป้ายค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-ชงตั๋วร่วม 25 บาท/เที่ยว
ค่าก่อสร้างแพงกว่าสายสีเขียว 3 เท่า! รฟม.ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า'MRT' 4 สาย เหมาะสมแล้ว
'สภาฯผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' ค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-เปิดปชช.มีส่วนร่วม
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage