‘การบินไทย’ แจง 5 ประเด็นหลักฟื้นฟูกิจการฯ ก่อนส่งเจ้าหนี้โหวตแผนก.พ.-มี.ค.64 ขณะที่บอร์ดฯเสนอศาลฯตั้ง ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ เป็นผู้ทำแผนเพิ่ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามบริษัทฯได้จัดประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งพิเศษที่ 12/2563 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยมีมติแต่งตั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นกรรมการบริษัทฯ แทนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และเป็นกรรมการอิสระ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป นั้น
บริษัทฯ ขอเรียนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ดังกล่าว มีมติสนอให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ หรือ ‘ผู้ทำแผน’ ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เพิ่มเติม โดยบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฯ แก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทฯ ขอแล้วในวันที่ 5 มิถุนายน 2563
ดังนั้น ผู้ที่บริษัทฯ เสนอต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้ทำแผนของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เชอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ,นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ,นายพีระพันธุ์ สาลีฐวิภาค ,นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ,นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
วันเดียวกัน นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานสรุปแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณา และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง กรณีหลักทรัพย์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถูกขึ้นเครื่องหมาย C ว่า กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 อันเนื่องมาจากการที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นั้น
บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบถึงรายงานสรุปแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ดังนี้
@ที่มาและสาเหตุของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
บริษัทฯมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดและที่กำลังจะถึงกำหนดชำระได้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. สภาพการแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่ปรับเปลี่ยนและทวีคามรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การแข่งขันในธุรกิจสายการบินปรับเปลี่ยนและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาคอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศ จนทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ ในปี 2547 ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเปิดน่านฟ้าเสรี ทำให้บริษัทฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาทั้งจากสายการบินตันทุนต่ำที่ให้บริการอยู่เดิมและสายการบินต้นทุนต่ำรายใหม่ และสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินต่างชาติที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย
2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19)
การแพร่ระบาดของ COVD 19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สุดวิสัยอันไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งมีรายรับลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักมากขึ้น และไม่อาจชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระได้ บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างกระทันหัน ทำให้มีลูกค้าซึ่งเป็นผู้โดยสารที่ได้จองหรือซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าต้องขอยกเลิกหรือถูกยกเลิกบัตรโดยสารและขอเงินคืนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการบินของบริษัทฯ เช่น การให้บริการคลังสินค้า การให้บริการอุปกรณ์ภาคพื้น ครัวการบิน ก็ต้องหยุดหรือมีการให้บริการที่ลดลงทั้งสิ้น
3. ปัญหาจากความไม่คล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
การมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ไม่คล่องตัวเพียงพอที่จะแข่งขันในอุตสาหกรม ซึ่งมีการแข่งขันสูงและต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เช่น การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ซึ่งใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ หรือการกำหนดนโยบายการบริหารงาน แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องทำตามกระบวนการที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
@ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทฯไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
1.บริษัทฯ ไม่มีทางที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยจะต้องถูกบอกเลิกสัญญาและสิทธิต่างๆ อันเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการบินและต้องถูกฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้จนอาจถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด
2.หากบริษัทฯ ล้มละลาย จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อบริษัทฯ เจ้าหนี้ พนักงานของบริษัทฯ ผู้ลงทุน ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ โดยจะทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและพนักงานทั้งหมดจะว่างงานพร้อมกันในทันทีและได้รับผลกระทบมาก นอกจากนี้ หากบริษัทฯ ต้องหยุดดำเนินธุรกิจ บริษัทอื่นๆ ที่บริษัทฯ ว่าจ้าง (outsources) และคู่ค้าบางบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะทางเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินของบริษัทฯ อาจต้องประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน
3.หุ้นของบริษัทฯ ย่อมไม่มีมูลค่า และบริษัทฯ ย่อมไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก และผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหลายได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังทำให้นักลงทุนต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุนไนบริษัทที่ดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพราะบริษัทฯเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
4.ธุรกิจของบริษัทฯ เป็นฟันเฟืองที่มีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะบริษัทฯประกอบกิจการขนส่งทางอากาศยานและธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากธุรกิจของบริษัทฯ ต้องหยุดไป ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่น ๆในวงกว้าง
@กรอบระยะเวลาในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ
วันที่ 13 ส.ค.63 เป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้านมีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้านขอฟื้นฟูกิจการ และวันที่ 17 ส.ค.63 ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ คาดว่าปลายเดือน ส.ค.-ต้นเดือน ก.ย.63 ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และกรณีศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประมาณเดือน ม.ค.2564
เดือน ก.พ.-มี.ค.64 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู และเดือน เม.ย.64 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟู โดยขยายกำหนดระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเจ้าหนี้เสนอผู้ทำแผนขึ้นมาแข่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนประมาณเดือนพ.ย.63 และเดือน ม.ค.64 ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เดือน เม.ย.64 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนเดือน พ.ค.64 ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการเดือน มิ.ย.64 และตั้งผู้บริหารแผนดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
@แนวทางการแก้ไขเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ประสบความสำเร็จและพ้นจากเหตุการขึ้นเครื่องหมาย C
1.การเสนอแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา
บริษัทฯ ได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เชอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผน โดยหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลายกลาง จะมี (ก) อำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ (ข) อำนาจจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และ (ค) บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
2.ช่องทางการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในเบื้องต้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯที่จะถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล)
(ก) การปรับโครงสร้างหนี้
บริษัทฯ จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยเจรจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อให้ภาระการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสด จากการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว
(ข) การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน
บริษัทฯ จะพิจารณาบริหารจัดการหรือยกเลิกเส้นทางบินที่กำไรต่ำหรือไม่สามารถปรับปรุงให้สามารถทำกำไรให้แก่บริษัทฯ ในอนาคตได้ ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางบินให้เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมและการแข่งขัน และอาจปรับปรุงการบริหารจัดการหรือปรับลดประเภทของเครื่องบินในฝูงบินเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน
(ค) การปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน
บริษัทฯ จะดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหน่วยธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรโดยการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น การจัดตั้งบริษัทย่อย การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเข้ามาร่วมทุน เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของหน่วยธุรกิจ
(ง) การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้
บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยเป็นการจำหน่ายตรงผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ อินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างการคิดค่าตอบแทน เงื่อนไข และการประเมินผลงานของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น และการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำหนดราคาบัตรโดยสารและการปล่อยที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด
(จ) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร
บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงองค์กรให้กระชับ ปรับลดกระบวนการขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น เพิ่มศักยภาพการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกัน พิจารณาปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของพนักงาน และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
@ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ
1.ความร่วมมือของเจ้าหนี้
การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จตามเป้าหมาย ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่เพียงพอตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ทำแผน การพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน และการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน
2.การสนับสนุนของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ
รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เพื่อติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้อย่างประสบความสำเร็จ
3.ปัจจัยอื่น ๆ
ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ นอกจากจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเจ้าหนี้และการสนับสนุนจากรัฐบาลตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยงๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) แนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต
- ความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ในการเดินทาง การจำกัดจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ
- การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน
- การชะลอตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology)
(ข) สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
(ค) นโยบายของรัฐบาลและความมั่นคงทางการเมือง
(ง) ภัยพิบัติและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
(จ) ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน
(ฉ) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
(ช) ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
(ซ) ความผันผวนของราคาน้ำมัน
(ฌ) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ เส้นทาง และเวลาการบิน
(ญ) การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ฎ) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ
(ฏ) จำนวนหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้
(ฐ) ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
อ่านประกอบ :
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
แจ้งเป็นทางการ! ‘การบินไทย’ ลดเงินเดือนพนง.10-50% อีก 3 เดือน-บอร์ดไม่รับค่าตอบแทน
จ่ายเงินช่วยเหลือ 50-90% 'การบินไทย’ สั่ง พนง.หยุดปฏิบัติงาน 2 เดือน
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/