ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นผลกระทบโควิดรอบใหม่แล้ว จับตา 3 ปัจจัย ‘การระบาดโควิด-การฟื้นตัวตลาดแรงงาน-การฟื้นตัวเศรษฐกิจคู่ค้า’ มองปี 64 การส่งออกยังไปได้ต่อ แต่ภาคท่องเที่ยวยังไม่แน่นอนสูง
................
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนธ.ค.และไตรมาสที่ 4/2563 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือน ธ.ค. ในภาพรวมยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีผลกระทบต่อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนธ.ค.2563 และต่อเนื่องมาถึงเดือนม.ค.2564
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2563 พบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังมีการหดตัวสูง
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้ามี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดและผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนม.ค.2564 แต่ผลกระทบรุนแรงน้อยกว่ารอบแรก เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง คือ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสาร และค้าปลีก ส่วนกลุ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังพอไปได้ โดยยังมีคำสั่งซื้อต่างประเทศเข้ามา
2.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้ว่าเดือนอัตราว่างงานในเดือนธ.ค.2563 จะปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 7.8 แสนคน และจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานอยู่ที่ 3.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 4.7 แสนคน แต่ตลาดแรงงานยังเปราะบางและการฟื้นตัวมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มบริการที่สถานการณ์ยังไม่ดีนัก และการระบาดของโควิด-19 ในเดือนม.ค.2564 จะส่งผลกระทบต่อภาคบริการมากที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน ในเดือนธ.ค. พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 2.2 ล้านคน โดยเป็นผู้เสมือนว่างนอกภาคเกษตร 0.8 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนทีอยู่ที่ 0.9 แสนคน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานในภาคเกษตรเพิ่มเป็น 1.6 ล้านคน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 1.3 ล้านคน
และ3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้เครื่องชี้วัดภาคบริการในหลายประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้วัดการผลิตยังฟื้นตัวตามทิศทางการค้าโลก นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ จะช่วยสนับสนุนการค้าโลกในระยะต่อไป ส่วนบรรยากาศการค้าโลกน่าจะดีขึ้น แม้ว่าสหรัฐยังคงท่าทีเป็นคู่แข่งกับจีน และกระชับความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรกดดันจีน
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2564 ว่า การส่งออกไทยน่าจะยังไปต่อได้ เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าและบรรยากาศการค้าโลกที่ดีขึ้นต่อเนื่อง วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว และ work from home ที่สนับสนุนสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามว่าสถานการณ์โควิดที่ระบาดในต่างประเทศจะมีผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหรือไม่
ส่วนแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2564 ซึ่งเดิมธปท.คาดว่าจะอยู่ที่ 5.5 ล้านคนนั้น น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการก่อนเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย และเมื่อมีโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติระมัดระวังมากขึ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป รวมทั้งต้องติดตามพัฒนาการของวัคซีน และมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาลด้วย ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวถึงการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ว่า เดิมธปท.คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.2% แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จึงต้องทบทวนประมาณการใหม่ในเดือนก.พ. และแม้ว่ากลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ธปท.จะประเมินผลกระทบโควิดไปแล้ว ซึ่งคาดว่ากว่าจะเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจอาจลากยาว 2-3 เดือน แต่ตอนนี้ต้องดูว่ามีการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจเร็วกว่าเดิมหรือไม่ รวมทั้งประเมินว่ามาตรการภาครัฐที่ทยอยออกมาจะมีผลบวกเพียงใด
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.และไตรมาสที่ 4/2563 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการมูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัว 3.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า
ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิต
ภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอาหารสดที่สูงขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ
อ่านประกอบ :
โควิดทุบเศรษฐกิจ 1-1.5%! ธปท.เล็งหั่นจีดีพี-แรงงาน 4.7 ล้านคน ‘รายได้ลด-ตกงาน’
‘ธปท.-คลัง’ งัดมาตรการสู้โควิด ‘รายย่อย-SME’ พักหนี้ 6 ด.-อัดฉีดสภาพคล่อง 6.3 แสนล.
รอชัดเจนก่อนทบทวนจีดีพี! ธปท.ห่วงคนติดโควิดรอบใหม่สูงกว่าคาด-หวังรัฐคุมอยู่
หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน! ธปท.รื้อนิยามคุณสมบัติ-ให้ยื่นกู้เพิ่มเป็น 2 ครั้ง
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/