ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. ชะลอ จากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 พบ ‘การบริโภค-ลงทุนเอกชน’ หด จับตาปัญหาขาดแคลนปัจจัยการผลิต ส่งกระทบภาคการผลิต-ก่อสร้างในระยะข้างหน้า เตรียมปรับจีดีพีอีกรอบในเดือน มิ.ย.นี้
........................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน เม.ย. 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.2564 เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
“ภาคบริการได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย. ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก” น.ส.ชญาวดีกล่าว
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาพลังงานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน พ.ค.2564 น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกที่ 3 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แม้จะมีการผ่อนคลายเป็นระยะๆ แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ธปท. กำลังติดตามปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิต (supply shortage) ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการก่อสร้าง เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่าอาจยืดเยื้อไปถึงปลายปี 2564 ,การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงต้นปี 2565 และจีนปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจำกัดการส่งออกเหล็ก ทำให้ราคาเหล็กสูงขึ้น โดยสถานการณ์จะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 3/2565
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 1 ปี 2566 จึงจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดนั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สาเหตุที่ ธปท. เลื่อนประมาณการระยะเวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยออกไปดังกล่าว เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 และความรุนแรงของการระบาดที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการเปิดประเทศที่จะต้องล่าช้าออกไป ขณะที่ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 อีกครั้ง
“ในแง่ของข้อมูลวัคซีน การกระจายวัคซีน และการแพร่ระบาด มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราต้องอัพเดตข้อมูล ซึ่งในเดือน มิ.ย.จะมีเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และมุมมองในอนาคต แต่คิดว่าน่าจะมีการปรับจากเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาแน่นอน” น.ส.ชญาวดีกล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.2564 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และหดตัว -4.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่ามาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วนก็ตาม
การใช้จ่ายในภาคบริการและการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่งผู้โดยสาร ลดลงทั้งหมด ยกเว้นการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบออนไลน์ที่ยังพอไปได้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง เห็นได้จากความกังวลของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้น และความต้องการจ้างแรงงานใหม่ลดลง ส่งผลให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหางานใหม่ค่อนข้างยาก
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลง -3.1% จากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอก 3 อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัว 1.1% จากเดือนก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกรวมขยายตัว 19.1% ขณะที่การส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัว 37% โดยอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวส่งผลให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางอื่น ๆ ทรงตัวในระดับสูงสอดคล้องกับการส่งออกที่ฟื้นตัว
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาพลังงานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย โดยดุลการค้าเกินดุลลดลง จากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ ชี้อาจต้องรอถึงปี 66 เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิด
ผู้ว่าธปท. แจงสภา : 'พ.ร.ก.ซอฟต์โลน' จำเป็น-ตั้งเป้า 6 เดือน ปล่อยกู้ 1 แสนล้าน
กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้เชิงรุก! ธปท.เผยอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 1.6 หมื่นล้าน
สินเชื่อแบงก์โต 3.8%-หนี้เสียทรงตัว 3.1%! ธปท.เผยกู้ ‘บ้าน-บัตรเครดิต’ ขยายตัวเกิน 6%
ฉีดวัคซีนเร็วช่วยฟื้นศก.! 'แบงก์ชาติ' มองจีดีพีปีนี้โต 2%-หวังภาคส่งออกเพิ่มจ้างงาน
พักต้น-ลดดอก-คืนรถได้! ธปท.ประกาศมาตรการช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย' 4 กลุ่ม
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/