"...เป็นที่น่าสังเกตว่า จากงบดุลของบริษัท การบินไทย พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 ไม่มีการรายงานว่า บริษัทฯมี 'หนี้สินตามสัญญาเช่า' แต่ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 มี.ค.63 บริษัทฯได้รายงานว่ามีหนี้สินตามสัญญาเช่า รวมทั้งสิ้น 97,450.03 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 11,688.27 ล้านบาท และหนี้สินสัญญาตามเช่าที่เป็นหนี้สินระยะยาว จำนวน 85,761.76 ล้านบาท..."
ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ก่อนที่ศาลล้มละลายจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 ส.ค.นี้
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากเอกสารคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ซึ่งบริษัทฯยื่นต่อศาลฯเมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 นั้น ปรากฏข้อมูลว่า ณ วันที่ 21 พ.ค.63 บริษัทฯมีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระกับเจ้าหนี้หลายราย และบริษัทฯยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นวงเงินรวม 10,248.20 ล้านบาท โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
1.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิเสธการขยายระยะเวลาวงเงินสินเชื่อระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000 ล้านนาท ทำให้ลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวทันที
2.ธนาคารอิสลามแห่งประทศไทย ได้ทวงถามให้ลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ชำระคืนเงินต้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมกำไร ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นจำนวนรวม 500.60 ล้านบาท
3.กองบังคับการตรวจคนเข้ามือง 2 ได้ส่งหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ในฐานะตัวแทนเรียกเก็บเงินแทนบริษัทสายการบินผู้ใช้บริการหลายบริษัท ให้ชำระหนี้ค่าทำการนอกเวลาราชการ เป็นจำนวนรวมประมาณ 53 ล้านบาท
4.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีหนังสือถึงลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ทวงถามให้ชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังนำมาให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินต่อ จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท)สำหรับการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องบิน Airbus 380-800 จำนวน 2 ลำ และได้ทำธุรกรรมแปลงหนี้ (Swap) จากเงินเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นหนี้เงินยูโร
5.บริษัท แอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีซิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) ในฐานะทรัสตีประจำให้แก่ ซีรี่ย์ส์ วัน (Series One) ของกองทรัสต์แอร์แคป โกลบอล อาวิเอชั่น (Aercap Global Aviation Trust) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 มีเลขเครื่อง (Serial number) เลขที่ 35315 จำนวน 1 เครื่องและเครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 1000-AE จำนวน 2 เครื่อง
ได้แจ้งว่าลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่น ตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระแล้ว จำนวน 2,282,022 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 73.02 ล้านบาท) ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินประกัน โดยลูกหนี้มีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้
6.บริษัท แอร์แคป ไอร์แลนด์ แคปปิทัล ดีซิคเนท แอคทิวิตี้ (AerCap Ireland Capital Designated Activity Company) ในฐานะทรัสตีประจำให้แก่ ซีรี่ย์ส์ วัน (Series One) ของกองทรัสต์แอร์แคป โกลบอล อาวิเอชั่น (Aercap Global Aviation Trust) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 มีเลขเครื่อง (Serial number) เลขที่ 35316 จำนวน 1 เครื่องและเครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 1000-AE จำนวน 2 เครื่อง
ได้แจ้งว่าลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่น ตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระแล้ว จำนวน 2,285,134 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 73.12 ล้านบาท) ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินประกัน โดยลูกหนี้มีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้
7.บริษัท โกลด์ฟิช ฟันดิ้ง จำกัด (Goldfish Funding Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 มีเลขเครื่อง (Serial number) เลขที่ 38777 จำนวน 1 เครื่องและเครื่องยนต์ Rolls Royce Trent 1000-D2 จำนวน 2 เครื่อง ได้แจ้งว่าลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าเครื่องบินและเงินอื่นๆ ตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระแล้ว จำนวน 3,000,144 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 96 ล้านบาท)
ผู้ให้เช่าจึงหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินประกัน โดยลูกหนี้มีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องชำระเงินประกันดังกล่าวให้กลับมาเต็มจำนวนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้
8.บริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 มีเลขเครื่อง (Serial number) เลขที่ 36110 จำนวน 1 เครื่อง ได้แจ้งว่าลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งจำนวนที่ถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ซึ่งลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้
9.บริษัท ดีพี แอร์คราฟ ยูเค ลิมิเต็ด (DP Aircraft UK Limited) ในฐานะผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 มีเลขเครื่อง (Serial number) เลขที่ 35320 จำนวน 1 เครื่อง ได้แจ้งว่าลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งจำนวนที่ถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ซึ่งลูกหนี้ (บริษัท การบินไทย) ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศหลายราย ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อปฏิเสธการผ่อนผันการชำระหนี้ แจ้งการผิดนัด ตลอดจนทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ รวมถึงแสดงเจตนาหักเงินประกันตามสัญญา แต่เนื่องจากศาลฯได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ไว้พิจารณาแล้ว ทำให้หนี้สินทั้งหมดเข้าสู่ 'สภาวะพักการชำระหนี้อัตโนมัติ' (Automatic Stay)
ขณะเดียวกัน คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ระบุด้วยว่า นอกจากหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 10,200 ล้านบาทแล้ว บริษัทฯยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ เช่น ค้าจ้างพนักงานจำนวน 21,265 คน คิดเป็นประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อเดือน (ในสถานการณ์ปกติ จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 2,800 ล้านบาทต่อเดือน)
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินประมาณ 23 ล้านนาท (ในสถานการณ์ปกติ จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 4,400 ล้านบาท) ,ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน ประมาณ 185 ล้านบาท (ในสถานกรณ์ปกติ จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 1,650 ล้านบาท) เป็นต้น
“ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ในสถานกรณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 ล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์ปกติ ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกหนี้จะนำเสนอรายละเอียดต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป” รายละเอียดคำร้องขอฟฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ระบุ
นอกจากนี้ ตามเอกสารคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทยที่ยื่นต่อศาล บริษัทฯได้แจ้งงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ดังนี้
หนี้สินรวม ณ วันที่ 31 มี.ค.63 มีจำนวน 352,494.28 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669.46 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 34,862.59 ล้านบาท เช่น หนี้สินภายใต้สัญญาเช่าเครื่องบิน 7,504.48 ล้านบาท ,หนี้สินตามสัญญาเช่า 11,688.27 ล้านบาท และหุ้นกู้ 10,085 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินมีจำนวน 4,000 ล้านบาท ,เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,000 ล้านบาท ,หนี้สินตราสารอนุพันธ์ระยะสั้น 6,663 ล้านบาท และรายได้ด้านขนส่งที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ 18,093.95 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียนมีจำนวน 247,824.82 ล้านบาท เป็นหนี้สินภายใต้สัญญาเช่าเครื่องบิน 40,293.33 ล้านบาท ,หนี้สินตามสัญญาเช่า 85,761.76 ล้านบาท หุ้นกู้ 64,023 ล้านบาท ,เงินกองทุนบำเหน็จพนักงาน 3,693.21 ล้านบาท ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงาน 16,726.61 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า จากงบดุลของบริษัท การบินไทย พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 ไม่มีการรายงานว่า บริษัทฯมี 'หนี้สินตามสัญญาเช่า' แต่ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 มี.ค.63 บริษัทฯได้รายงานว่ามีหนี้สินตามสัญญาเช่า รวมทั้งสิ้น 97,450.03 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 11,688.27 ล้านบาท และหนี้สินสัญญาตามเช่าที่เป็นหนี้สินระยะยาว จำนวน 85,761.76 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทฯแจ้งว่า ณ วันที่ 31 มี.ค.63 บริษัทฯมีหนี้สินตราสารอนุพันธ์ระยะสั้นและระยะยาว จำนวนรวมทั้งสิ้น 7,555.38 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 ซึ่งบริษัทฯไม่มีการรายงานภาระหนี้สินในส่วนนี้เอาไว้
สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มี.ค.63 มีจำนวน 349,636 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 22,947.38 ล้านบาท ,ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียนอื่น 17,120.20 ล้านบาท ,ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 163,848.32 ล้านบาท ,สินทรัพย์สิทธิการใช้ 83,439.84 ล้านบาท และเงินประกันการบำรุงรักษาเครื่องบิน 15,043.84 ล้านบาท เป็นต้น
จากนี้คงต้องติดตามว่าในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ภายใต้คำสั่งศาลฯหรือไม่ และหากศาลฯมีคำสั่งตามที่บริษัทฯร้องขอ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำรายชื่อ ‘ผู้ทำแผน’ ทั้ง 7 ราย ไปให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ ‘โหวต’ ว่าจะรับหรือไม่รับ
ก่อนจะเริ่มกระบวนการทำแผนฟื้นฟูกิจการฯอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาจัดทำแผนฯประมาณ 3 เดือน หรือแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.ปีนี้
อ่านประกอบ :
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เริ่มแล้วตัดสวัสดิการพนง.! ยกแรกปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ จับตา ‘คลื่นใต้น้ำ’
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน
การบินไทยยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการที่ศาล'สวิส-เยอรมัน-ญี่ปุ่น'ป้องกันถูกยึดทรัพย์
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/