‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.67 ขยายตัว 0.83% หลังราคา ‘ผักสด-ผลไม้-ดีเซล-ค่าไฟฟ้า’ สูงขึ้น ขณะที่เฉลี่ย 10 เดือนแรก โต 0.26% คาดเงินเฟ้อทั้งปี 67 ไม่เกิน 0.5%
............................................
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ต.ค.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ต.ค.2567 เท่ากับ 108.61 ขยายตัว 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้
ประกอบกับการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าจากฐานราคาที่ต่ำในปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน ต.ค.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 1.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มผักสดและผลไม้สด รวมถึงไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า และกะทิสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม และอาหารโทรสั่ง (delivery)
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 0.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือในปีที่แล้วมากกว่าปีนี้ รวมถึงค่าเช่าบ้านและค่าโดยสารเครื่องบินที่มีราคาปรับสูงขึ้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น แก๊สโซฮอล์ ซึ่งปรับตัวลดลงตามราคาพลังงานในตลาดโลก แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ต.ค.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 265 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ผักชี ต้นหอม กะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ขนมหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารเครื่องบิน และน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) เป็นต้น
สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 51 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารเรือ ค่าโดยสารสามล้อเครื่อง ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และนิตยสารรายเดือน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 114 รายการ เช่น ไก่ย่าง ปลาทู ผักคะน้า แตงกวา มะนาว หัวหอมแดง กระเทียม น้ำมันพืช สบู่ถูตัว แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์) เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ต.ค.2567 เท่ากับ 105.18 ขยายตัว 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากเดือน ต.ค.2567 โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
และ 3.สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง 2.ราคาผักสดกลับสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบของปัจจัยชั่วคราวจากอุทกภัยและน้ำท่วมในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และ 3.คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค. ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 เป็น 0.2-0.8% (มีค่ากลาง 0.5%)ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.3-2.8%,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ตัวเลขเงินเฟ้อ ถ้าเทียบกับทุกไตรมาสของปีนี้ จะเป็นไตรมาสที่เงินเฟ้อสูงที่สุด ซึ่ง สนค.คาดการณ์ไว้ที่ 1.12% ส่วนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของปีหน้า ขอเป็นเดือนหน้า เพื่อจะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” นายพูนพงษ์ กล่าวและว่า “ในส่วนตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2567 คาดว่าจะออกมาใกล้เคียงค่ากลาง 0.5% แต่ไม่น่าจะสูงกว่า 0.5%”
อ่านประกอบ :
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ย.67 โต 0.61% หั่นเป้าทั้งปี 0.2-0.8% เผยแจก‘หมื่น’ไม่กระทบราคาสินค้า
ราคา'ผัก-อาหาร'เพิ่มขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.67 ขยายตัว 0.35%-เฉลี่ย 8 เดือนโต 0.15%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.67 ขยายตัว 0.83%-‘พาณิชย์’เชื่อ‘ดิจิทัลวอลเลต’ไม่ทำราคาสินค้าขยับขึ้น
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ