“...ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ผู้บริหารการบินไทยบางราย ได้ติดต่อเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบิน A340-500/600 และเครื่องบิน B777-200ER กับบริษัทโรลส์-รอยซ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปราฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองพิจารณาคัดเลือกตัดสินเพื่อดำเนินการจัดหาตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุฯ…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า คดีสินบนข้ามชาติ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 โดยองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ แจ้งข้อกล่าวหาแก่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ อดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวม 10 ราย (เดิม 11 ราย แต่เสียชีวิต 1 ราย) จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย และมีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วนั้น (อ่านประกอบ : อดีตบิ๊กบินไทยแก้ข้อกล่าวหาคดีโรลส์รอยซ์แล้ว! ป.ป.ช.จ่อสรุปสำนวน-ไร้ชื่อนักการเมือง)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา สรุปสาระสำคัญในสำนวนการไต่สวนขององค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ดังนี้
กรณีดังกล่าวเกิดเหตุระหว่างเดือน มี.ค.-ธ.ค. 2547 โดยขณะนั้น การบินไทย ไม่สามารถจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง แบบ B747-400 ใช้แล้ว ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ (UA) ตามโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 2545/46 2549-50 ได้ (แผนเดิม) ในเดือน มี.ค. 2547 การบินไทยจึงมีการพิจารณาปรับปรุงเส้นทางบินศึกษาการจัดหาเครื่องบินเช่าและการเลื่อนกำหนดรับมอบเครื่องบินแอร์บัส แบบ A340-600 ให้เร็วขึ้น โดยเป็นที่ยุติว่า การบินไทยจะไม่ทำการเช่าเครื่องบิน และการบินไทยโดยฝ่ายบริหารจะทำการศึกษาการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม โดยซื้อตามความต้องการ Capacity เพิ่ม
โดยช่วงเดือน เม.ย-พ.ค. 2547 ผู้บริหาระดับสูงรายหนึ่ง ได้ทำการร้องขอให้บริษัท โบอิ้ง (The Boeing Company) พัฒนาและเสนอเครื่องบินโบอิ้งแบบ B777-300 และ B777-200 โดยบริษัท โบอิ้ง แจ้งว่า คำร้องขอดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจเนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุน และแนะนำให้ซื้อเครื่องบิน B777-300ER ใหม่ หรือ B777-200LR ซึ่งจะตรงต่อความต้องการของการบินไทยมากที่สุด
อย่างไรก็ดีบริษัท โบอิ้ง เสนอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการขึ้นสูงสุด (MTOW) สำหรับเครื่องบิน B777-300 ให้เป็น 666,000 ปอนด์ ด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 8892 อาจะได้ในราคา 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือการบินไทยอาจเลือกที่จะซื้อเครื่องบิน B777-200ER ในน้ำหนักการขึ้นที่ต่ำสุดที่ 5.8 แสนปอนด์ ด้วยเครื่องยนต์ TRENT 884 หรือ น้ำหนักการขึ้นสูงสุดที่มากกว่า 6.5 แสนปอนด์ หากได้รับการร้อง บริษัท โบอิ้ง จะส่งข้อเสนอให้แก่การบินไทย
สำหรับเครื่องบิน B777-200ER ที่น้ำหนักขึ้นสูงสุดอยู่ระหว่าง 5.8-6.5 แสนปอนด์ ความแตกต่างของน้ำหนักการขึ้นสูงสุดระหว่าง 5.8-6.5 แสนปอนด์ อยู่ที่ประมาณ 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการรายงานการติดต่อเจรจากับบริษัท โบอิ้ง ดังกล่าวให้กับผู้บริหารระดับสูง บอร์ดการบินไทยบางรายทราบโดยตลอดแล้ว
ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจการบินไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางรายนั่งเป็นกรรมการ เพื่อจัดทำแผนวิสาหกิจของการบินไทย และคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจการบินไทย ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นอนุกรรมการด้วยหลายราย
ทั้งนี้คณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจฯ ได้ให้คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว เร่งรัดการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย เช่น การเพิ่ม ลดจำนวนเครื่องบิน การจัดหาเครื่องยนต์ และอะไหล่เครื่องบิน รวมทั้งการลงทุนอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนวิสาหกิจของบริษัท เป็นต้น โดยให้คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน และรายงานต่อคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจฯ ในเดือน ก.ค. 2547
ต่อมา 20 ก.ค. 2547 คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้พิจารณาแผนฝูงบิน โดยฝ่ายวางแผนนำเสนอเส้นทางบินและฝูงบินปี 2005/06-2009-10 สรุปว่า จะมีการขยายเส้นทางบินภูมิภาคด้วยเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) ความจุประมาณ 300 ที่นั่ง จำนวน 6 ลำ และขยายเส้นทางบินภูมิภาคด้วยเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางที่จัดหาเพิ่มเติมจำนวน 1 ลำ
โดยบอร์ดการบินไทยรายหนึ่ง รวมถึงอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวอีกรายหนึ่ง มีข้อคิดเห็นให้คณะทำงานฯ สรุปได้ว่า การพิจารณาใช้งานเครื่องบิน A340-600 ที่สั่งซื้อแล้ว 5 ลำ ในแผนที่นำเสนอว่าจะใช้ไปอเมริกา ควรพิจารณาเส้นทางยุโรปที่ความต้องการปานกลางหรือเที่ยวบินยังไม่เต็มลำ แผนจัดหาเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางอีก 7 ลำ ควรแยกเป็นเครื่องบิน A-340-600 ออกมา 1 ลำ รวมกับที่มีอยู่แล้ว 5 ลำเป็น 6 ลำ ส่วน LM ที่คงเหลือ 6 ลำ ควรเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งในตลาดมีเครื่องบิน B777-200ER และ A340-600 เพื่อศึกษาเปรียบเทียบต่อไป โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติให้ปรับปรุงผลการดำเนินงานในเส้นทางสายอเมริกาใหม่ โดยปรับกลยุทธ์ด้านการขาย เส้นทางบิน และเครื่องบินที่นำมาใช้
โดยที่เครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER เป็นเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) และเป็นเครื่องบินแบบเดียวกันกับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200 และ B777-300 ที่การบินไทยมีใช้งานอยู่ในฝูงบินรวม 14 ลำ โดยเครื่องยนต์ที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบินดังกล่าวได้คือ Rolls-Royce (TRENT 800), Pratt & Whitney (PW4000) และ General Electric (GE90)
ในการเสนอขายเครื่องบินแบบ B777 (B777-200/300/200ER) ให้แก่การบินไทยตั้งแต่ปี 2534-2546 บริษัท โบอิ้ง จะนำเสนอยี่ห้อและรุ่นของเครื่องยนต์ ที่เสนอมากกว่า 1 ยี่ห้อให้การบินไทยเลือกติดตั้งกับ B777 หากมีการสั่งซื้อเครื่องบิน โดยในการเลือกเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน (Engines on Wing) การบินไทย จะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งเครื่องบินใหม่ตามแผนวิสาหกิจของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีต
(เครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ของการบินไทย, ภาพจาก : https://upload.wikimedia.org/)
ต่อมา 21 ก.ค. 2547 มีการรายงานผลประชุมคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว แก่คณะกรรมการกำกับกลยุทธ์ของการบินไทย โดยที่ประชุมบอร์ดกำกับกลยุทธ์ฯ รับทราบ และมอบหมายให้เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนาฝูงบิน และให้นำเสนอบอร์ดการบินไทย พิจารณาในกำหนดการประชุม 28 ก.ค. 2547
อย่างไรก็ดีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงกลางวันของวันที่ 21 ก.ค. 2547 ผู้บริหารของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ปรึกษาของบริษัท โบอิ้ง ในประเทศไทย ถูกเรียกให้ไปพบ ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง เพื่อพูดคุยสอบถามและเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายเครื่องบินโบอิ้งแบบ B777-200ER โดยแจ้งให้บริษัท โบอิ้ง ใช้อำนาจที่มีเหนือบริษัท โรลส์-รอยซ์ และทำให้มั่นใจว่าราคาเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ และราคาชิ้นส่วนเครื่องยนต์นั้นสมเหตุสมผล
แต่ที่ปรึกษาบริษัท โบอิ้ง ได้แย้งว่า เนื่องจากการบินไทยเลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์เอง และควรที่จะมีอำนาจเจรจาต่อรองกับผู้จำหน่ายโดยตรง นอกจากนี้บริษัท โบอิ้ง ไม่มีอำนาจควบคุมโรลส์-รอยซ์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้บริหารการบินไทยรายนี้ ยืนกรานให้บริษัท โบอิ้ง สนับสนุนคำขอดังกล่าว โดยบริษัท โบอิ้ง มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงรายนี้ว่า การเพิ่มน้ำหนักขึ้นสูงสุด (MTOW) ของเครื่องบิน B777-200 ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน กรณีต้องการให้บริษัท โบอิ้ง สนับสนุนและช่วยเหลือเกี่ยวกับโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่ติดตั้งกับเครื่องบิน B777 ของการบินไทย เพื่อให้การจัดทำราคาและอัตราต่าง ๆ สมเหตุสมผลนั้น บริษัท โบอิ้ง ยินดีให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
ต่อมา 22 ก.ค. 2547 บริษัท โบอิ้ง มีหนังสือเสนอขาย และข้อเสนอทางพาณิชย์ แก่บอร์ดการบินไทย และผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย โดยเสนอขายเครื่องบินโบอิ้ง B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แบบ RB211-TRENT 884 เพียงยี่ห้อเดียว โดยราคาเครื่องยนต์ดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ 29,981,814 เหรียญสหรัฐฯ/ลำ (จำนวน 2 เครื่องยนต์)
วันถัดมา 23 ก.ค. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย และบอร์ดการบินไทยบางราย เพื่อเสนอขายเครื่องยนต์ TRENT 884 ติดตั้งเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินดังกล่าว โดยราคาเครื่องยนต์ TRENT 884 สำหรับติดตั้งเครื่องบินเมื่อหักส่วนลดแล้วมีราคาอยู่ที่ 19.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 ที่ตกแต่งแล้วมีราคาอยู่ที่ 14,968,848 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่องยนต์
ต่อมา 26 ก.ค. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย เสนอการยกระดับเครื่องยนต์หรืออัพเกรดเครื่องยนต์ที่เสนอขายเพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง 2 เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินดังกล่าว จากเครื่องยนต์ TRENT 884 เป็น TRENT 892 ในราคา 1,058,389 เหรียญสหรัฐฯต่อเครื่องยนต์ โดยเมื่อหักส่วนลดแล้ว การอัพเกรดดังกล่าวจะมีราคาอยู่ที่ 372,540 เหรียญสหรัฐฯ/เครื่องยนต์ ส่วนการอัพเกรดเครื่องยนต์สำรองจะมีราคา 952,550 เหรียญสหรัฐ/เครื่องยนต์
วันเดียวกัน คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนลงทุนระยะยาวของการบินไทย ได้ร่วมกันพิจารณาแผนเส้นทางบินและฝูงบินปี 2005/06-2009-10 โดยจะมีการจัดหาเครื่องบินอีก 14 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่พิเศษ (LS) จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการตามแผนเส้นทางการบินและฝูงบินดังกล่าวตามที่เสนอ และเตรียมนำเสนอบอร์ดการบินไทยในวันที่ 28 ก.ค. 2547 อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว มีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน B777-200ER และพิจารณาการจัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบินดังกล่าว ทั้งที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินทั้ง แอร์บัส และโบอิ้ง ต่างเสนอขายเครื่องบินตามความต้องการให้แก่การบินไทยพิจารณา รวมทั้งบริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ ได้ยื่นข้อเสนอขายเครื่องยนต์ที่จะใช้ติดตั้งกับเครื่องบินและเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินดังกล่าว ตามที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน 2 แห่ง เสนอขายให้แก่การบินไทย
ต่อมาวันที่ 28 ก.ค. 2547 การประชุมคณะกรรมการกำกับกลยุทธ์การบินไทย บอร์ดการบินไทยรายหนึ่ง ได้แจ้งผลประชุมของคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวทราบ รวมถึงเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน บอร์ดการบินไทยทั้งคณะ ได้มีมติเห็นชอบตามแผนของคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2547 คณะกรรมการกำกับกลยุทธ์การบินไทย ที่มีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย ได้ประชุมกันโดยเร่งรัดให้ฝ่ายบริหารดำเนินการจัดหาเครื่องบินตามแผนพัฒนาฝูงบินดังกล่าวโดยเร็ว แต่กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท และฝ่ายบริหาร ดำเนินการจัดหาเครื่องยนต์ที่จะใช้ติดตั้งกับเครื่องบินตามแผนจัดหา โดยทำการเปรียบเทียบข้อเสนอการขายบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการบินไทย
(ภาพตัวอย่างเครื่องยนต์ TRENT 892 ของโรลส์-รอยซ์ (เครื่องบินในภาพไม่เกี่ยวกับคดีนี้), ภาพจาก : https://live.staticflickr.com/)
ขณะเดียวกันปราฏหลักฐานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง เสนอขายเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ TRENT 500 จำนวน 5 เครื่องยนต์ (รวม 7 เครื่องยนต์) สำหรับเครื่องบิน A340 จำนวน 10 ลำ (จัดหาแผนเดิม จำนวน 8 ลำ แผนใหม่ 2 ลำ) และ TRENT 884 จำนวน 2 เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ พร้อมจัดส่งร่างบันทึกข้อตกลงให้พิจารณา
ต่อมาเมื่อ 25 ส.ค. 2547 มีการเสนอขออนุมัติแผนเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาวดังกล่าว ต่อบอร์ดการบินไทย ซึ่งมีหลายรายตกเป็นผู้ถูกล่าวหาในคดีนี้ มีมติสำคัญคือเห็นชอบให้จัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วยแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ แอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ โบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ วงเงิน 96,355 ล้านบาท
แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดข้อเท็จจริงว่า ก่อนการเสนอขออนุมัติแผนดังกล่าว คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย และฝ่ายบริหาร ได้ดำเนินการจัดหาเครื่องยนต์ที่จะใช้ติดตั้งกับ B777-200ER จำนวน 6 ลำ โดยทำการเปรียบเทียบข้อเสนอขายของบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบินไทย หรือทำการเปรียบเทียบเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 892 กับเครื่องยนต์ Pratt & Whitney PW4090 ซึ่งติดตั้งกับเครื่องบิน B777-200ER ได้เช่นกัน และโบอิ้งเคยเสนอขาย B777-200ER ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ หรือ Pratt & Whitney ให้แก่การบินไทยเมื่อเดือน เม.ย. 2546 ทั้งที่เครื่องยนต์ Pratt & Whitney PW 4090 มีราคาต่ำกว่าเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TREN 892 แต่มีเพียงแผนการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของเครื่องบิน B777-200ER กับ A340-600 เท่านั้น ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนจำเป็น และถือว่ายังไม่ได้มีการนำเสนอเพื่อขอนุมัติตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 อันเป็นการมุ่งหมายให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับการบินไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งบนเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำดังกล่าว
วันถัดมา 26 ส.ค. 2547 ผู้บริหารระดับสูงการบินไทย ลงนามในสัญญา MOU กับแอร์บัส เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และลงนามในสัญญา Letter of Intent (L.O.I.) กับโบอิ้งสั่งซื้อเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ โดยสัญญาดังกล่าวอ้างถึงสัญญาขายเมื่อ 8 เม.ย. 2546 ที่เป็นการเสนอขายเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 8 ลำ ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ หรือ Pratt & Whitney ให้แก่การบินไทยด้วย
ขณะเดียวกันปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ผู้บริหารการบินไทยบางราย ได้ติดต่อเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบิน A340-500/600 และเครื่องบิน B777-200ER กับบริษัทโรลส์-รอยซ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปราฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองพิจารณาคัดเลือกตัดสินเพื่อดำเนินการจัดหาตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุฯ
นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องยนต์สำรองจำนวน 2 เครื่องสำหรับ B777-200ER จำนวน 6 ลำ มีการส่งข้อมูลราคาพร้อมทั้งร่างบันทึกข้อตกลง (MOA) ของเครื่อง TRENT 884 ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินคำนวณมูลค่าและการชำระเงิน ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าเครื่องยนต์ที่จะติดตั้งกับ B777-200ER จำนวน 6 ลำ ควรเป็นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 892 เนื่องจากมีการเพิ่มน้ำหนักสูงสุด (MTOW) จาก 5.8 แสนปอนด์ เป็น 6.5 แสนปอนด์ และโรลส์รอยศ์ได้เสนอการอัพเกรดเครื่องยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยการอัพเกรดเครื่องยนต์ดังกล่าวส่งผลให้การลงทุนในโครงการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมตามแผนวิสาหกิจของการบินไทย มีวงเงินสูงขึ้น รวมทั้งการจัดหาเครื่องยนต์สำรองของเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ดังกล่าวมีวงเงินสูงขึ้นตามไปด้วย
ต่อมา 29 ก.ย. 2547 มีการเสนอเรื่องต่อบอร์ดการบินไทยเพื่อให้ตอบ MOA ของโรลส์-รอยซ์ในการจัดหาเครื่องยนต์ โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติตามข้อเสนอ และมีมติให้ผู้บริหารระดับสูงลงนามใน MOA ดังกล่าวได้ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าในรายงานการประชุมเรื่องตามวาระดังกล่าว มีการระบุหัวข้อเป็น MOA เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT 500 และ TRENT 892 จากโรลส์-รอยซ์ และระบุรุ่นเครื่องยนต์เป็น TRENT 892 ในขณะที่ระเบียบวาระการประชุมและเอกสารการประกอบพิจารณาระบุเป็น TRENT 884 รวมทั้งราคาเครื่องยนต์ที่ขอเสนออนุมัติยังเป็น TRENT 884 อันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่สำหรับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ ให้แก่การบินไทย
หลังจากนั้นเมื่อ 21 ต.ค. 2547 ผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยได้ลงนาม MOA กับโรลส์-รอยซ์ สั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT 500 สำหรับเครื่องบิน A340-500/600 จำนวน 5 เครื่องยนต์ และ TRENT 892 สำหรับ B777-200ER จำนวน 2 เครื่องยนต์
หลังจากนั้นมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยได้รับการยกเว้นปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 และอนุมัติให้ดำเนินการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 2005/05-2009/2010 จำนวน 14 ลำ วงเงิน 96,355 ล้านบาท ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องบินกับบริษัทผู้ขายจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยช่วงเดือน ธ.ค. 2547 ผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยได้ลงนามตามการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค. 2548 ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง ลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ TRENT 500 กับบริษัท โรลส์-รอยซ์ ต่อมา 15 มิ.ย. 2549 ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยบางราย ได้ลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ TRENT 892 กับบริษัท โรลส์-รอยซ์ พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขาย ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2
ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนามุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เอื้ออำนวยแก่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาขายเครื่องยนต์ จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 11 ราย (เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เหลือ 10 ราย) จากผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 26 ราย
ปัจจุบันผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 10 ราย ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ดังนั้นต้องรอดูว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ?
อ่านประกอบ :
อดีตบิ๊กบินไทยแก้ข้อกล่าวหาคดีโรลส์รอยซ์แล้ว! ป.ป.ช.จ่อสรุปสำนวน-ไร้ชื่อนักการเมือง
เป็นทางการ! ป.ป.ช.แจ้งข้อหา 10 รายพันคดีสินบนโรลส์รอยซ์-คาดเสร็จสิ้นปี 62
ไม่มีชื่อนักการเมือง!ป.ป.ช.แจ้งข้อหา ‘บอร์ด-อนุแผนลงทุน’การบินไทย 7-8 ราย คดีโรลส์รอยซ์
โชว์ชัดๆ 'INFO' ไทม์ไลน์คดีสินบน 'โรลส์รอยซ์-การบินไทย' 3 ยุค 1.2 พันล.
ครบทุกชื่อ 26 รายถูก ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์! 2 รมต.ยุคแม้ว-บอร์ดบินไทย-อนุฯทำแผน
หวั่นถูกเปิดเผย! SFO-ยธ.สหรัฐฯยังไม่ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.คดีสินบนโรลส์รอยซ์
ป.ป.ช ตั้งคณะ กก.เร่งรัดคดีสินบนข้ามชาติ-สั่งลุยหาข้อมูลกรณีไบโอ-ราด
ขมวด 11 คดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ ยังไม่ถึงไหน-วัดฝีมือองค์กรตรวจสอบไทย?
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ
เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
ได้ชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตั้งอนุฯสอบทันที! ป.ป.ช.ขีดเส้น ‘บินไทย-ปตท.’ต้องส่งข้อมูลสัปดาห์นี้
จำกัดประเภทเครื่องยนต์!เปิดมติ ครม. ยุค รสช.ไฟเขียวซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
เปิดบันทึกลับการบินไทยซื้อโรลส์รอยส์ช่วงสินบนก้อนแรก-ยุค'บิ๊ก'ทอ.คุม
เทียบชัดๆ บันทึกการบินไทย-ผลสอบSFO จุดเริ่มต้นสินบนโรลส์รอยส์ก้อนแรก?
บันทึกลับบินไทยชิ้น2 อนุมัติเปลี่ยนรุ่นโรลส์รอยส์ T-875 ช่วงรอยต่อสินบนก้อน1-2
บอร์ดดูละเอียดแล้ว! ‘บินไทย’ชง รมว. คมนาคมยุค‘รสช.’ ซื้อเครื่องบินคดีโรลส์รอยซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/