‘ผู้ว่าธปท.’ ชี้มีความไปได้สูงที่ประเด็น ‘สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู’ จะเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หลัง ‘ไบเดน’ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ แนะใช้ ‘ESG’ เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังพบที่ผ่านมาเน้นเรื่อง ‘ระยะสั้น’ มากเกินไป พร้อมระบุอันดับดัชนีฯคอร์รัปชั่นไทย แพ้ 'เวียดนาม-อินโดนีเซีย' เป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ค่อยได้’
...............
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ESG : Empowering Sustainable Thailand’s Growth” จัดโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า โดยระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเติบโตที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG (environmental, social, governance) นัก โดยเน้นเรื่องที่เป็นระยะสั้น และหากมองไปในอนาคต ตนเห็นว่าไทยจะเติบโตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG ไม่ได้แล้ว
“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราโตแบบไม่ค่อยคำนึงถึง ESG เราเน้นเรื่องระยะสั้นเป็นหลัก อย่างเรื่อง Environment (สิ่งแวดล้อม) เราเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงตัวเลข เน้นจำนวนหัว แต่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมักไม่ค่อยคำนึงถึง ส่วน Social (สังคม) เราเน้นการระยะสั้น การกระตุ้นการบริโภค การกู้เงินที่เกิดขึ้น มันทำให้ตัวเลขดี แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งคือการก่อหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูงมาก และปัจจุบันเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจเรา
หรือเรื่อง governance (ธรรมาภิบาล) จากที่ดูดัชนีชี้วัดต่างๆของโลก เช่น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI) คิดว่าตัวเลขล่าสุดของเราอยู่อันดับที่ 101 เทียบกับสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก และที่ผมรับไม่ค่อยได้ คือ เราตามหลังเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้า ผมคิดว่ามันชัดเจนว่าเราจะโตโดยไม่คำนึงถึง ESG ไม่ได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
@คาดเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู’ จะเป็นประเด็นกระทบไทย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีตัวอย่างชัดเจน คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยไทยเป็นประเทศที่สร้างก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เพราะประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำมาก และไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกมาก เช่น ในภาคเกษตรจะเห็นได้ว่าความสามารถในการเพาะปลูกสินค้าเกษตรของไทยลดลงมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
“โครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นอยู่อย่างเดิม เป็นไปได้ค่อยข้างลำบากในภาวะ climate change ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่า มีโอกาสถูกน้ำท่วมอันดับที่ 7 ของโลก และผลที่เราเห็นค่อนข้างแรง อย่างปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วม ปีนั้นจีดีพีเราโตแค่ 0.1% หลังจากนั้นปี 2556-57 จากท่วมก็กลายเป็นแล้ง เราก็เห็นว่าเกษตรกรรายได้หายไป 1.5 หมื่นล้านบาท จากเรื่องภัยด้านสิ่งแวดล้อม” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนด้านสังคม เมื่อมองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงจะมากระทบกับไทยก็มีอยู่ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ตนเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีก โดยเฉพาะหลังนายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะประเด็นในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตสนใจและให้ความสำคัญมากอยู่แล้ว
“มีโอกาสที่ประเด็นพวกนี้ ซึ่งเคยเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของเรา จะถูกหยิบกลับมาเป็นประเด็นจะมีค่อนข้างสูง ก็เลยเห็นว่าที่ผ่านมา เราโตแบบไม่คำนึง ESG แต่ในอนาคตความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจเรื่อง ESG จะมีสูงขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
@แนะใช้ ESG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายเศรษฐพุฒิ เสนอว่า หากไทยจะเติบโตแบบยั่งยืน ต้องเปลี่ยนจากการเติบโตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG มาเป็นการเติบโตโดย ESG หรือเติบโตเพราะ ESG คือ เราต้องให้ ESG เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ซึ่งตนมองว่ามีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในเซ็กเตอร์ที่เป็นโอกาสของไทยในอนาคต เช่น กลุ่ม health wellness ทั้งในภาคการท่องเที่ยว หรือกระแส work anywhere (การทำงานที่ไหนก็ได้) อาหารออแกนิค และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
“ถ้าเราไม่ทำอะไรจะเกิดขึ้น ลองไปดู พระเอกส่งออกของเราตอนนี้ 3 ตัว คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี มีมูลค่า 50% ของการส่งออกไทย ถ้าเราไม่ปรับตัว อย่างรถยนต์ ถ้ายังไม่ไปเรื่อง EV ก็ตกกระแส เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ คนก็กังวลเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น หรือปิโตรเคมี ตอนนี้มีกระแสต่อต้านพลาสติก และถ้าไม่มีการนำเรื่อง circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) เข้ามาใช้ โอกาสที่การส่งออกของเราจะโต เป็นไปได้ยากมาก
growth engine เดิม ทำแบบเดิม จะไม่สามารถทำให้เกิดการเติบโตในอนาคตได้ แต่วิกฤติเหล่านี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะปรับตัวและกลับมาให้ดีกว่าเดิม อย่างสายการบินแอร์ฟรานซ์ และKLM เจอปัญหาเหมือนสายการบินทั่วโลก และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่การช่วยเหลือของรัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในเงื่อนไขที่เขากำหนดไว้ คือ สายการบินต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ในประเทศของเขา” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท. ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตลาดหลักทรัย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกระทรวงการคลัง ผลักดันนโยบาย ESG ขณะที่ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ไทยผนวกเรื่อง ESG เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามเรื่องธนาคารเพื่อความยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
@หนุนเอกชนผลักดัน ESG ทันที-ไม่ต้องรอภาครัฐนำ
นายเศรษฐพุฒิ ยังเรียกร้องให้ภาคเอกชนทำเรื่อง ESG ทันที โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเอกชนมีศักยภาพที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว และช่วงหลังจะเห็นบริษัทไทยเข้าไปอยู่ในดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 22 บริษัท และอยู่ในระดับโลก 12 บริษัทฯ ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทไทยมีศักยภาพ และมีความสามารถที่จะเข้าสู่เวทีโลกในเรื่อง ESG ได้เอง
“ผมไม่คิดว่าแนวทางหรือวิธีการที่จะไปสู่ ESG นั้น จะต้องใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวนำ เป็นตัวหลัก บ้านเรา หลายที เมื่อเห็นปัญหา ต้องให้ภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่หลายที การที่มีปัญหาแล้วให้ภาครัฐเข้าไป อาจจะไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหา…และต้องไม่ใช่การออกกฎระเบียบมากำกับอย่างเดียว ซึ่งบ้านเราอย่างที่ทราบกันดีว่า มีกฎระเบียบมากเกิน ขณะที่การละ เลิก กฎระเบียบเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเราโตได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การผลักดันเรื่อง ESG ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทำได้ เห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งพบว่าระบบธนาคารมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล แต่ตอนนี้ดีกว่าปี 2540 อย่างเห็นได้ชัด และระบบธรรมาภิบาลของภาคเอกชนเองก็มีความเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการใส่ใจเกี่ยวกับบทบาทของบอร์ด กรรมการอิสระ บทบาทของตลาดทุนและนักลงทุนนาการตรวจสอบเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความโปร่งใส และเมื่อเรามาเจอวิกฤติโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้เรามาดูเรื่อง ESG
อ่านประกอบ :
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/