ธปท.เตรียมหั่นจีดีพีปี 64 หลังประเมินผลกระทบโควิดรอบสอง กระทบจีดีพีเบาสุด 1-1.5% แต่หากคุมไม่อยู่-ยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ 3-4% ประเมินโควิดรอบนี้ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบ 4.7 ล้านคน เสี่ยงตกงาน 1 แสนคน
...................
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงเท่ากับการระบาดรอบแรก แต่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2564 ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ต่อเศรษฐกิจ เป็น 3 กรณี ตามความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ ได้แก่
กรณีที่ 1 รัฐใช้มาตรการควบคุมแบบปานกลางในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ไม่มีการปิดห้าง ให้ร้านอาหารเปิดบริการได้ แต่จำกัดเวลาในการนั่ง และไม่ได้ห้ามประชาชนเดินทางทั้งหมด โดยมาตรการควบคุมแบบปานกลางสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ผลภายใน 2 เดือน ก่อนจะทยอยผ่อนคลายมาตรการต่อเนื่องในระยะต่อไป กรณีนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจคิดเป็น 1-1.5% ของจีดีพี
กรณีที่ 2 รัฐใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบเข้มข้น โดยใช้มาตรการเข้มงวดทั่วประเทศเช่นเดียวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก ตั้งแต่ช่วงแรกๆเป็นระยะเวลา 1 เดือน หรือที่เรียกว่าเจ็บแต่จบ และสามารถควบคุมการระบาดได้ ก่อนจะทยอยผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไป กรณีนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจคิดเป็น 2-2.5% ของจีดีพี
กรณีที่ 3 รัฐใช้มาตรการควบคุมแบบปานกลางในการควบคุมโควิดเช่นมาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องใช้มาตรการเข้มงวดไปจนถึงเดือนเม.ย.2564 ก่อนจะทยอยผ่อนคลายมาตรการลง ซึ่งกรณีนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่า 2 กรณีแรก รวมทั้งมีผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจคิดเป็น 3-4% ของจีดีพี
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า เนื่องจากการประเมินผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ดังกล่าว เป็นการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการใช้จ่ายภาคเอกชน คือ การบริโภคและการลงทุนเท่านั้น และมีปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการประเมินครั้งนี้ เช่น มาตรการของรัฐ การกระจายวัคซีนและแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป และการกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2564 ดังนั้น อย่านำตัวเลขการประเมินผลกระทบดังกล่าวไปหักลบกับจีดีพี
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ลง จากที่เคยคาดการณ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3.2%
“เราหวังและอยากให้เป็นกรณีที่ 1 เพราะผลกระทบน้อยกว่ากรณีอื่น ซึ่งในการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ที่คุยกันไว้ ณ เดือนธ.ค.2563 และประกาศวันที่ 23 ธ.ค.2563 นั้น แม้มีการรวมผลกระทบการระบาดโควิดบางส่วนแล้ว แต่ต้องมาดูว่าภาพแต่ละกรณีว่าเป็นอย่างไร โดยมีความเป็นไปได้ว่าธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจลง เพราะเดิมเราไม่ได้คิดว่ามันจะลุกลามขนาดนี้ ส่วนจะปรับลงมากน้อยแค่ไหน ต้องรอให้มีการหารือกันเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนก่อน” น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ต่อเศรษฐกิจในมิติต่างๆ พบว่ามีผลกระทบแตกต่างกัน โดยในมิติพื้นที่นั้น พบว่าพื้นที่ 28 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 ใน 4 ของกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งประเทศ ได้รับผลกระทบมากสุด โดยยอดขายและการท่องเที่ยวในพื้นที่ลดลงจากมาตรการจำกัดการเดินทางและจำกัดเวลาเปิด-ปิด ส่วนโรงงานและการผลิตบางส่วนต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากมีพนักงานติดโควิด
ส่วนในมิติกลุ่มธุรกิจนั้น จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในแต่ละเซ็กเตอร์พบว่าผลกระทบแตกต่างกันเช่นกัน โดยกลุ่มค้าปลีกระบุว่า กำลังซื้อของลูกค้ายังไม่กลับมาเต็มที่จากการระบาดระลอกแรก และต้องถูกซ้ำเติมจากโควิดระลอกใหม่ ทำให้กลุ่มค้าปลีกได้รับผลกระทบเชิงรายได้พอสมควร ส่วนกลุ่มที่อยู่ในภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสาร ยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงอยู่ แต่กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบเล็กน้อย
“ทั้งสองกลุ่มนี้บอกว่ายังไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ก็จะเริ่มกระทบสภาพคล่อง และถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งอาจต้องมีการเลิกจ้างในที่สุด” น.ส.ชญาวดีกล่าว
ขณะที่กลุ่มการผลิตระบุว่า ยอดคำสั่งซื้อและกระบวนการผลิตยังดำเนินการได้ตามปกติ ยกเว้นโรงงานที่พบการติดเชื้อ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บอกว่าได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการลดลง เพราะการเยี่ยมชมโครงการทำได้ยากขึ้น ประกอบกับการขอสินเชื่อจากธนาคารทำได้ยากขึ้นบ้าง แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน และมีความกังวลว่าจะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ต่อรายได้ของแต่ธุรกิจพบว่า หลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งสถานะรายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อน และถูกซ้ำเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ได้แก่ การค้า ร้านอาหาร และพื้นที่ค้าปลีก แต่คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการ ส่วนธุรกิจที่แย่อยู่แล้ว และจะฟื้นตัวช้า แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายแล้ว เช่น คอนโดในพื้นที่ที่โอเวอร์ซัพพลาย ที่พักแรม และขนส่งผู้โดยสาร
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ต่อกลุ่มแรงงานนั้น คาดว่ามีแรงงานที่เป็นกลุ่มลูกจ้างรายวันและอาชีพอิสระได้รับผลกระทบ 4.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.5 ล้านคน รายได้จะลดลงอย่างรุนแรง ส่วนอีก 1.1 ล้านคน อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงานหรือทำงานไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากการสลับวันทำงาน และมีประมาณ 1 แสนคน มีความเสี่ยงที่จะตกงาน
เมื่อแยกแรงงานออกเป็นรายกลุ่มพบว่า 1.ลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1 ล้านคน โดยเป็นผู้เสมือนว่างงาน 5 แสนคน และรายได้ลดลงรุนแรง 5 แสนคน 2.อาชีพอิสระนอกภาคเกษตรรคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 3.6 ล้านคน โดยเป็นผู้เสมือนว่างงาน 6 แสนคน และรายได้ลดลงรุนแรง 3 ล้านคน และ3.ลูกจ้างในสาขาโรงแรม มีความเสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง จะไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่ากับระลอกแรก และผลกระทบแตกต่างกันทั้งในมิติพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และแรงงานแต่ละกลุ่ม แต่เมื่อมองไปข้างหน้า จะพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ซึ่งขึ้นอยู่ว่าการแพร่ระบาดจะไปอย่างไร การกระจายวัคซีนในไทย และมาตรการของรัฐที่จะออกมาช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ
น.ส.ชญาวดี กล่าวด้วยว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่ถ่วงรั้งการบริโภคในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.-คลัง’ งัดมาตรการสู้โควิด ‘รายย่อย-SME’ พักหนี้ 6 ด.-อัดฉีดสภาพคล่อง 6.3 แสนล.
รอชัดเจนก่อนทบทวนจีดีพี! ธปท.ห่วงคนติดโควิดรอบใหม่สูงกว่าคาด-หวังรัฐคุมอยู่
หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน! ธปท.รื้อนิยามคุณสมบัติ-ให้ยื่นกู้เพิ่มเป็น 2 ครั้ง
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/