"...คู่มือพนักงานฉบับเดิมได้กำหนดสวัสดิการอื่นๆของพนักงาน เช่น บริษัทจะเป็นผู้รับภาระ 'เสียภาษีเงินได้' ให้พนักงานที่เข้าทำงานกับบริษัทก่อนวันที่ 1 ม.ค.2548 เฉพาะส่วนเงินที่ได้รับจากบริษัท...สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ และสิทธิในการรับ 'ค่าตอบแทนพิเศษ' ในอัตรา 11-20 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างเดือนสุดท้าย สำหรับผู้เกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และทำงานกับบริษัทติดต่อกันมาอย่างน้อย 15 ปี เป็นต้น..."
“บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงองค์กรให้กระชับ ปรับลดกระบวนการขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น เพิ่มศักยภาพการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกันพิจารณาปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของพนักงาน และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”
ข้อกำหนดดังกล่าวเป็น 1 ใน 5 แนวทางเบื้องต้น ของการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผู้แทนบริษัท การบินไทย ได้ชี้แจงต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ผ่านการประชุมออนไลน์ E-Meeting เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : 5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน)
แต่ทว่า 4 วันก่อนหน้านั้น หรือเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย และ พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการบริษัท การบินไทย ร่วมกันลงนามประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย ‘ฉบับใหม่’
และนี่อาจเรียกได้ว่า ‘ก้าวแรก’ ของปฏิบัติการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว
@ข้อบังคับฉบับใหม่ยึดกฎหมายแรงงานเป็นหลัก
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศ ‘ข้อบังคับ’ เกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย ‘ฉบับใหม่’ ดังกล่าว จะพบว่าแตกต่างจาก ‘คู่มือ’ พนักงานบริษัท การบินไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 พ.ค.58 อย่างสิ้นเชิง และทำให้วันนี้ บริษัท การบินไทย ไม่เหลือ ‘เค้าลาง’ ของการเป็นรัฐวิสาหกิจ เหมือนเช่นตลอด 60 ปีที่ผ่านมา
เริ่มจากข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ที่มีผลบังคับใช้กับพนักงาน 'ทุกระดับ' ให้ยึดตาม 'กฎหมายแรงงาน' เป็นหลัก ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากเดิมที่ข้อบังคับเกี่ยวกับ 'สภาพการจ้างงาน' ของพนักงานบริษัท การบินไทย จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ที่สำคัญการที่บริษัท การบินไทย ‘พ้นสภาพ’ จากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้วนั้น ทำให้บริษัทฯไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 เป็นต้น
@ลดวันหยุดตามประเพณีเหลือ 13 วัน-วันลาพักร้อนเหลือปีละ 6 วัน
ส่วนวันทำงาน เวลาทำงาน และเวลาพักนั้น แม้ว่าข้อบังคับฉบับใหม่แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากคู่มือพนักงานฉบับเดิมนัก โดยกำหนดเวลาทำงาน 5 วันจันทร์ถึงศุกร์ วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนพนักงานที่ทำงานเป็นกะ จะทำงานปกติไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แต่ปรากฎว่าข้อบังคับฉบับใหม่ลดจำนวน ‘วันหยุด’ ตามประเพณีของพนักงานเป็น 'ไม่น้อยกว่า 13 วัน' ซึ่งรวมถึงวันแรงงาน พร้อมทั้งลดสิทธิ ‘วันหยุดพักผ่อนประจำปี’ ของพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี เหลือ 'ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน' และสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกิน 3 ปีติดต่อกัน
ต่างจากคู่มือฉบับเดิมที่กำหนดให้มีวันหยุดตามประเพณี 'ปีละ 17 วัน' และกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 12-24 วัน ตามอายุการทำงานของพนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปีขึ้นไป ขณะที่พนักงานระดับ 'ผู้อำนวยการใหญ่' มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้สูงสุดปีละ 28 วัน โดยพนักงานยังสามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนได้ไม่เกิน 3 ปีติดต่อกันได้เหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน ข้อบังคับฉบับใหม่ได้ลด ‘ค่าทำงานในวันหยุด’ เหลือไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน และจ่ายตามชั่วโมงที่ได้ทำงาน ต่างจากคู่มือพนักงานฉบับเดิมที่กำหนดค่าทำงานในวันหยุด 2 เท่าของอัตราเงินเดือนค่าจ้าง และจ่ายค่าทำงานพิเศษให้พนักงานที่ทำงานเป็นกะ ในช่วงเวลา 22.00-07.00 น. ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ในอัตรา 200 บาท
อย่างไรก็ดี ข้อบังคับฉบับใหม่ได้เพิ่มเติมข้อกำหนด ‘การจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุด’ ให้แก่พนักงานในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน และจ่ายตามชั่วโมงที่ได้ทำงาน จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้
นอกจากนี้ ข้อบังคับฉบับใหม่ได้ ‘ตัด’ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอลาหยุดกรณีต่างๆออกไป เช่น การขอลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง การลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างเพื่อติดตามคู่สมรส ซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ประจำในต่างประเทศ การลาอุปสมบท และการลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมของพนักงานหญิง เป็นต้น
(บริษัท การบินไทย จัดเที่ยวบินพิเศษ เส้นทางลอนดอน-กรุงเทพฯ รับผู้โดยสารชาวไทยที่ตกค้างในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์กลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2563 ขอบคุณภาพ : เพจ Thai Airways)
@ตัดข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิการพนักงานออกทั้งหมด
สำหรับเรื่อง ‘สวัสดิการพนักงาน’ นั้น ข้อบังคับฉบับใหม่ ตัดเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการพนักงานออกไปทั้งหมด และให้สวัสดิการของพนักงานในเบื้องต้นเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้สวัสดิการที่พนักงานบริษัท การบินไทย เคยได้รับ 'อาจจะ' ไม่มีอีกต่อไปแล้ว (อ่านประกอบ : เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!)
ในขณะที่คู่มือพนักงานบริษัท การบินไทย ฉบับเดิม มีการกำหนดสวัสดิการพนักงานไว้หลายเรื่องด้วยกัน เช่น สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้บุคคลในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส และบุตรที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีและยังไม่ได้สมรส จำนวนไม่เกิน 3 คน รวมถึงสิทธิอื่นๆที่จะได้รับจากบริษัทฯ เช่น การออกค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนในกรณีต่างๆ
การได้รับสิทธิบัตรโดยสารฟรีและบัตรโดยสารลดราคา ซึ่งกรณีสิทธิบัตรโดยสารฟรีนั้น แต่ละปีพนักงานที่ผ่านการทดลองงานแล้ว มีสิทธิขอบัตรโดยสารฟรีประเภทสำรองที่นั่งไม่ได้ (R2 100%) ให้ตนเอง คู่สมรส และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเดินทางไปต่างประเทศและภายในประเทศได้ 1 เที่ยว (ไปและกลับ) หรือ 2 เที่ยวไปหรือกลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ คู่มือพนักงานฉบับเดิมยังมีการกำหนดสวัสดิการอื่นๆของพนักงาน เช่น บริษัทจะเป็นผู้รับภาระ 'เสียภาษีเงินได้' ให้พนักงานที่เข้าทำงานกับบริษัทก่อนวันที่ 1 ม.ค.2548 เฉพาะส่วนเงินที่ได้รับจากบริษัท ,สิทธิการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า 1 เดือนสำหรับพนักงานที่ผ่านการทำลองงานแล้ว สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการเรียนภาษาต่างประเทศ
สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตร สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ และสิทธิในการรับ 'ค่าตอบแทนพิเศษ' ในอัตรา 11-20 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างเดือนสุดท้าย สำหรับผู้เกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และทำงานกับบริษัทติดต่อกันมาอย่างน้อย 15 ปี เป็นต้น เป็นต้น
“ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้น หลังจากการแปรสภาพออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ บริษัทมุ่งหมายที่จะแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนี้อีกครั้งในอนาคต เพื่อให้สามารถใช้บังคับกับพนักงานทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน” เนื้อหาในประกาศข้อบังคับฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานบริษัท การบินไทย ‘ฉบับใหม่’ ในช่วงรอยต่อก่อนที่ศาลล้มละลายจะมีการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ในวันที่ 17 ส.ค.63 นั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นในการ ‘รีดไขมัน’ ตามแนวทางฟื้นฟูกิจการฯที่ฝ่ายบริหารบริษัท การบินไทย วางไว้
แต่สิ่งที่น่าจับตาไม่น้อย คือ ปฏิกิริยา ‘คลื่นใต้น้ำ’ ของพนักงานบริษัท การบินไทย กว่า 2 หมื่นคน โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีสัดส่วน 80% ของพนักงานทั้งหมด
พนักงานฝ่ายบริการบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย รายหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานบริษัท การบินไทยฉบับใหม่ ไม่เป็นคุณกับพนักงานเลย และเท่าที่ได้ฟังในหมู่เพื่อนพนักงานพบว่า 50% ยังนิ่งเฉยอยู่ แต่อีก 50% มีการตื่นตัวและสอบถามเรื่องนี้ไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ ว่าเหตุใดฝ่ายบริหารจึงออกข้อบังคับฉบับนี้ออกมา
"ตอนนี้พนักงานครึ่งหนึ่งตื่นตัว และได้สอบถามไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า เหตุใดจึงมีออกข้อบังคับลักษณะนี้ออกมา และทราบมาว่าในกลุ่มพนักงานเองก็มีการล่าชื่อคัดค้านข้อบังคับฉบับนี้ ก่อนจะทำหนังสือร้องทุกข์กับฝ่ายบริหารตามระเบียบขั้นตอนของบริษัทฯ รวมทั้งขอหารือกับฝ่ายบริหารต่อไป"แหล่งข่าวระบุ
แน่นอนว่าแผนการ 'รัดเข็มขัด' ของบริษัท การบินไทย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แต่การสร้างความ ‘ร่วมมือร่วมใจ’ ในหมู่พนักงาน เพื่อนำพา ‘สายการบินไทย’ กลับมาโลดแล่นบนน่านฟ้าอีกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
อ่านประกอบ :
การบินไทยยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการที่ศาล'สวิส-เยอรมัน-ญี่ปุ่น'ป้องกันถูกยึดทรัพย์
แจ้งเป็นทางการ! ‘การบินไทย’ ลดเงินเดือนพนง.10-50% อีก 3 เดือน-บอร์ดไม่รับค่าตอบแทน
จ่ายเงินช่วยเหลือ 50-90% 'การบินไทย’ สั่ง พนง.หยุดปฏิบัติงาน 2 เดือน
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/