ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค. ได้รับผลกระทบจาก ‘โควิด’ ชัดเจน สะท้อนเครื่องชี้ ‘ลงทุน-บริโภคเอกชน’ หดตัว ตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลง ระบุ ‘ส่งออก’ เป็นปัจจัยช่วยพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่เม็ดเงินเยียวยาภาครัฐหนุนกำลังซื้อไตรมาส 1/64 พรอมเร่งหารือมาตรการ 'โกดังเก็บหนี้' ช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ 'อสังหาริมทรัพย์-โรงแรม'
...................
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.2564 ว่า เศรษฐกิจเดือน ม.ค.ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ สะท้อนได้จากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวแย่ลงในทุกหมวดการใช้จ่าย ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลง รวมถึงเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ภาครัฐนำมาใช้มีความเข้มงวดน้อยกว่า และผลกระทบที่มีต่อแต่ละภาคเศรษฐกิจนั้นมีความแตกต่างกัน โดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้าเป็น 2 ภาคได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงมีความต้องการในเรื่องสภาพคล่อง และบางส่วนมีการลดการจ้างงานลง หรือลดชั่วโมงการจ้างงานลง
ขณะที่การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง แม้ชะลอลงบ้างตามรายจ่ายลงทุน ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
“การส่งออกของไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ต่างจากการะบาดรอบแรกที่ทำให้การส่งออกของเราลดลงไปด้วย ดังนั้น ในตอนนี้เรามีการส่งออกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเอาไว้ได้”น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าจะเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นการฟื้นตัวที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไปได้ ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตต่อเนื่อง วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และบรรยากาศการค้าโลกดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ธปท.มองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และขึ้นอยู่กับประสิทธิภาควัคซีน รวมถึงแนวทางการเปิดประเทศของไทยและประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวของไทย
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมี.ค.นี้ จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 อีกครั้ง โดยจะประกาศตัวเลขออกมาในช่วงปลายเดือนมี.ค.2564
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวแย่ลงในทุกหมวด โดยเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการบริโภคจากการระบาดระลอกใหม่ยังไม่รุนแรงเท่ากับรอบแรก
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ
สำหรับตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลง โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ค่อนข้างรุนแรง โดยข้อมูลสำรวจพบว่าผู้ประกอบอาชีพหาบเร่และแผงลอยรายได้ลดลงมากกว่า 50% ผู้ประกอบการเดินรถอิสระ เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง รายได้ลดลง 60-90% ส่วนสปาและร้านนวด รายได้ลดลง 50% และบางพื้นที่อาจลดลง 90% ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 3.4% จากเดิมที่ลดลงต่อเนื่อง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยยังมีจำนวนไม่มาก แม้ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.5% โดยเป็นการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก
มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัว 6.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงขึ้นเป็น 11.1% ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้ นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทยอยออมาเพิ่มเติมจะข่วยพยุงกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/2564
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวแย่ลงในทุกองค์ประกอบย่อย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลง ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวในงาน 'Media Briefing' เรื่อง คลายข้อจำกัดธุรกิจไทย ฝ่าภัยโควิด ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่การระบาดระลอกใหม่ทำให้การฟื้นตัวสะดุดลง เช่น การบริโภคและการลงทุนเอกชนหดตัวลง และด้วยมาตรการของภาครัฐในการเข้าไปควบคุมการแพร่ระบาดโควิดระลอก 2 มาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน การดูแลสภาพคล่องและการจัดการหนี้ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลกระทบไม่ได้รุนแรงเท่ากับรอบแรก
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจากการะบาดของโควิด-19 รอบสอง มีความไม่เท่าเทียมในเชิงพื้นที่ ขณะที่ภาคบริการได้รับผลกระทบซ้ำเติมมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น ธุรกิจที่พักโรงแรม ขนส่งผู้โดยสาร ร้านอาหารและภัตตาคาร และกว่าที่ธุรกิจเหล่านี้จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด จะต้องใช้เวลาจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2565 เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะก่อนโควิดจะเลื่อนออกไปอีก 1 ไตรมาส หรือจากเดิมจะกลับสู่ภาวะก่อนโควิดในช่วงไตรมาส 2/2565 ก็จะเลื่อนไปเป็นไตรมาส 3/2565
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2564 อาจมีปัญหาหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หมดอายุ และรายได้ภาษีของภาครัฐที่ลดลงจะส่งผลต่อแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ในระยะต่อไป
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า กลุ่มธุรกิจที่ควรได้รับการดูแลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีสายป่านไม่ยาวมาก และธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งที่ผ่านมาธปท.เข้าไปติดตามข้อมูลการเข้าถึงสินเชื่อ และพบว่าธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กยังไม่ดีนัก โดยอยู่ในแดนลบต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าแล้ว รวมทั้งจะเห็นได้ว่ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากพ.ร.ก.ซอฟต์โลนฯ ทำให้การขยายตัวสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กติดลบน้อยลง
"เราพยายามช่วยเหลือให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ แต่เนื่องจากมีหลายๆกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และหลายกลุ่ม เช่น อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ที่มีหลักทรัพย์ปกติและสร้างรายได้ให้เขา แต่ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างรายได้ให้เขามากนัก จนทำให้เขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันนี้ยังไม่มีจุดที่เป็นกลไกมาช่วยเท่าใดนัก ขณะที่การเติมเงินใหม่เพื่อให้เขาดำเนินธุรกิจได้ในระยะต่อไป ก็คงมีความต้องการเช่นกัน ทั้งกลุ่มที่ต้องการเงินไปฟื้นฟูและปรับธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมามีซอฟต์โลน แต่จากผลกระทบที่ซ้ำเติมเข้ามาจึงต้องมีสภาพคล่องใหม่เข้ามา รวมถึงการมีกลไกการค้ำประกันเข้ามาเพื่อดูแลความเสี่ยงระยะต่อไป" น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเพิ่มเติมจากสถานการณ์การระบาดที่ซ้ำเติมเข้ามา จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ธุรกิจที่ยังไปได้หรือต้องการฟื้นฟูกิจการ แต่ขาดสภาพคล่อง เพราะเจ้าหนี้ระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยกลไกที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับสภาพคล่องใหม่ ต้องทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้มาเจอกันให้ได้ และที่ผ่านมารัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีโครงการ PGS 8 และ PGS 9 เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ แต่ต้องเพิ่มเติมในระยะต่อไป
กลุ่มที่ 2 กลุ่มธุรกิจที่มีภาระหนี้ที่มีหลักประกัน แต่อุปสงค์ฟื้นตัวช้า ทำให้ขาดรายได้เพื่อการจัดการกับภาระหนี้ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือโรงแรม โดยกลไกพิเศษที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เช่น นาย ก. กู้เงินมาสร้างโรงแรม และนำรายได้จากโรงแรมไปชำระหนี้ทุกเดือน แต่เมื่อมีโควิด 2 ระลอก ทำให้รายได้หายไปจนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และหากพักชำระหนี้ ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ หากพักชำระหนี้ไปเรื่อยๆหนี้ก้อนดังกล่าวจะใหญ่ขึ้นจนเกินมูลค่าหลักประกันได้
ดังนั้น จึงต้องนำกลไกของ 'Asset Warehousing' (โกดังเก็บหนี้) มาใช้ คือ การนำหนี้และทรัพย์ของนาย ก. มาฝากไว้กับเจ้าหนี้ชั่วคราว และให้ลูกหนี้พักชำระหนี้ไปเลย หากลูกหนี้คิดจะดำเนินธุรกิจต่อไป โดยไม่ต้องแบกภาระสินทรัพย์เอาไว้ ก็สามารถไปเช่าสินทรัพย์ของตัวเองเอามาดำเนินการแล้วจ่ายค่าเช่าให้เจ้าหนี้ในช่วงแรก หรือหากลูกหนี้ไม่เช่า ฝ่ายเจ้าหนี้จะต้องดูแลสินทรัพย์นั้น ขณะที่การตัดหนี้และสินทรัพย์มาไว้กับเจ้าหนี้ จะต้องมีการตกลงกันว่าจะให้ลูกหนี้มาซื้อคืนได้ก่อนภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีการคิดค่าดูแลทรัพย์สิน แต่ต้องไม่เป็นภาระกับลูกหนี้มากเกินไป
"ถ้าเอาหนี้มาพักไว้ก่อน จะไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย ไม่ต้องมีการขายสินทรัพย์ และไม่มีการเทขายสินทรัพย์เหล่านี้ออกมาจนราคาสินทรัพย์ดังกล่าวลดลง และกระทบต่อราคาสินทรัพย์ของประเทศด้วย ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่ดำเนินการได้ และกำลังมีการคุยกันอยู่ค่อนข้างมาก แต่วิธีการนี้จะต้องมีการคำนวณราคาที่เป็นธรรมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งการใช้กลไกดังกล่าวต้องเป็นไปตามความสมัครใจของเจ้าหนี้และลูกหนี้ในการเอาสินทรัพย์มาฝากไว้ชั่วคราว และซื้อคืนกลับไปในอนาคต" น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดี ย้ำด้วยว่า จะเร่งหารือเกี่ยวกับมาตรการ Asset Warehousing กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด หากมีความชัดเจนและมีรายละเอียดจะนำมาแถลงอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
หวั่นนักท่องเที่ยวหลุดเป้า 5.5 ล้านคน! ธปท.เล็งปรับจีดีพีปี 64-หวังมาตรการรัฐอุ้มศก.
โควิดทุบเศรษฐกิจ 1-1.5%! ธปท.เล็งหั่นจีดีพี-แรงงาน 4.7 ล้านคน ‘รายได้ลด-ตกงาน’
‘ธปท.-คลัง’ งัดมาตรการสู้โควิด ‘รายย่อย-SME’ พักหนี้ 6 ด.-อัดฉีดสภาพคล่อง 6.3 แสนล.
รอชัดเจนก่อนทบทวนจีดีพี! ธปท.ห่วงคนติดโควิดรอบใหม่สูงกว่าคาด-หวังรัฐคุมอยู่
หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน! ธปท.รื้อนิยามคุณสมบัติ-ให้ยื่นกู้เพิ่มเป็น 2 ครั้ง
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/